ศูนย์ข้อมูลชุมชนท้องถิ่น(1)


ข้อมูลชุมชนท้องถิ่น,การจัดการข้อมูล

ศูนย์ข้อมูลชุมชนท้องถิ่น

 

 

 

หลักการและความสำคัญ

                ข้อมูล คือ อำนาจ เป็นคำพูดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะว่าในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน ที่ต้องแข่งขันกันในทุกระดับตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ระดับปัจเจกชนไปถึงสังคมใหญ่ระดับประเทศ หรือระดับโลก ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เป็นผู้ชนะในภาวะที่มีการแข่งขันได้นั้นคือ ข้อมูลข่าวสาร (Data Information) หรือ ความรู้ (Wisdom) ใครมีข้อมูลข่าวสาร หรือ ความรู้ มากก็มีโอกาสประสบความสำเร็จมาก จากบทเรียนที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดกระบวนการในการจัดการข้อมูลในหลายระดับ หลายรูปแบบ โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ  และการเมืองที่มีการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลของตนเองอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการจัดการข้อมูลในระดับชุมชนกลับพบปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการจัดระบบข้อมูล

แต่มีหลายชุมชนได้พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลของตนเอง ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่างๆตามความสามารถและความต้องการ โดยเฉพาะขบวนแผนแม่บทชุมชน 4 ภาค   ได้ทำการจัดทำแผนแม่บทชุมชนจำนวน 1,431 ตำบล ซึ่งในการดำเนินงานได้มีการพัฒนาโปรแกรมแผนแม่บทชุมชน เพื่อใช้ในการบันทึกข้อมูลครัวเรือน และข้อมูลชุมชนให้กับตำบลเหล่านั้นด้วย โดยศูนย์ข้อมูล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้สนับสนุนวิทยากรไปทำการฝึกอบรมให้พื้นที่ดำเนินงานในหลายพื้นที่ และพบว่าชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการข้อมูลของตนเองได้

                ศูนย์ข้อมูลซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบข้อมูลของชุมชนว่าเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญต่อการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  โดยได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง แนวทางการพัฒนาศูนย์ข้อมูลชุมชนท้องถิ่น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548  ณ โรงแรม ดีลักซ์ เพลส  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น/ชุมชน  จากผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน นักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการและผู้แทนจากหน่วยงานภาคต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลชุมชนรวมทั้งสิ้นประมาณ 50 คน

ปัญหาและจุดอ่อนการจัดการข้อมูลของชุมชนที่ผ่านมา

1. การรวบรวมข้อมูลชมชนที่ผ่านมาเป็นการจัดการรวบรวมโดยหน่วยงานภายนอก เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานนั้น ๆ ชาวบ้านหรือองค์กรชุมชนไม่มีส่วนร่วม ไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดและไม่ทราบผล/ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่รวบรวมไปแล้ว ชุมชนมีหน้าที่แค่การให้ข้อมูลเท่านั้น

2. กระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลทำกันไม่ถูกต้อง มีการเขียนข้อมูลเองโดยคนที่รวบรวม ทำให้ข้อมูลผิดพลาด ไม่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

3. มีการนำข้อมูลของชุมชนไปใช้เพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคล เช่นการเขียนโครงการเสนอขอทุนโดยที่ชุมชนไม่รับรู้

4. การรวบรวมข้อมูลไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเพราะไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดและชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการทำงาน ชาวบ้านเกรงว่าจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำงาน การจ่ายภาษีหรือการแทรกแซงอื่น ๆ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องสนับสนุนทำงาน

5. หน่วยงานในท้องถิ่นเช่น อบต. ไม่มีข้อมูลชุมชนที่ถูกต้อง ทันสมัยในการวางแผนพัฒนาต่าง ๆ ทำให้ชุมชนเสียประโยชน์

6. ชุมชนไม่มีข้อมูลในการวางแผนการพัฒนาของตนเอง การจัดทำโครงการต่าง ๆ มักมาจากความคิด ความรู้สึกมากกว่าข้อมูลที่มาจากการสำรวจ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด

7. หน่วยงานต่าง ๆ ต่างเก็บข้อมูล ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ไม่ประสานงานกัน เป็นภาระของชุมชน

8. ชุมชนไม่มีศูนย์กลางที่จะรวบรวมข้อมูลของตนเองเสนอต่อภายนอก

 

เป้าหมายของการมีศูนย์ข้อมูล

จากเหตุผลเหล่านี้ หลายชุมชนได้เริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากความพยายามของชุมชนที่จะลุกขึ้นมาพัฒนากระบวนการจัดทำข้อมูลของตนเองคือ แผนแม่บทชุมชน ซึ่งใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักนำไปสู่การวางแผนอื่นๆ เป้าหมายของการมีศูนย์ข้อมูล คือ

1.        เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนทางด้านต่างๆเป็นศูนย์เรียนรู้ตลอดชีพของคนในชุมชน

2.        เพื่อสืบค้นเรื่องราวที่ชุมชนอยากรู้ ควรรู้และต้องรู้และเผยแพร่ข้อมูล ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาสู่ภายนอก

3.        เพื่อใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนการพัฒนาชุมชน

4.        เพื่อค้นหาและสั่งสมวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนร่วมกัน

5.        เพื่อให้ชุมชนรู้จักตนเอง รู้จักชุมชนและรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอกที่มีผลกระทบกับชุมชน

แนวคิด ทฤษฎี วิธีคิดทั่วไปเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น

1.        ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นหรือการจัดการระบบข้อมูลของชุมชนเป็นการเพิ่มอำนาจในการจัดการตนเองของ

2.        ชุมชนลำดับขั้นและความสัมพันธ์ของระบบข้อมูลคือ การรวบรวมข้อมูล (data) จำนวนมากมาประมวลเป็นสารสนเทศ (information) สารสนเทศจำนวนมาก สามารถประมวลเป็นความรู้ (knowledge) และความรู้จำนวนมากสามารถประมวล กลั่นกรองเป็นภูมิปัญญา (wisdom) ถ้าข้อมูลผิดพลาดตั้งแต่ต้น การประมวลขึ้นมาเป็นลำดับจนถึงภูมิปัญญาก็จะผิดพลาดไปด้วย

3.        ศูนย์ข้อมูลหรือการจัดระบบข้อมูลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนไปสู่ความยั่งยืน ระบบข้อมูลจึงเป็นส่วนหนึ่งของขบวน/กระบวนการพัฒนาทั้งหมด รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของก่านฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น

กระบวนการและทรัพยากรที่จำเป็น

1.        ศูนย์ข้อมูลต้องการวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ต้องการการบริหารจัดการที่ดี ต้องการการมีส่วนร่วมของคนและองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนและต้องการการสนับสนุนจากภาคีต่าง ๆ

2.        มีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์ข้อมูลชุมชนต่าง ๆ เพื่อประสานงานและช่วยเหลือกัน

3.        ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเผยแพร่ต้องพิจารณาความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อชุมชน

4.        ควรมีการบูรณาการข้อมูลของชุมชนกับของหน่วยงานต่าง ๆ

5.        หน่วยงานที่จะสนับสนุนมีหลายหน่วยงาน เช่น กศน. กรมการพัฒนาชุมชน สาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร โรงเรียน อบต. สถาบันราชภัฎ  องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ หน่วยงานต่าง ๆ ต้องมา "ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยบริหารและช่วยใช้

6.        ศูนย์ข้อมูลควรมีข้อมูลลึกระดับครัวเรือน

7.        มีข้อมูลทั้งข้อมูลชุมชนและข้อมูลความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่าง ๆ ข้อมูลชุมชนต้องเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ

8.        มีคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนงานและมีบุคคล องค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษา

9.        กระบวนการจัดทำข้อมูลชุมชนที่บ้านบ่อลูกรัง อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้วคือเตรียมคน เตรียมความคิด เตรียมเครื่องมือ พัฒนานักจัดการความรู้ร่วมกับนักวิชาการท้องถิ่น ปฏิบัติการในชุมชน ทบทวน สรุปบทเรียน ถ่ายทอดขยายผล ร่วมมือกับเครือข่ายและพันธมิตร

10.     ข้อมูลที่ควรมีในศูนย์ข้อมูลคือ ข้อมูลทั่วไป เช่น ประวัติชุมชน สภาพทางกายภาพ ประชากร พื้นที่ ฯลฯ ข้อมูลกลุ่มและองค์กรชุมชน ซึ่งอาจจะแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ข้อมูลผู้รู้และภูมิปัญญาของชุมชน ข้อมูลองค์ความรู้ที่สามารถนำไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนข้อมูลโครงการ/กิจกรรมการพัฒนาในชุมชน

11.     ควรพัฒนากองทุนสนับสนุนอาสาสมัครที่มาทำงานในศูนย์ข้อมูลและพัฒนาบุคลากรของชุมชนให้มาทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

12.     จัดวางกติการ่วมในการใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูล เพื่อให้ทุกกลุ่มสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

หมายเลขบันทึก: 219804เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท