ร่างกฎหมายป.ป.ช.ฉบับใหม่ : ผลประโยชน์ของประเทศชาติ


อยากให้ผู้เกี่ยวข้องได้ไตร่ตรองเรื่องนี้ และเร่งผลักดันให้ได้ใช้กันโดยเร็ว

คิดว่าหลายท่าน.....คงทราบว่าได้มีการยกร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่

ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

หากข้อมูลดังกล่าวยังไม่ถึงท่าน....วันนี้ได้นำสาระสำคัญมาฝาก..คะ

ว่ากันด้วยที่มาของการเสนอปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ

ทุจริต 

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้น ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยมีความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ให้มีความเป็นกลางและอิสระ นอกจากนี้ยังได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ขึ้น

......................................................................................................................................

ซึ่งได้กำหนดภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ 3 ด้าน ได้แก่

.......ด้านการป้องกันการทุจริต

...... ด้านการปราบปรามการทุจริต

......และด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน

.........................................................................................................................................

....แต่ทั้งนี้บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้นแตกต่างไปจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดไว้

  ......ด้วยเหตุผลดังกล่าว

               จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. บางประการโดยเฉพาะการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และการบริหารจัดการองค์กร.......... เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

.....................................................................................................................................

  

สาระสำคัญของร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ 

ปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

......................................................................................................................................

  

          (1) การปรับปรุงบทบัญญัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 

                   1. นิยามเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

                   2. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 

                   3. กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด

........................................................................................................................................

          (2) การปรับปรุงกลไกและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

                   1. ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน

                   2. ด้านการปราบปราม

......................................................................................................................................

          (3) การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

          (4) การบริหารจัดการองค์กร

......................................................................................................................................

(1) การปรับปรุงบทบัญญัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

.......................................................................................................................................

        1. ปรับปรุงนิยาม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

........ กำหนดนิยามเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้อย่างกว้างขวางครอบคลุมผู้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐ ทุกระดับ ทุกประเภท

.......แต่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 250 (3)

         ได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญนี้ คือ

.......................................................................................................................................

                    1.1 ผู้บริหารระดับสูง

                    1.2 ข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกอง (ซึ่งได้แก่ข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการระดับต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา) หรือเทียบเท่าขึ้นไป

                    1.3 เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในระดับที่ต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

                    1.4 เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการ

.......................................................................................................................................

          2. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่ว่าด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

...................................................................................................................................

                    2.1 การสรรหาและการเลือกคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาจำนวนห้าคน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

......................................................................................................................................

                    2.2 แก้ไขเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยเพิ่มคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการในส่วนของผู้เคยรับราชการจากเดิมอธิบดีหรือเทียบเท่าเป็นอธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางบริหารในหน่วยราชการที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดีและเพิ่มคุณสมบัติด้านวิชาชีพให้ผู้เคยเป็นทนายความที่ประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสามสิบปีนับถึงวันได้รับการเสนอชื่อ

..........................................................................................................................................

                    2.3 กำหนดให้มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการ ป.ป.ช. ได้ในกรณีที่มีการกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช. ว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ

......................................................................................................................................

                    2.4 กำหนดเรื่องการดำเนินการในกรณีที่กรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ในกรณีที่มีการเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และศาลมีคำสั่งรับคำร้อง ซึ่งมีผลให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ซึ่งหากกรรมการ ป.ป.ช. ที่เหลืออยู่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดจะร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการ ทำหน้าที่เป็นกรรมการชั่วคราว

.....................................................................................................................................

          3. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด

                   รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด โดยมีคุณสมบัติ กระบวนการสรรหา และอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดตามร่างกฎหมายที่เสนอประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่เกินหกคน ซึ่งรวมแล้วแต่ละจังหวัดจะมีไม่เกินเจ็ดคน และกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนั้นมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจถูกตรวจสอบโดยประชาชนได้ ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้นโดยหลักการยึดถือตามคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. โดยปรับในส่วนของประสบการณ์ในการทำงานให้เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในระดับจังหวัดและคำนึงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน จึงกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้ารับการสรรหาดังนี้

..........................................................................................................................................

                   - ต้องรับหรือเคยรับราชการในระดับไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า หรือ

                   - เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์หรือมีผลงานเป็นที่ยอมรับในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ

                   - เป็นผู้ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองและปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีโดยองค์กรการพัฒนาเอกชนหรือองค์กรวิชาชีพให้การรับรอง

........................................................................................................................................

(2) การปรับปรุงกลไกและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

          การปรับปรุงกลไกและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานนั้น นอกจากการปรับปรุงบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแล้วยังได้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้การตรวจสอบทรัพย์สินมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบได้อย่างจริงจัง รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เกิดความชัดเจน และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

........................................................................................................................................

          ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจเรียกข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องจากสำนักงาน ปปง. หรือสถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมการเงิน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง และความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สิน คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ด้วย

........................................................................................................................................

          สำหรับการไต่สวนข้อเท็จจริงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การขอให้เพิกถอนการกระทำหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นการละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลอื่น และกำหนดให้การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ใช้ระบบไต่สวน

.......................................................................................................................................

(3) การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีสาระสำคัญ 4 ประการ คือ

.......................................................................................................................................

          3.1 การคุ้มครอง โดยบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจจัดให้มาตรการคุ้มครองช่วยเหลือได้แก่ ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ ผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ การร่ำรวยผิดปกติ หรือข้อมูลอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามกฎหมาย ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

......................................................................................................................................

         3.2 การให้รางวัล ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจจัดให้มีรางวัลตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดแก่บุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ได้เป็นผู้กล่าวหา หรือ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริต

.......................................................................................................................................

          3.3 การกันบุคคลเป็นพยาน ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อส่งเสริมการปราบปรามการทุจริตให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหารายใดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหารายอื่นไว้เป็นพยาน

......................................................................................................................................

          3.4 การยกเลิกบทลงโทษผู้ริเริ่มให้มีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนบุคคล

........................................................................................................................................

(4) การบริหารจัดการองค์กร

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน่วยงานธุรการคือสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของการบริหารงานสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้สามารถสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปโดยอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น

.......................................................................................................................................

ประโยชน์ของการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

........................................................................................................................................

          1. ทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

          2. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

          3. ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพ เช่น การเพิกถอนการกระทำความผิดต่างๆ การเรียกค่าเสียหาย รวมถึงการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เป็นต้น

          4. ทำให้กลไกการบริหารงานโดยเฉพาะการให้บริการแก่ประชาชนเกิดความคล่องตัว

          5. ทำให้การบริหารงบประมาณแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง

.....................................................................................................................................



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท