วิธีสร้างความสำเร็จ


            มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาล้วนต้องเผชิญกับปัญหาและมีปัญหาให้ต้องแก้ไขทุกวันด้วย  จวบจนสิ้นชีวิต  อย่างน้อยก็มีปัญหาว่า วันนี้จะทานอาหารอะไรดี  ดังนั้น  คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตก็คือคนที่แก้ปัญหาเก่ง  ยิ่งประสบความสำเร็จมากก็แสดงว่า มีปัญหามากและแก้ปัญหาได้มากกว่าคนอื่นนั่นเอง  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงกระบวนการแก้ปัญหาไว้อย่างแจ่มชัด  ที่พวกเรารู้จักกันดีในชื่อ อริยสัจ นั่นเอง  แต่ไม่ค่อยได้นำมาใช้กัน  พระพุทธองค์ประสบความสำเร็จด้วยการแจ่มแจ้งเจนจบกิจในอริยสัจ 4 นี่เอง   จึงทรงเรียกสัจจธรรมหมวดนี้ว่า อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ เพราะว่ารู้แล้วดับทุกข์(ปัญหา)ได้  มาดูกันว่า 4 ขั้นตอนนั้นมีอะไรบ้าง

            1. ทุกข์ คือ  ความไม่สบายกายไม่สบายใจ(ปัญหา) มีประการต่าง ๆ  ในทางพระพุทธศาสนา เรียกปัญหาทั้งหลายว่า  ทุกข์  จากความจริงที่ว่า ทุกชีวิตล้วนต้องเจอกับปัญหา ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้   ความจริง (สัจจะ-ความจริง) ข้อแรกจึงต้องเริ่มด้วยทุกข์  คืออย่าหนีปัญหา  และต้องกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างมีสติ  ทำความรู้จักกับปัญหาให้แจ่มชัด (กำหนดรู้) ขั้นแรกเราต้องรู้เสียก่อนว่า  แท้จริงแล้ว  ปัญหาของเราคืออะไร

            อริยสัจ  แปลว่า  ความจริงอันประเสริฐ  คนส่วนใหญ่คงคิดว่า  ความจริงที่ประเสริฐนี้คงจะหอมหวานเป็นแน่  เพราะมันประเสริฐแสดงว่าต้องเป็นของดี (สุข)  แต่ที่ไหนได้ ข้อแรกก็  ทุกข์ มาก่อนเลย   พอได้ยินคำนี้ก็เบ้หน้าไม่เอาแล้ว  หนีกันหมด   พระพุทธองค์ทรงชี้ว่าไม่ถูก  ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องกล้าสู้กับปัญหา  นั่นเป็นของดี  ของประเสริฐ (อริยะ)  นั่นเป็นเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ (สุข) ฉะนั้น  จากนี้ไปต้องตั้งสติให้ดี  มองให้เห็นชัด ๆ ว่า ปัญหาของเราคืออะไรกันแน่    ทำความรู้จักกับมัน  แต่ไม่ใช่เชื้อเชิญมันนะ  พอบอกว่า  ทุกข์เป็นของดี  หลายคนก็จะบอกว่า  เอ้า ! งั้นจงเข้ามาให้หมดเลยทุกข์เอ๋ยฉันพร้อมแล้ว  หรือที่แย่กว่านั้น คือสร้างทุกข์ให้ตนเองซะเลย (เหมือนผู้ปฏิบัติธรรมบางพวกยินดีในการสร้างทุกข์ ให้ตัวเองและยินดีในการอยู่กับมัน  อยู่กับความยากลำบากในชีวิตอย่างภาคภูมิใจ  เพราะคิดว่า นั่นเป็นการกระทำอันประเสริฐเป็นทางเข้าถึงอริยสัจ   หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการทำตรงกันข้ามกับที่พระพุทธเจ้าสอนต่างหาก)  ก็ไม่ใช่อีก  ไม่ใช่ทั้งหนีทุกข์หรือสร้างทุกข์ 

กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่า  ทุกข์มันมีอยู่แล้ว  มีกันทุกคน และทุกที่ทุกเวลาด้วย  ไม่ต้องไปแสวงหา  ถ้าแสวงหาหรือยินดีพอใจกับมัน(อัตตกิลมถานุโยค-การทำตนให้ลำบาก) ก็ไม่หมดทุกข์เสียที  เพียงแต่ให้รู้ให้ชัดเท่านั้นเองว่าทุกข์ของตัวเองคืออะไรกันแน่  ทุกข์อะไรที่ตรงไหนกันแน่  แล้วจะได้ดำเนินไปสู่ข้อที่ 2 ของอริยสัจต่อไป

            ข้อที่ 2  สมุทัย  คือ เหตุให้ทุกข์เกิด  ในทางธรรมนั้น  หมายเอาตัณหา คือความทะยานอยาก  3  อย่าง  ได้แก่ ความอยากในสิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ  ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่  และความไม่อยากเป็นแบบนี้แบบนั้น  เหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

            กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ สมุทัยก็คือสาเหตุของปัญหา(ทุกข์)นั่นเอง  เมื่อเรารู้ชัดเจนแล้วว่า  ปัญหาของเราคืออะไร (ข้อ 1)  เราก็ต้องหาสาเหตุของมันให้เจอเพื่อขจัดเสีย  ก็ดับทุกข์(ปัญหา)ได้  เรียกว่าแก้กันที่ต้นเหตุเลยทีเดียว  ถ้าไปแก้ที่ตัวทุกข์(ปัญหา)ละก็เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ  ต้องวิ่งวุ่นแก้อยู่ร่ำไปไม่รู้จักจบสิ้น  เพราะไม่ได้แก้ที่เหตุ   แต่แก้ที่ตัวผล   ซึ่งถือเป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุด  เพราะ  2  ข้อนี้โยงถึงกัน  ข้อที่ 1 เป็นผล  ส่วนข้อที่ 2  เป็นเหตุ  เราเห็นผลมันก่อนแล้วจึงสาวหาเหตุ  เพราะเราเกิดขึ้นมาแล้ว  ทุกข์แล้วและทุกข์อยู่  จึงต้องตั้งสติ  อย่าหนีโลก  อย่าหนีปัญหา  เผชิญหน้าอย่างมีสติ  รู้จักปัญหาด้วยปัญญาแล้วจะสาวหาต้นตอของปัญหาได้ถูกต้อง  และแก้ที่ตรงนั้น  จึงจะดับปัญหาได้สิ้นเชิง   เหมือนมีน้ำรั่วจากสายยางหลายจุดท่วมทั่วบ้านไปหมด  

            ถ้าเร่งอุดเฉพาะที่รูรั่วแต่ละจุด  เดี๋ยวน้ำก็ดันหลุดรั่วออกมาอีก  แล้วต้องวิ่งวนไป  อุดที่จุดโน้นจุดนี้จุดนั้นไม่รู้จักจบกันพอดี  ต้องแก้ที่เหตุคือไปปิดก๊อกน้ำก็สิ้นเรื่อง  แล้วค่อยอุดรูที่สายยางให้ดี ๆ หรือเปลี่ยนสายใหม่ก็ได้ตามความเหมาะสม   นี่เป็นการแก้ปัญหาอย่างถูกจุดชนิดเกาถูกที่คัน ถ้าไม่หาต้นเหตุให้พบจริง ๆ ก่อน แล้วเร่งลงมือแก้ปัญหานั้นตามแต่จะคิดไป จะกลับกลายเป็นเพิ่มปัญหา คือปัญหาเก่าไม่ได้แก้ไขและมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีกด้วย 

เหมือนสังคมไทยปัจจุบันมีปัญหาเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน

ก็เพราะหวังดีไม่ถูกที่ถูกเวลาแก้ปัญหาไม่ตรงจุดนี่ละ 

ก็เลยมีปัญหามหาศาลเท่า ๆ กับจำนวนคนที่แก้ปัญหานั่นแล

 

 

ตารางเปรียบเทียบกระบวนการแก้ปัญหา

แบบพุทธ (อริยสัจ 4)

แบบวิทยาศาสตร์

ทุกข์-ปัญหาที่ประสบอยู่ (ผล)

1. สังเกตและกำหนดปัญหา

สมุทัย-สืบสาวหาสาเหตุของปัญหา (เหตุ)

2. ตั้งสมมติฐาน

นิโรธ- ความดับทุกข์หรือเป้าหมาย (ผล)

4. วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล

มรรค-วิธีปฏิบัติให้ถึงเป้าหมายนั้น (เหตุ)

3. ทำการทดลอง และรวบรวมข้อมูล

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ตีพิมพ์ในนิตยาสาร  การศึกษาอัพเกรด  ฉบับที่ 041  ประจำวันพฤหัสบดี ที่  2 – 9  สิงหาคม  2550

หมายเลขบันทึก: 219955เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2008 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 00:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท