การเกิดคือความทุกข์


เมื่อมียาก ก็มีง่าย แล้วก็ต้องมีสิ่งที่ไม่ยากแล้วก็ไม่ง่าย...?
เมื่อชีวิตต้องการความสุข ความทุกข์ก็ย่อมอยู่ด้วยเสมอ
ความคาดหวังในความสุขนั้นนำทุกข์มาให้
เมื่อใดที่เราคาดหวังเราก็ต้องพร้อมที่จะผิดหวัง

เมื่อใดที่เราคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นยากสิ่งนั้นก็ย่อมนำทุกข์มาให้
แต่เมื่อใดที่เราคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นง่ายสิ่งนั้นก็ยังจักนำความทุกข์มาให้เราอีก

คนเราทุกวันนี้ยุ่งก็เพราะความคิด
คิดดีก็ยุ่ง คิดไม่ดีก็ยิ่งยุ่ง

ลองปล่อยชีวิตให้เป็น "ชีวิต"
เรียนรู้และเฝ้าดูชีวิตตามที่ชีวิตนั้นเป็นไป

คนเราเกิดมาเพื่ออยู่คู่กับความทุกข์ เรียน รู้ทุกข์ อยู่กับทุกข์โดยวางความทุกข์นั้นเสีย
เปรียบเหมือนดั่งทุกข์แห่งร่างกายนี้ เราจะถอดแขน ตัดขาออกแล้วจักให้พ้นจากทุกข์นั้นเลยก็ไม่ได้
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องอยู่กับชีวิต ต้องสู้ต้องเรียนรู้ความทุกข์
ไม่มีวิชาใดยาก ไม่มีการเรียนใดง่าย
พระอรหันต์สาวกเป็นผู้ปฏิบัติดี ท่านวางทุกข์ทางใจได้แล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ละสังสาร ทุกข์แห่งสังขารก็ยังจักต้องเกิดต้องมีอยู่ร่ำไป

ไม่มีผู้ใดที่จะหนีพ้นจากทุกข์ได้หากยังต้องเวียนว่าย ตาย และเกิด
บุคคลใดที่ไม่ต้องเกิดอีกบุคคลนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นพบกับความสุขแท้ คือ พ้นทุกข์ พ้นเสียซึ่งจากการเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อตายแล้ว ละสังขารอันอุดมไปด้วยทุกข์นี้แล้ว บุคคลใดไม่เกิดอีกจึงถือได้ว่าเป็นผู้พ้นทุกข์อย่างแท้จริง...

 

หมายเลขบันทึก: 220073เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2008 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แต่ตราบใดที่ยังไม่ละสังสาร ทุกข์แห่งสังขารก็ยังจักต้องเกิดต้องมีอยู่ร่ำไป

ขอน้อมรับเตือนสติตัวเอง ขอบคุณค่ะ

จะสุขจะทุกข์อยู่ที่ใจ ยากมากสมหวังก็สุขมาก ผิดหวังก็ทุกข์มาก เราจงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ เราทุกข์สุขแบบกลาง ๆ ครับ

- ไม่อยากเกิด ไม่อยากทุกข์

- แต่คงหนี วัฏสงสาร นี้ไม่ได้นะคะ

"อยู่กับทุกข์โดยวางความทุกข์นั้นเสีย"

ประโยคนี้สะกิดใจ

เพราะอยาก + พยายามสู่สภาวะนี้

หรือเพราะอยาก+พยายามยิ่งทุกข์นี่?

กราบเรียนอาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติม ? ไม่ค่อยเข้าใจ ทำอย่างไร เป็นอย่างไร

ฟังเหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ง่ายจริงๆ

ความทุกข์ที่ติดตามมาจากการเกิดนั้น เปรียบได้กับเห็ดที่โผล่ขึ้นมาจากดิน ย่อมมีดินติดตามขึ้นมาด้วย หรือเปรียบดั่งโคหรือควาย ที่จะเดินไปไหนย่อมมีแอกหรือไถติดตามไปด้วย

ขันธ์ทั้งห้านี้แลจึงเป็นตัว

ร่างกายนี้หากยังมีลมหายใจเข้า มีลมหายใจออก ร่างกายนี้อย่างไรก็ยังต้องพบกับความทุกข์

คนทั้งหลายจึงทุกข์ทั้งกาย นำทุกข์ทางกายไปทุกข์ทางใจ

แต่พระอริยเจ้าที่ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านวางได้แล้วซึ่งทุกข์ทางใจ แต่ถึงอย่างไรธาตุขันธ์ที่ท่านดำรงอยู่นี้ก็ย่อมยังนำทุกข์มาให้อยู่นั่นเอง

พระอรหันต์ทุกข์กายแต่ไม่ทุกข์ใจ เพราะท่านนั้นยังจิตกับกายออกกันเสียได้อย่างแท้จริง

เมื่อกายเจ็บ กายป่วย ท่านจักไม่นำความเจ็บ ความป่วยนั้น มาคิด มาปรุง ไม่นำความทุกข์ทางกาย มารวมให้เกิดความทุกข์ทางใจ

การทำได้อย่างนี้ ฝึกฝนปฏิบัติตนตามหนทางแห่งอริยมรรคจนได้บรรลุฝั่งแห่งพระนิพพานไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็มิใช่เรื่องยากหากแม้นเราจักพยายาม

พระพุทธองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ “อริยสัจ” คือความจริงทั้งสี่ประการบอกเหตุถึงการเกิดทุกข์และทางความดับทุกข์ไว้แล้ว ท่านทั้งหลายโปรดพิจารณาความจริงแห่งอริยสัจเถิด

ขอให้ท่านใช้ปัญญาอันมีศีล และสมาธิเป็นฐานพิจารณาอริยสัจให้ลุล่วงแทงตลอดเถิด ท่านทั้งหลายจักพ้นจากความทุกข์แห่งวัฏฏะสงสารนี้ได้แท้จริง

ความอยากน่ะหรือ...

คนถ้ายังไม่ตายก็ต้อง “อยาก” เป็นธรรมดา

อยากได้โน่น อยากมีนี่ แม้กระทั่ง อยากสงบ อยากสุข อยากพ้นทุกข์

แต่นั่นทีเดียว เมื่อเกิดความอยากแล้ว ก็ขอให้ใช้ความอยากนั้นให้มีประโยชน์บังเกิดผล

ขอให้นำความอยากเป็นทุน เป็นเสบียง ประพฤติปฏิบัติตามหนทางแห่ง “ทาน ศีล และภาวนา”

เมื่ออยากให้ทาน ก็พึงให้

เมื่อใดอยากรักษาศีล ก็พึงทำ

เมื่อใดใจน้อมจะภาวนา ก็พึงประพฤติ ปฏิบัติ

ให้ ทำ ประพฤติ และปฏิบัติ โดยใช้หลักแห่งความเสียสละ

ให้ทุกย่างก้าวในการทำทาน รักษาศีล ภาวนา ประพฤติ ปฏิบัติธรรม เป็นการปล่อย เป็นการวาง

ปล่อยและวางภาระทั้งหลายทั้งกายและใจ

ปล่อยให้ได้ซึ่งความ “อยาก” พ้นทุกข์ อยากมีสุข อยากสงบ

ความอยากนี่เป็นศัตรูอันสำคัญสำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม

ความอยากเป็นเพียงแรงส่งให้ก้าวเข้าประตู

เมื่อก้าวพ้นประตู คือ เข้าสู่การประพฤติ ปฏิบัติแล้ว พึงทิ้งความอยากเสีย

พึงปฏิบัติเพื่อความดี เพื่อเสียสละ เพื่อให้ เพื่อปล่อย เพื่อวาง

สุขก็ไม่เอา ทุกข์ก็ไม่เอา สงบก็ไม่เอา อะไร ๆ เราก็ไม่เอา

เขาให้นั่งสมาธิเราก็นั่งไปอย่างนี้แหละ นั่งหายใจเข้า นั่งหายใจออก หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย

เขาให้เดินจงกลม เราก็เดินไปอย่างนี้แหละ ก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวา ก้าวไป ก้าวมา ก้าวเท้าซ้ายสบาย ก้าวเท้าขวาสบาย “ทำใจให้ดี ทำใจให้สบาย”

ใจที่ดีใจที่สบายคือใจที่ไร้ซึ่ง “ความอยาก...!”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท