วิกฤตการณ์การเมือง:3


การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ยิ่งตอกย้ำของความขัดแย้ง

วิกฤตการณ์การเมือง:3

ตอนที่แล้วผมบันทึกไว้ถึงเหตุการณ์คาร์บอมบ์ เราลองมาศึกษาเหตุการณ์ของวิกฤตการณ์การเมืองของไทยเราต่อไปกันเลยในวิกฤตการณ์การเมือง:3

ฝ่ายต่อต้าน/คัดค้าน

ฝ่ายรัฐบาล/สนับสนุน

เหตุการณ์คาร์บอมบ์

เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 เพื่อที่จะมุ่งสังหาร ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ไม่สำเร็จ

ในที่สุดก็มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นนายทหารใหญ่จำนวน 3 จาก 4 นาย ในคดี "คาร์บอมบ์" ลอบสังหารพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ผู้ต้องหาที่กลายเป็นจำเลยประกอบด้วยพ.อ.สุรพล สุประดิษฐ์ หรือเสธ.ตี๋ พ.ท.มนัส สุขประเสริฐ และร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ ทั้งหมดช่วยราชการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)
ผู้ต้องหาอีกรายที่ได้รับการยกเว้นสั่งไม่ฟ้องคือพล.ต.ไพโรจน์ ธีระภาพ
      ส่วนจ.ส.อ.ชาคริต จันทระ หรือจ่ายักษ์ หนึ่งในผู้ต้องหานั้นคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและขอกันตัวไว้เป็นพยาน ซึ่งพนักงานอัยการก็มีความเห็นพ้องกัน

แม้อัยการทหารจะสั่งฟ้องไม่ครบทั้งหมด แต่จาก 3 ใน 4 คน ก็แสดงให้เห็นว่าการทำงานของตำรวจในคดีนี้ มีพยานหลักฐานแน่นหนาอย่างยิ่ง
      เพราะประการหนึ่งนี่เป็นยุคที่ทหารเรืองอำนาจที่สุด
      ประการหนึ่งอัยการที่พิจารณาก็เป็นฝ่ายทหาร
      และพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยตรง ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะมีอิทธิพลกับคดีนี้เลย
      การพิจารณาของอัยการทหารจึงเป็นไปตามพยานหลักฐานจริงๆ แทบจะเรียกได้ว่าไร้ข้อกังขาว่าคดีที่เกิดขึ้นนี้
      
เป็น "คาร์บอมบ์" ไม่ใช่ "คาร์บ๊อง"!??

เหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549

คืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 ในแถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร ได้กล่าวถึงเหตุผลหลักในการทำรัฐประหารไว้ดังนี้

1.การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ

2.การบริหารราชการแผ่นดินอันส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง

3.หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง

4. การหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยบ่อยครั้ง

ภายหลังรัฐประหาร คปค.ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกใน 41 จังหวัด รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ยังคงไว้ 35 จังหวัด

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 102 ก ณ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 มี 39 มาตรา เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากที่ได้กระทำการรัฐประหารเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549

·                               สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

·                               คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ

·                               สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 / สมัชชาแห่งชาติของประเทศไทย ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2550

·                               คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินอดีตคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ผ่านมา

คณะปฏิรูปฯ ออก คปค. ฉบับที่ 27 ให้พรบ.พรรคการเมืองยังมีผลบังคับใช้ กรณีพรรคการเมืองถูกยุบ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี นับแต่วันยุบพรรค

การแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 สภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่จัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีขั้นตอนการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้

·                               คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้ง สมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,000 คน (มาตรา 22)

·                               สมัชชาแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน โดยเลือกให้เสร็จภายใน 7 วัน (มาตรา 22)

·                               คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จาก 200 คน เหลือ 100 คน (มาตรา 22)

·                               ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 25 คน สมัชชา (มาตรา 25)

·                               คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยตรง อีกจำนวน 10 คน (มาตรา 22)

ขั้นตอนการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ถูกต่อต้าน ทั้งจากกลุ่ม นักวิชาการ นักวิชาการที่เคยต่อต้านรัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และ กลุ่มสิทธิมนุษยชนสากล

คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549

คดียุบพรรคการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในคดีกลุ่มที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในคดีกลุ่มที่ 2 ถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยในข้อกล่าวหา เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการไต่สวนพยานครบถ้วนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 ต่อมาตุลาการรัฐธรรมนูญแต่ละคน ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตนออกมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกลางในช่วงบ่ายจนถึงเกือบเที่ยงคืนของวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 เริ่มจากคดีกลุ่มที่ 2 ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุตลอดการอ่านคำวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ สรุปว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ส่วนอีก 4 พรรคมีความผิดจริง จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี

หลังจากที่ตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตัดสินคดีแล้ว ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินและคำวินิจฉัยคดีอย่างกว้างขวาง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 คนได้ศึกษาคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และเสนอบทวิเคราะห์เพื่อแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อคำวินิจฉัย  ประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์กันมาก เช่น:

·                               การตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี อาจจะผิดหลักการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคล นอกจากนี้ คำประกาศของคปค. ฉบับที่ 27 (ที่กำหนดโทษตัดสิทธิ์) ยังละเมิด มาตรา 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอีกด้วย

·                               ความชอบธรรมขององค์กร ทั้งในเรื่องของการจัดตั้ง (มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร) และความเป็นอิสระและเป็นกลางของคณะตุลาการ

·                               ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า "คำตัดสินยุบพรรคคือการรัฐประหารซ้ำ เพื่อตอกย้ำให้ผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน ทวีความมั่นคงขึ้น" 

 โปรดติดตามในตอนที่ 4 ต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 221738เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2008 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คุณ บินหลาดง ครับ อ่านข้อความของคุณแล้วทำให้มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากครับ จะคอยติดตามต่อ ๆ ไปครับ ขอบคุณหลายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท