การเดินทางเที่ยวล่าสุด ตอน รอยยิ้มแห่งสยาม


นี้คือสาเหตุหนึ่งที่ผมพาเด็กๆไปดูงานศิลป์เพราะเราจะเห็นพลังในชิ้นงานจากของจริงเท่านั้น ดูผ่านเนท ผ่านหนังสือจะไม่สามารถสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้เลย

บันทึกฉบับนี้เป็นตอนที่สองของการเดินทางเที่ยวล่าสุด ตอนนี้ชื่อว่า รอยยิ้มแห่งสยามที่หอศิลป์ฯกรุงเทพ วันนี้เป็นวันที่ ๒๘ตุลาคม ๒๕๕๑ กลับมาจากเชียงใหม่แล้ว และมีนัดพาเด็กๆ (ลูกและหลาน)ไปดูดิสนีย์โชว์ที่พารากอนตอนกลางคืน รอบนี้เป็นรอบแรกรอบปฐมฤกษ์ ภาษาอังกฤษว่ารอบ ก่าล่า (GALA) ตอนซื้อตั๋วก็ถามคนขายของ ThaiTicket Master ว่ารอบนี้มันเป็นยังไง เค้าก็บอกว่าเป็นรอบปฐมฤกษ์ ต้องแต่งกายให้สุภาพ เราก็ถามเค้าอีกว่าให้สุภาพแค่ไหน เค้าก็ตอบเราไม่ได้ว่าสุภาพแค่ไหน ผมว่าวันหลังไม่ต้องบอกก็ได้ว่าต้องแต่งกายสุภาพ เพราะโดยสถานที่และราคาบัตร คงไม่มีใครใส่กางเกงขาก๋วยหรือชุดนอนเข้าไปดูแน่นอนครับ

ก่อนที่จะพูดถึงหัวข้อรอยยิ้มแห่งสยาม ขอพูดถึงดิสนีย์โชว์นิดหน่อย ก็คือ ไม่ประทับใจกับโชว์ชุดนี้เลยแม้แต่น้อย ไม่คุ้มค่าตั๋วเลย แต่พวกเราก็นั่งผิดที่อยู่ตั้งครึ่งทางของการแสดง เด็กเดินตั๋วเค้าพาพวกเราไปนั่งที่ราคาแพงตอนหน้า แต่พอครึ่งหลังหลังจากเบรก เจ้าของที่นั่งตัวจริงเสียงจริงมาทวงถามที่พวกเราก็เลยต้องไปนั่งที่ของเราจริงๆซึ่งอยู่แถวที่สามนับจากหลังสุดเลย เวรกรรม อันนี้ไม่ใช่ความผิดของผมหน่ะ เด็กเดินตั๋วเค้าเป็นคนพาไปนั่งเอง พวกเราบริสุทธ์ จริงๆๆ

กลับเข้าเรื่องดีกว่า โชว์ดิสนีย์เริ่มตอน ทุ่มครึ่ง ดังนั้นช่วงเย็นผมก็มีเวลาว่าง ก็เลยนัดภรรยาและลูกๆว่า จะพาไปดูนิทรรศการศิลป์ซึ่งผมได้ข้อมูลมาจาก พี่แจ๋ว เพื่อนสมาชิกผู้ร่วมเดินทางไปด้วยกันใน Blog Go to Know นี้เป็นผู้แนะนำ พี่แจ๋วเคยแนะนำให้ไปดูงานแสดงภาพถ่ายของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเป็นงานแสดงงานแรกและเป็นงานเปิดตัวของหอศิลป์ฯกรุงเทพด้วย ประทับใจมากๆเลยครับงานนั้น พอกลับมาบ้านก็เลยบอกลูกๆและภรรยาว่าขึ้นไปเที่ยวตอนปิดเทอมจะพาไปดูงานศิลป์ที่หอศิลป์ฯเพื่อให้เด็กได้ซึมซับกับงานศิลป์และเปิดความคิดมุมมองของตัวเค้าเองขึ้นไปอีก ก็พอดีว่าพี่แจ๋วเข้ามาบอกข่าวเรื่องงาน รอยยิ้มแห่งสยาม ที่จะจัดขึ้นในช่วงที่พวกเราอยู่กรุงเทพพอดีเลย หอศิลป์ฯกรุงเทพอยู่ติดกับสยามดิสคัฟเวอรีตรงข้ามกับมาบุญครอง หาง่ายมากครับ เด็กๆควรใช้เวลาว่างที่ไปเดินห้างฯไปเดินดูงานแบบนี้ดีกว่า ดูฟรี ไม่เสียเงิน ขอบอกwww.ไว้ให้คนที่สนใจเข้าไปดูรายละเอียดหน่อย www.bacc.or.th

พวกเราไปถึงหอศิลป์ฯตอนบ่าย 4 โมง ตอนแรกคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงปรากฏว่างานนี้มีน้องๆนักศึกษาอาสาสมัครมาเป็นไกด์อธิบายด้วย อันนี้ผมต้องขอตบมือด้วยมือจริงไม่ใช่มือตบให้ดังๆกับผู้จัดงานครั้งนี้ด้วยความจริงใจเลยครับเพราะจุดบอดของการดูงานศิลป์สำหรับบุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้อยู่ในแวดวงคือ ส่วนใหญ่จะบอกว่า ดูไม่รู้เรื่อง ตรงนี้แหละคือการแก้ไขปัญหา โอเคว่าอาจจะไม่หมด แต่ก็ทำให้มีการสื่อสารระหว่างศิลปินและผู้ชมเกิดขึ้น น้องๆนักศึกษาที่นำพวกเราดูมาจากคณะสถาปัตย์ทั้ง๒คนแต่คนละสถาบัน เข้าใจว่าทางคณะผู้จัดต้องมีการแนะนำผลงาน ตัวศิลปิน และที่มาที่ไปของชิ้นงานให้น้องๆได้รู้และศึกษาด้วย เพื่อที่จะได้เป็นไกด์บอกเล่าได้ถูกต้อง เด็กก็มีเกมส์ให้เล่น เป็นเกมส์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานนิทรรศการนี้ เป็นการตอบคำถามที่เกี่ยวกับชิ้นงานที่นำมาแสดง ลูกๆผมสนุกมากครับ จากที่เกิดความกังวลในตอนแรกเพราะผมบอกเค้าว่าให้ระมัดระวังด้วย อย่าไปจับหรือวิ่งเล่นในงานเพราะชิ้นงานแต่ละชิ้นมีคุณค่าสูงมาก บางชิ้นก็ตีราคาไม่ได้ แต่พอไปถึงเด็กๆได้เจอพี่ๆอาสาสมัคร ความรู้สึกกังวลตรงนั้นของพวกเค้าหมดไปเลย ผมกับภรรยาก็สนุกไปกับการเดินดูชิ้นงาน มีศิลปินทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศนำงานมาแสดง ศิลปินของไทยที่ดังๆก็มีเช่น อ.เฉลิมชัย , อ.ประเทือง, อ.ถวัลย์ , ท่านอังคารย์ , คุณ วสันต์ สิทธิเขต เวลา 3ชั่วโมงกว่าที่เดินดูเหมือนผ่านไปเร็วมากเลย

ผมชอบรูปของท่านอังคารย์ มากครับ เคยดูในเนทตอนนำภาพมาประมูลใน www.manager  เพื่อหาเงินให้ ASTV แต่พอมาเห็นรูปจริง โอ้โห สุดยอดจริงๆ รูปเขียนสี Crayon ลายเส้น เรียบๆง่ายๆ แต่มีพลังจริงๆ น้องๆอาสาเข้าบอกว่า ในวงการศิลป์ตั้งสมญานามให้ท่านอังคารย์ว่า เทพเครยอน สมดังคำร่ำลือจริงๆ นี้คือสาเหตุหนึ่งที่ผมพาเด็กๆไปดูงานศิลป์เพราะเราจะเห็นพลังในชิ้นงานจากของจริงเท่านั้น ดูผ่านเนท ผ่านหนังสือจะไม่สามารถสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้เลย ผมได้แนบรูปภาพมาให้ดูกันด้วยครับ เป็นภาพที่ถ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือก็แค่พอดูได้ ไม่ได้ตั้งใจจะไปถ่ายรูปเลย แต่น้องๆอาสาสมัครบอกว่าถ่ายได้ก็เลยได้ถ่าย แต่ก็มีบางภาพ บางชิ้นงาน ที่ห้ามถ่าย ซึ่งน้องๆเค้าก็บอกว่าเป็นภาพที่ศิลปินเสียชีวิตไปแล้วและชิ้นงานมีเจ้าของแล้ว ตรงนี้ก็เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธ์ครับ

มีชิ้นหนึ่ง ที่ผมแนบรูปมาให้ดูด้วย เป็นรูปปั้นรูปต่างๆกันแต่มีหน้าเหมือนกันหมด ตรงนี้น้องๆอาสาสมัครบอกว่าเป็นการล้อเลียนนโยบายโอท็อปของรัฐบาลครับ ดังเราจะเห็นว่าหลายชุมชนของบ้านเรามีสินค้าโอท็อปเหมือนๆกันหมด เพราะทุกอย่างมาจากนโยบายนี้ แล้วก็ต้องไปขายแข่งกัน มีช่วงหนึ่งที่ไวน์ฮิต หรือ กระชายดำฮิต ที่ไหนๆก็มีการผลิตไวน์โอท็อป มีไวน์กระชายดำ เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งสินค้าเต็มไปหมด ก็แสบๆคันๆดี ตรงนี้ก็จะย้อนกลับไปในบันทึกฉบับก่อนนี้เรื่องเดินทางไปดอยสุเทพ ที่ผมทิ้งท้ายไว้ว่า หนังสือHow To ทำให้ทุกคนคิดแบบเดียวกัน ทำแบบเดียวกัน จนการปฏิบัติตนเหมือนกันไปหมด เพราะทุกคนอ่านหนังสือ HowTo ที่ขายดีที่สุดเล่มเดียวกัน (ถ้าขายไม่ดีที่สุดก็ไม่มีคนอ่านซิครับเพราะทุกคนก็จะคิดว่า HowToเล่มนั้นไม่สุดยอดพอ)

น้องอาสาสมัครบอกว่าตอน 2ทุ่มจะมีงานแสดงโอเปร่าด้วย ไอผมก็สุดแสนเสียดายที่จะได้ฟังโอเปร่าแบบฟรีๆ แต่เสียดายค่าตั๋วดูโชว์ดิสนีย์ที่ซื้อไปแล้วและนัดลูกๆหลานๆไปดูกัน บัตรลดราคาแล้วยังตั้ง 900 บาท พอไปดูแล้ว ก็ยิ่งเสียดายเงินและเสียดายเวลาที่เราน่าจะดูโอเปร่าฟรีๆที่หอศิลป์ดีกว่า

น้องๆอาสาสมัครยังเล่าให้ฟังว่าทางผู้บริหารหอศิลป์ฯ โดยเฉพาะทางผู้จัดงาน รอยยิ้มแห่งสยาม ตั้งใจจะให้เด็กๆ นักเรียนนักศึกษามาชมดูงานนี้ให้เยอะๆ คณะผู้จัดลงทุนจัดหาอาสาสมัครมาเป็นไกด์ ซึ่งถ้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายก็สูงมากเลยครับ ยังมีมูลค่าของผลงานทั้งหมดอีกที่ไปจัดแสดง ไม่รู้มูลค่าเท่าไร ผมว่าคิดเฉพาะค่าประกันก็ไม่รู้เท่าไรแล้ว นี้คิดในเรื่องธุรกิจเงินๆทองๆหน่ะครับ ถ้าเราคิดถึงเรื่องทางจิตใจ คิดถึงมิติด้านสังคม ยิ่ง เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากๆ ครับ

ผมเป็นห่วงอยู่อย่างเดียวว่าหอศิลป์ฯกรุงเทพฯจะอยู่ได้อย่างไร เวลานี้ใช้งบประมาณจาก กทม. ทั้งหมด ผมอยากจะเห็นบริษัทห้างร้านใหญ่ๆในเมืองไทยเป็นสปอนเซอร์แบบไม่ต้องไปยุ่งเค้าแบบว่าออกแต่เงินเฉยๆ หน่ะ ได้มั๊ยครับ

คำสำคัญ (Tags): #รอยยิ้ม#หอศิลป์
หมายเลขบันทึก: 221781เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2008 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณพูนชัย

ตามมาอ่านบันทึกแล้วนะคะ ช่วงที่ทำงานจะไม่ได้มีเวลาเข้ามาอ่านมาเขียนบล็อกเท่าไร

แต่ตามมาอ่านบันทึกนี้แล้วคงทำให้ใจชื้นขึ้นมาได้ว่า คุณพูนชัยเป็นคุณพ่อที่น่ารักมาก

ที่พาครอบครัวมาเที่ยวหอศิลปฯ เห็นภาพแล้วชื่นใจค่ะ

น้องๆ อาสาสมัครคงดีใจที่ได้ปรากฏตัวที่นี่ด้วย

ในช่วงเริ่มต้นนี้หอศิลปฯ ยังมีความไม่พร้อมในหลายๆ ด้านนะคะ

งานรอยยิ้มสยามจึงเป็นความร่วมมือระหว่าง กทม. และ สศร (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม)ค่ะ เพราะในช่วงเริ่มต้น หอศิลปฯมีบุคลากรน้อยมาก

งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก กทม. ก็เป็นสิ่งใหม่สำหรับราชการ

ในอีกด้านหนึ่งเราก็เป็นความคาดหวังของใครต่อใคร

ทั้งที่พร้อมจะเข้าใจและไม่เข้าใจ

แต่ไม่เข้าใจนั้นมีมากกว่า.....

คำถามตอนท้ายของคุณพูนชัย โดนใจจริงๆ

หอศิลปฯก็หวังว่าภาคธุรกิจเอกชนจะมีผู้ที่มีวิสัยทัศน์บ้าง

แต่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตอนนี้ คือกลุ่มผู้ชมที่น่ารักๆ แบบครอบครัวคุณพูนชัยนี่ล่ะค่ะ

ที่เราต้องการ ไม่แพ้งบประมาณสนับสนุนเลย

ขอบคุณที่มาเยี่ยมชมหอศิลปฯ นะคะ ^__^

สวัสดีครับพี่แจ๋ว

ขอบคุณครับที่แวะเข้ามาทักทาย จริงๆแล้วผมคงต้องขอบคุณทีมงานของหอศิลปฯทุกๆท่านในความตั้งใจทำงานของทุกๆท่านเลยครับที่ทำให้ผมมีสิ่งดีๆให้ดู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท