เมื่อนักเรียนรังแกกัน


"คุณครู" มือปราบ เมื่อนักเรียนรังแกกัน

"คุณครู" มือปราบ เมื่อนักเรียนรังแกกัน

การรังแกกันของเด็กนักเรียนภายในโรงเรียน หลายคนอาจคิดว่าจะต้องเป็นการใช้กำลังด้วยความรุนแรงในการทำร้ายกัน แต่ความเป็นจริงแล้วการรังแกกันของเด็กนักเรียนยังมีอีกหลายรูปแบบที่เด็กแสดงออกมา

เช่น คุณแม่ท่านหนึ่งที่ลูกสาวกำลังเผชิญปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน เพียงเพราะลูกสาวมีความคิดเห็นไม่ตรงกับเพื่อนในกลุ่ม แต่เพื่อนกลับโกรธและพยายามชักชวนเพื่อนคนอื่นๆ ในชั้นเรียนและต่างชั้นเรียน ไม่ให้มาพูดคุย เล่นกับลูกสาว

กรณีนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการรังแกกันที่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนส่วนใหญที่มีความคิดเห็นไม่คล้อยตามหรือแตกต่างจากเพื่อน จะถูกเพื่อนปฏิเสธ ไม่ชอบหน้า เพิกเฉย ไม่เล่นด้วย ปฏิเสธไม่ให้เข้ากลุ่ม ทำให้เด็กรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน หมดกำลังใจ ท้อแท้ และกลายเป็นคนที่ซึมเศร้า ซึ่งหากผู้ปกครองไม่สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ก็คงช่วยเหลือเด็กไม่ได้

การที่จะแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือให้เด็กๆ รอดพ้นจากการถูกรังแกได้อย่างจริงจัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วน ทั้งจากพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะ "ครู" ซึ่งนับเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะทำให้การรังแกกันหมดไปจากโรงเรียน

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียบเรียงแง่คิดจาก No-Name Calling Week Resource Guide 2004 เกี่ยวกับการช่วยเหลือนักเรียนรังแกกันของครู ซึ่งช่วยนักเรียนได้ดังนี้

- ใช้เวลากับนักเรียน เรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ฟังสิ่งที่เขาบอก และหาข้อเท็จจริง (ใคร อะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร)

จากนั้นประเมินความรู้สึกของเด็กต่อการถูกรังแก ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเขาที่ถูกรังแกหรือไม่ หรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว คุณครูต้องทำความเข้าใจด้วยว่าการพูดคุยแบบนี้อาจทำให้นักเรียนลำบากใจ ดังนั้น คุณครูต้องบอกเขาว่าท่านเป็นห่วงเรื่องที่เกิดขึ้นและรับรองกับเขาว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขา

- อย่าเพิ่มความเสียหายมากขึ้น โดยการแสดงการช่วยเหลือเด็กมากเกินไปต่อหน้าคนอื่น เพราะวัยรุ่นจะกังวลเรื่องภาพลักษณ์ของเขาในบรรดากลุ่มเพื่อน ดังนั้น อาจจะเป็นการดีกว่าถ้าคุณครูช่วยเหลือด้วยคำพูดและการกระทำอื่นๆ เป็นการส่วนตัวภายหลัง

- ชมเชยนักเรียนที่เขากล้าพูดคุยเรื่องการรังแกกันกับท่าน บอกให้เขาทราบถึงความสำคัญของข้อมูลต่างๆ ที่เขาให้มาว่า นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองแล้วยังจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนคนอื่นๆ ในโรงเรียนด้วยเช่นกัน

- ให้นักเรียนบอกว่ามีอะไรที่จะทำให้เขารู้สึกปลอดภัยบ้าง เด็กที่ถูกรังแกอาจรู้สึกว่าตนเองไร้อำนาจ หวาดกลัวและหมดทางช่วยเหลือตนเอง ควรให้โอกาสเขาได้พูดหรือแสดงความคิดเห็น และทำตามสิ่งที่เขาขอ ถ้าพอเป็นไปได้ ควรเน้นกับเด็กว่าสิ่งที่ได้พูดคุยกันถือเป็นความลับและแจ้งเด็กว่าท่านจะเปิดเผยเรื่องนี้กับใครบ้างและไม่เปิดเผยกับใครบ้าง หาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ จากผู้ใหญ่หรือนักเรียนคนอื่น เพื่อให้นักเรียนผู้ถูกรังแกรู้สึกว่าเขาไม่ใช่เป็นคนเดียวที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรังแกกันที่เกิดขึ้น เวลาสอบถามนักเรียนผู้รังแกหากเป็นไปได้ห้ามเปิดเผยตัวตนของผู้ถูกรังแก แต่ให้บอกไปแทนว่าท่านได้ทราบถึงเรื่องนี้จากแหล่งต่างๆ รวมถึงจากผู้ใหญ่คนอื่นด้วย

- สื่อสารกับผู้ร่วมงานเกี่ยวกับเหตุการณ์รังแกกันที่เกิดขึ้น เนื่องจากบุคลากรคนอื่นที่เกี่ยว ข้องกับตัวนักเรียนผู้ถูกรังแกนั้นเพื่อจะดูแลช่วยเหลือได้เช่นกัน บอกผู้ร่วมงานให้คอยสังเกต การณ์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการรังแกกันนั้นได้ยุติลงแล้ว และต้องแน่ใจว่าเขาได้สื่อสารความคืบหน้าหรือเหตุการณ์ต่างๆ ให้บุคลากรคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทราบด้วย

- อย่าบังคับให้นักเรียนที่ถูกรังแกมานัดพูดคุยกับนักเรียนที่รังแก เนื่องจากผู้ถูกรังแกอาจอยากอยู่ห่างๆ หรือไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับผู้รังแก เพราะฉะนั้น การนัดพูดคุยกันอาจเป็นการทำให้เด็กบอบช้ำมากขึ้น การบังคับให้ขอโทษกันก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน

- ให้ข้อมูลเด็กผู้ถูกรังแกว่าท่านจะ "ดำเนินการเช่นไรต่อไป" การบอกเด็กเช่นนี้จะทำให้เด็กได้ความรู้สึกที่ปลอดภัยกลับคืนมาและรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้ กระตุ้นให้เด็กมาบอกครูถ้ามีการรังแกกันเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นจากผู้รังแกคนเดิมหรือจากคนอื่นๆ ก็ตาม

- สนับสนุนส่งเสริมให้เด็กหาเพื่อนเพิ่มขึ้น เครื่องมือสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการป้องกันการรังแกกันก็คือ การช่วยให้เด็กมีเพื่อนที่ดีอย่างน้อยหนึ่งคนที่สามารถใช้เวลาด้วยกัน หรือคุยด้วยได้

- ศึกษาดูว่าผู้ปกครองของเด็กมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง เด็กหลายคนมักเก็บเหตุการณ์ที่ถูกรังแกไว้ โดยไม่บอกผู้ปกครอง อธิบายให้เด็กทราบว่าถ้าผู้ปกครองรู้เรื่องด้วย เขาก็จะมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นอีก พูดคุยกับผู้ปกครองเด็กเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

- ส่งปรึกษาต่อผู้เชี่ยวชาญหากเห็นสมควร การถูกรังแกที่รุนแรงและต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบเป็นบาดแผลทางจิตใจได้ ลองประเมินหรือให้ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นประเมินว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด คุยกับครูแนะแนวของโรงเรียนเรื่องการบำบัดหรือการให้คำปรึกษาจากบุคลากรทางสุขภาพจิต ยอมเสี่ยงต่อความผิดพลาดที่จะให้บริการช่วยเหลือมากเกินความจำเป็น มากกว่าที่จะให้น้อยไป

ปัจจุบันนี้การรังแกกันไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติหรือส่วนหนึ่งของการเติบโตที่เด็กๆ ต้องทนอีกต่อไปแล้ว แต่มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำร้ายกันซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางด้านร่างกาย จิตใจและผลการเรียนตามมาสำหรับผู้ถูกรังแกได้

- คุณครูต้องคอยติดตามดูแลนักเรียนที่ถูกรังแก ให้เขารับรู้ได้ว่าท่านเป็นที่พึ่งพาของเขาได้ และท่าน จะ "ตรวจสอบ" หรือสอบถามความคืบหน้ากับเขาในอีกสองสามวันและต่อๆ ไป

การรังแกกันของเด็ก อีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ในสายตาของผู้ใหญ่ แต่หากการรังแกถูกสะสมมาเป็นเวลานาน ผู้ถูกรังแกอาจจะระเบิดอารมณ์ที่กักเก็บเอาไว้ จนเกิดการใช้ความรุนแรงตอบโต้ผู้กระทำจนถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ตามข่าวคราวที่มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้น หากทุกฝ่ายร่วมมือกันช่วยเหลือและป้องกันเรื่องการรังแกกันของเด็กอย่างจริงจัง กรณีเด็กกระทำผิดก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันนี้แน่นอน

สนใจข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเด็กอย่างสร้าง สรรค์ หรือปรึกษาปัญหาพฤติกรรมเด็ก ติดต่อโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-0738, 0-2412-9834 www.thaichildrights.org

ที่มา นสพ.ข่าวสด

หมายเลขบันทึก: 220806เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2008 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สบายดีนะครับคนพลัดทุ่ง
  • เรียนต่อหรือยัง
  • ดูแลสุขภาพด้วยนะช่วงนี้อากาศเปลี่ยแปลบ่อย (ทิฟฟี่)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท