ที่มาของคำไทย สุภาษิตไทยและ ชื่อต่าง ๆ และ อีกมากมาย 1


รู้ไว้ใช่ว่า

ทำไมต้อง”ชักแม่น้ำทั้งห้า” ?

       แม่น้ำทั้งห้าในสำนวน หมายถึงแม่น้ำห้าสายในตำนานตามความเชื่อของชาวอินเดีย ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูและมหิ สำนวนนี้มีที่มาจากมหาเวสสันดรชาดก เมื่อชูชกจะกล่าวขอสองกุมารต่อพระเวสสันดร ไม่ทูลขอตรงๆ แต่นำแม่น้ำทั้งห้ามาเปรียบว่าไหลแผ่สาขาเป็นประโยชน์แก่ฝูงชนอย่างไร ก็เหมือนน้ำพระทัยของ พระเวสสันดรอย่างนั้น สำนวนนี้หมายความว่า ใครจะพูดขอร้องอะไรก็ตาม ไม่พูดจาตรงๆตามจุดประสงค์
แต่พูดเรื่องอื่นๆหว่านล้อมเสียก่อน จึงเข้าหาจุดประสงค์

ทำไมหิ่งห้อยจึงมีแสงสว่างในตัวเอง ?

      ทำไมหิ่งห้อยจึงมีแสงสว่างในตัวเองแสงสว่างในตัวหิ่งห้อยนั้นเกิดจาก สารลูซิเฟอริน (Luciferin) ไปรวมกับออกซิเจนในอากาศ โดยมีสารอีกตัวหนึ่งคือ ลูซิเฟอเรส (Luciferase) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้ ได้มาจากตัวหิ่งห้อยโดยตรง แสงที่เกิดจากหิ่งห้อยจะเป็นแสงที่ปราศจากความร้อน ซึ่งเราสามารถจับดูได้ และปริมาณแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็นับว่าน้อยมาก เพียงหนึ่งในพันของแสงจากแสงเทียนไขธรรมดาแสงของหิ่งห้อยจะมีลักษณะวับวาบ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแสงสว่างจะขึ้นอยู่กับจังหวะการหายใจ จังหวะหายใจเข้าแสงจะติด และจังหวะหายใจออกแสงจะดับ เป็นอยู่อย่างนี้ตลอด หิ้งห้อยจะใช้แสงของมันในการล่อเพศตรงข้าม และบางครั้งก็ใช้ล่อเหยื่อของมัน

ทำไมไส้เดือนจึงขึ้นมาบนดินเมื่อฝนตก ?

       ทำไมไส้เดือนจึงขึ้นมาบนดินเมื่อฝนตกไส้เดือน ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ภายในดิน เพราะจะได้ทั้งอาหาร และที่อยู่อาศัย ที่บังร่างกายจากแสงแดดและไส้เดือนจะช่วยทำให้ดินร่วนซุยจากการขุดรูของมัน สำหรับโพรงของไส้ดินจะไขว้กันไปมาที่ดินชั้นบนซึ่งคอยรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสม การขุดโพรงดินของไส้เดือนมักจะใช้วิธีการผลักดินไปไว้ข้างๆ หรือไม่ก็กินดินเข้าไปเลยในดินนั้นจะมีอากาศที่เพียงพอสำหรับการหายใจของตัวมัน แต่เมื่อผนตกหนัก น้ำก็จะไปท่วมโพรงของมันมันจึงต้องขึ้นมาที่ผิวดินเพื่อรับอากาศ


ทำไมเวลายุงบินจึงมีเสียงดัง ?

       ทำไมเวลายุงบินจึงมีเสียงดังเสียงแมลงที่บินเกิดจากการกระพือปีกด้วยอัตราความเร็วสูง จากการสำรวจพบว่า ปีกของผึ้งจะกระพือปีกด้วยอัตราเร็วประมาณ 200 ครั้ง/วินาที ส่วนยุงกระพือปีกได้เร็วประมาณ 300 ครั้ง/วินาที การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคลื่นเสียงในอากาศ จึงเป็นที่มาของเสียง "หึ่งๆ" นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า แมลงอาจใช้วิธีที่เรียกว่า "การได้จังหวะ" เพื่อให้ปีกของมันเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว อธิบายโดยการหยิบยกกรณีการแกว่งของลูกตุ้ม ซึ่งถ้าแขวนอยู่มันก็จะแกว่งแบบอิสระ ถ้าเราเอามือไปผลักเบาๆ มันก็จะแกว่งในอัตราธรรมชาติ และได้ตามจังหวะของมัน เราไม่จำเป็นต้องออกแรงผลักทุกครั้งที่แกว่ง แต่สามารถเลือกผลักตามจังหวะ แกว่งเมื่อใดก็ได้ เช่น แกว่ง 3 ครั้ง จึงผลักหรือแกว่ง 5 ครั้งจึงผลัก อย่างนี้เป็นต้น แต่ลูกตุ้มนั้นก็จะยังคงแกว่งด้วยอัตราจังหวะหรือความถี่เดียวกัน หากเราผลักได้เวลาเหมาะสมกับการเคลื่อนไหวไปและกลับของลูกตุ้ม ในทำนองเดียวกัน ยุงก็จะกระพือปีกด้วยวิธีการเดียวกันนี้ ปีกแต่ละข้างของมันจะมีข้อต่อกับทรวงอกหรือ ตอนกลางของตัวแมลง การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในอัตราที่ค่อนข้างช้า จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนด้วย อัตราธรรมชาติที่สูง จึงทำให้เกิดเสียงค่อนข้างสูงอย่างที่เราได้ยิน

 



ทำไมแมงมุมจึงไม่ติดใยของมัน ?

       ทำไมแมงมุมจึงไม่ติดใยของมันใยแมงมุมนั้นเป็นกับดักอย่างดี ที่จะคอยดักพวกแมลงต่างๆ ที่หลงมาติดใยอันเหนียวแน่น แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าแมงมุมไม่เคยติดใยของตัวมันเองเลย ขั้นตอนการชักใยอันชาญฉลาดของแมงมุนนั้น มันจะชักใยแห้งไม่เหนียวทำรังของมันก่อน และเมื่อรังใกล้ เสร็จมันก็จะชักใยทักอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มันจะใช้ใยเหนียวที่สามารถดักแมลง และมันจะเว้นพื้นที่บางส่วนไว้ สำหรับการเคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้แมงมุมที่ทำการชักใยจะเป็นเพศเมียนอกจากนี้แมงมุมยัสามารถรู้ด้วยว่า มีเหยื่อมาติดใยของมันหรือยัง โดยก่อนที่มันจะจากไปหลังจากสร้างใยเสร็จแล้ว มันจะปั่นเส้นใยขึ้นมาเส้นหนึ่สำหรับไว้เป็นเครื่องมือสื่อสารเชื่อมต่อระหว่างตัวมันกับรังของมันดังนั้นเมื่อมีเหยื่อมาติดกับเส้นใยเข้า แมงมุมก็จะรู้ได้จากการสั่นสะเทือนของเส้นใยที่มันโยงมา จากนั้นมันจะรีบกลับมาเพื่อจับเหยื่อไว้ด้วยเส้นใย และทำการฉีดพิษเข้าสู่ตัวเหยื่อจนแน่ใจว่าเหยื่อแน่นิ่งแล้ว มันก็จะดูดเลือดเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอย่างสบายๆ

 

 

ที่มาของหลักกิโลเมตรหลักกิโลเมตร

       ที่มาของหลักกิโลเมตรหลักกิโลเมตรคือที่เราเห็นตามข้างถนน เป็นปูนสีขาว มีชื่อจังหวัดและระยะทาง มีไว้เพื่อบอกระยะทางจากสถานที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง หลักกิโลเมตรในเมืองไทยน่าจะกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับการกำเนิดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธินเมื่อ พ.ศ. 2481 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกำหนดให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมทางหลวงประโยชน์ของหลักกิโลเมตรนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ถนนทั่วไป และอีกส่วนหนึ่งคือเป็นประโยชน์ต่อกรมทางหลวง โดยจะเป็นตัวกำหนดค่าบำรุงรักษาเส้นทางโดยยึดรหัสที่ปรากฎบนหลักกิโลว่าสัมพันธักับรหัของแขวงจังหวัดใด จังหวัดนั้นก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และยังเป็นประโยชน์ในการเวนคืนที่ดินอีกด้วย ซึ่งหลักฐานของโฉนดที่ดินจะต้องมีความสัมพันธ์กับหลักฐานในแขวงจังหวัดโดยยึดหลักกิโลเมตรเป็นสำคัญ
       หลักกิโลเมตร 1 หลักจะประกอบไปด้วยตัวเลขบอกระยะทาง 3 ด้าน คือด้านหน้า ด้านซ้าย ด้านขวา ในส่วนของด้านหน้านั้นจะมีสัญลักษณ์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบปรากฎอยู่ด้วย ถ้าเป็นของกรมทางหลวงจะใช้สัญลักษณ์ตราครุฑ พบได้ตามเส้นทางที่เชื่อมระหว่างภูมิภาค จังหวัด และอำเภอสำคัญๆ ของประเทศและถ้าเป็นเส้นทางในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการจะปรากฎเป็นรูปเทวดา 3 องค์ ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่แยกจากทางหลวงแผ่นดินไปตามหมู่บ้าน ไม่เกิน 10 กิโลเมตร หลักกิโลเมตรแต่ละหลักมีต้นทุนในการก่อสร้างประมาณ 1,500-1,600 บาท แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับการขนส่งวัสดุ หิน ปูน ทราย ว่าระยะทางขนส่งใกล้-ไกลแค่ไหนและจะวางไว้ทุกๆ 1 กิโลเมตรตลอดเส้นทาง

 

ที่มาของพจนานุกรม

       คำว่าพจนานุกรมเป็นการคิดคำขึ้น จาก พจนะ (คำพูด) และ อนุกรม (ลำดับ ระเบียบ ชั้น) รวมกันด้วยวิธีสมาส เป็น “พจนานุกรม” หมายถึง หนังสือที่รวบรวมและเรียงลำดับคำ (พูด) เอาไว้ อย่างไรก็ตาม คำว่า “พจนานุกรม” เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อแปลศัพท์ dictionary ในภาษาอังกฤษนั่นเองและสำหรับคำว่า dictionary ก็มาจากภาษาละตินในยุคนีโอคลาสสิก diccio ที่มีความหมายง่ายๆ ว่า “คำ”
ทั้งนี้ 1 ใน พจนานุกรมเล่มแรกสุดที่เป็นที่รู้จักและยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบันในรูปแบบย่อนั้น เขียนขึ้นด้วยภาษาละตินในรัชสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส ในชื่อว่า De Significatu Verborum ซึ่งแปลว่าความหมายของคำ โดยเวอร์ริอุส ฟลักคุส ได้รวบรวมเอาคำต่างๆ ที่ยากและโบราณ ซึ่งมักจะพบได้ในคำที่กวีโรมันตอนต้นใช้ในการพรรณนามาไว้ด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น พจนานุกรมฉบับนี้ยังถูกนำมาย่ออีก 2 ครั้งในหลายศตวรรษต่อมา ครั้งแรกโดยเซกส์ตุส ปอมเปอุส เฟสตุส และอีกครั้งโดยพอล เดอะ ดีคอน
       ขณะที่ พจนานุกรมภาษาจีนฉบับแรกคือ เดอะ เออร์ยา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล เป็นหนังสือที่จัดระเบียบตัวอักษรของจีนโดยกลุ่มความหมายของคำ โดยความตั้งใจของพจนานุกรมฉบับนี้ก็เพื่อที่จะอธิบายความหมายที่แท้จริง และแปลความหมายของคำในบริบทของตัวหนังสือยุคโบราณ
       สำหรับพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่แท้จริงเล่มแรกก็คือ ฉบับโรเบิร์ต คอว์เดรย์ส เทเบิล อัลฟาเบตติคอล ในปี 1604 แม้ว่ามันจะบรรจุคำและความหมายของคำไว้เพียง 3,000 คำ ซึ่งมีมากกว่าคำเหมือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม ส่วนพจนานุกรมฉบับแรกที่กินความกว้างที่สุดคือ ฉบับโธมัส เบลาท์ ในปี 1656 ตามมาด้วยฉบับของซามูเอล จอห์นสัน ที่โด่งดังและสมบูรณ์มากกว่า ในปี 1755
       อย่างไรก็ดี พจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ถือได้ว่าสมบูรณ์ที่สุดคือ พจนานุกรมของออกซ์ฟอร์ด โดยฉบับเริ่มแรกนั้นน่าจะเริ่มทำกันตั้งแต่ปี 1860 และมาสิ้นสุดสมบูรณ์ในปี 1928
       ส่วนหนังสือที่รวบรวมคำในภาษาไทยพร้อมอธิบายความหมายฉบับแรกคือ ปทานุกรม พ.ศ.2470 แต่เนื่องจากยังมีข้อบกพร่องอยู่มากจึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อชำระปรับปรุง และต่อมาได้สถาปนาเป็นราชบัณฑิตยสถาน จึงเปลี่ยนชื่อจากปทานุกรมมาเป็นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดยออกพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับแรกใน พ.ศ.2493 โดยกระทรวงธรรมการจัดทำขึ้นเพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานเดียวกัน

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2549

ที่มารำวงมาตรฐาน

 

รำวงมาตรฐานเป็นการแสดงรำวงที่มาจากการรำโทน ซึ่งเป็นรำวงพื้นบ้านของไทยที่นิยม เล่นกันในเทศกาลต่างๆ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484 ถึง พ.ศ. 2488 ต้องการปลอบขวัญกำลังใจประชาชนจากความหวาดกลัวภัย ของสงคราม และเชิดชูศิลปะการแสดง รักษาแบบแผนนาฏศิลป์ไทย จึงมอบหมายให้กรมศิลปากร ปรับปรุงการรำโทนขึ้น ในปี พ.ศ. 2487 โดยมีการแต่งเนื้อเพลงเพิ่มเติมขึ้น 4 เพลง ได้แก่ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลงรำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย และให้ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม แต่งเพิ่มอีก 6 เพลง ได้แก่ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงบูชา นักรบ เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ

สำหรับเพลงดอกไม้ของชาติและเพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ มีผู้ร่วมกันในการปรับปรุงทั้ง 2 เพลงนี้ ได้แก่ หมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง นายมนตรี ตราโมท เป็นผู้ปรับทำนองเพลง หม่อมต่วน (ครูศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก) ครูมัลลี คงประภัทร์ และครูลมุล ยมะคุปต์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ การปรับปรุงรำโทนนั้น นอกจากจะมีการปรับปรุงทำนองเพลงและใช้เครื่องดนตรีบรรเลง ประกอบการขับร้องแล้ว ยังมีการปรับท่ารำวงให้งดงามถูกต้องตามแบบนาฏศิลป์ไทยอีกด้วย โดยนำ แม่ท่าในท่ารำแม่บทมากำหนดไว้เป็นแบบฉบับท่ารำมาตรฐาน และเปลี่ยนชื่อเรียกจากรำโทน เป็น รำวง ต่อมากรมศิลปากรได้เรียกการรำวงที่มีแบบแผนเดียวกันว่า รำวงมาตรฐาน

แหล่งที่มาของข้อมูล สุมิตร เทพวงษ์. นาฏศิลป์ไทย. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์, 2541

 




ที่มาตุ๊กตาไล่ฝนของญี่ปุ่น

 

       จะว่าไป ตุ๊กตาไล่ฝนไม่ใช่เรื่องใหม่ หากใครที่เคยดูเณรน้อยอิคคิวซัง ก็ย่อมต้องคุ้นเคยกับ ตุ๊กตาหัวกลม ๆ เหมือนลูกปิงปองห่อด้วยผ้าสีขาว เขียนหน้าเขียนตาซะหน่อย ก็ดูน่ารักน่าชังไปอีกแบบ ส่วนมากเราจะเห็นเขาเอามาแขวนไว้กลางแจ้ง เมื่อวันนั้นผ่านมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงคิดอยากหาความรู้เรื่องตุ๊กตาไล่ฝนมาเป็นความรู้ซะหน่อย
       ตุ๊กตาไล่ฝน หรือ เทะรุเทะรุโบโซะ (
照る照る坊主) เป็นตุ๊กตาขนาดเล็กที่ชาวญี่ปุ่นนิยมแขวนไว้ที่หน้าบ้าน ในเวลาที่ต้องการให้อากาศแจ่มใส เพราะเชื่อว่ามีอำนาจวิเศษที่จะช่วยให้ฝนหยุดตก ลักษณะของตุ๊กตาไล่ฝนเป็นตุ๊กตาผ้าสีขาว หัวกลมและมีการเขียนหน้าตา ซึ่งเราคงจะคุ้นเคยกันดีจากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องอิคคิวซัง เพราะอิคคิวซังมีตุ๊กตาไล่ฝนแขวนไว้หน้าที่พักเพื่อเป็นของที่ระลึกถึงแม่
       คำว่า เทะรุ (
照る) ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า "(พระอาทิตย์) ส่องแสง" และ โบโซะ (坊主)แปลว่า พระ หรืออาจะหมายถึงเด็กเล็ก ๆ ที่หัวโล้นเกรียนก็ได้ ส่วนวิธีทำตุ๊กตาไล่ฝนนั้นก็ไม่ยากเลย เริ่มจากใช้ผ้าหรือกระดาษ สีขาว ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส จากนั้นก็หาลูกกลมๆ ไม่ใหญ่นักเอาวางตรงกลาง แล้วก็รวบผ้าเข้าหากกันโดยใช้เชือกผูก ก่อนที่จะเติมหน้าเติมตาให้ตุ๊กตา
       ขนบธรรมเนียนนี้เริ่มขึ้นในสมัยเอโดะ ซึ่งย้อนไปราวปีค.ศ. 1600-1867 โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นการดัดแปลงมาจากตุ๊กตาเส่าฉินเหนียงของจีน ซึ่งทำขึ้นเพื่อขอพรให้อากาศแจ่มใสเช่นกัน ปัจจุบัน ยังมีการแขวนตุ๊กตาไล่ฝนกันในญี่ปุ่น โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กๆ เด็กชาวญี่ปุ่นจะทำตุ๊กตาเทะรุเทะรุโบโซะแขวนไว้ตรงหน้าต่างเพื่อขอพรไม่ให้ฝนตก ตามโรงเรียนก็จะมีการสอนเด็กๆให้ทำตุ๊กตานี้ โดยส่วนใหญ่เด็กๆ มักจะทำตุ๊กตาตัวนี้ขึ้นก่อนวันที่จะไปทัศนศึกษา หรือวันกีฬาสี เพื่อให้อากาศแจ่มใส จะได้ไปเที่ยวกันสนุก ๆ
       อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเด็กทุกคนสนใจเรื่องกีฬา ถ้าหากต้องการให้ฝนตก เด็กญี่ปุ่นจะแขวนเจ้าเทะรุเทะรุโบโซะให้คว่ำหัวลง ขณะที่พวกชาวนาจะทาสีหัวของเทรุเทรุโบโซะให้เป็นสีดำเพื่อเป็นการขอฝน หากสมปรารถนาแล้วยังมีธรรมเนียมการของคุณตุ๊กตาด้วย ถ้าเกิดสมหวังกับที่ขอให้ฝนหยุดตกแล้ว ชาวญี่ปุ่นจะเอากระดิ่งเงินมาแขวนคอให้เทะรุเทะรุโบโซะเพื่อเป็นการขอบคุณ หรือไม่ก็จะขอบคุณโดยการเทเหล้า บนหัวของเทะรุเทะรุโบโซะแล้วเอาไปโยนลงในแม่น้ำ เอ๊ะ ขอบคุณแล้วทำไมต้องโยนทิ้งกันหนอ

 


ที่มา “วาซาบิ” ทำจากอะไร ?

 

       “วาซาบิ” ฝนมาจากโคนของต้น canola เป็นพืชผักสีเขียวอ่อนๆ ที่มีรูปลักษณ์ เหมือนหัวไชเท้า จะฝนด้วยเครื่องฝนที่ทำจากเหงือกปลาฉลาม เพื่อให้ได้ “วาซาบิ” ที่ละเอียดข้นเลยทีเดียว โดยคนญี่ปุ่นใช้วาซาบิเป็นเครื่องจิ้มสำหรับปลาดิบ ชูชิ และโซบะบางชนิด
เหตุที่เรียกว่าวาซาบินั้น ว่ากันว่าต้นกำเนิดของพืชตระกูลนี้อยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า วา ซาบิ ซึ่งภูเขาลูกนี้เป็นต้นน้ำของแม่น้ำ Utougi-Zawa อยู่ที่เมืองชิชูโอกะ มันมีประโยชน์มากกว่าที่คิด โตชิโอะ ลิยามา หัวหน้าทีมวิจัยวาซาบิ ซึ้งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว ระบุว่า วาซาบิมีผลในการฆ่าเชื้อโรค มันสามารถต่อต้านการติดเชื้อเบคทีเรียบางชนิด และยังสามารถกำจัดพยาธิ anisakis พยาธิที่อาศัยอยู่ในปลาได้ เมื่อมันผ่านเข้ามาในระบบการย่อยอาหารของมนุษย์ และเมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาพบอีกว่า วาซาบิยังมีฤทธิ์ต่อต้านสารก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นผลดีต่อผิวหนัง และยังช่วยป้องกันเส้นเลือดอุดตันด้วย
       วาซาบิเป็นเครื่องปรุงที่ทำมาจากต้น canola โดยจะนำส่วนโคนลำต้นที่มีความหนาออกมาใช้ และหลายๆคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นส่วนรากของมัน เมื่อนำมาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารจะมาในรูปของเครื่องปรุงรสที่มีกลิ่นฉุน รับประทานเข้าไปทำให้แสบจมูกในระยะสั้นๆ ก่อนที่รสชาติจะเปลี่ยนไปเป็นความกลมกล่อม ทั้งขมทั้งหวานผสมผสานกันไป
       วาซาบิเป็นเครื่องปรุงรสที่ชาวญี่ปุ่นใช้กันมานานกว่าพันปีแล้ว แต่เมื่อไม่นานนี้เอง มันกลายมาเป็นเครื่องปรุงยอดนิยมประจำโต๊ะอาหาร และกลายเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของการทำครัวของชาวญี่ปุ่นโดยนิยมรับประทานกับปลาดิบ ยังมีการค้นพบอีกด้วยว่า ผู้ที่รับประทานปลาดิบพร้อมกับวาซาบิไม่ค่อยจะป่วยเป็นโรคอะไร
       การปลูกวาซาบินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องลงทุนค่อนข้างสูง พืชชนิดนี้มักจะปลูกในที่โล่ง แต่จะต้องมีการจำกัดปริมาณแสงแดดไม่ให้ส่องลงมาถูกต้นโดยตรงในช่วงฤดูร้อน เมื่อไม่นานมานี้เกษตรกรชาวญี่ปุ่นถูกแย่งตลาดด้วยการสั่งนำเข้าต้นพืชที่มีกรรมวิธีการปลูกสมัยใหม่ และราคาถูกกว่า จากไต้หวันและฟิลิปปินส์ แม้ว่าผลิตผลของพวกเขาจะมีรสเผ็ดเกินกว่าที่จะนำมารับประทานเดี่ยวๆ แต่บริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นก็สั่งเข้ามาจำนวนมาก เพื่อนำมาผสมผสานกับเครื่องปรุงอื่นๆ เช่น หัวไชเท้าและเครื่องเทศ ที่เรียกกันว่า เนริ-วาซาบิ และตลาดของเครื่องปรุง เนริ-วาซาบินี้ มีมูลค่าถึง ๑๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในขณะที่วาซาบิแบบดั้งเดิมมีมูลค่าในตลาด ๓๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี



ที่มาการออกกำลังกายทำให้โรคภูมิแพ้หายได้อย่างไร ?

       ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้าภูมิคุ้มกัน ภูมิต้านทาน หรือภูมิชีวิต เราดี เราก็จะแข็งแรง ไม่ป่วย ไม่แพ้ ภูมิชีวิต ทำงานได้ตามปกติ เพราะต่อมพิทูพารี่ในสมองผลิต Growth Hormone (G.H.) ออกมาเป็นตัวกระตุ้น G.H. ควบคุมตัวเราตั้งแต่เกิดจนถึง 20-25 ปี หลังจากนั้นก็จะหลั่งน้อยลงเรื่อย ๆ คนที่ G.H. หยุดหลั่งเร็วนั้นเขาก็จะดูแก่เร็ว สุขภาพไม่สมบูรณ์เจ็บป่วยตลอดเวลา เราจึงต้องพยายามหาทางที่จะทำให้ G.H. หลั่งออกมาตลอดกาล เคล็ดลับที่จะทำให้ G.H. หลั่งได้คือ
           - นอนให้ถูก หลับสนิท หลับลึกไม่ฝัน วันละ 6-8 ชม
           - กินให้ถูก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ ยกเว้นปลา กินผักผลไม้มาก ๆ
          - ออกกำลังให้ถูก คือถึงจุดสูงสุด (Peak) หัวใจเต้นแรง ชีพจร 100-120 ครั้ง/นาที
          - สร้างสภาพ Trauma ปลอม ๆ เช่น อดอาหาร หรือ ดีท๊อกซ์ (สวนทวารล้างลำไส้ใหญ่ช่วงล่าง)
       การออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 4-5 วัน วันละ 40-45 นาทีขึ้นไป จะช่วยยกระดับระบบภูมิต้านทาน สำหรับตัวดิฉันทำติดต่อเป็นเวลา 5 เดือน อาทิตย์ละ 6 วัน ๆ ละ 40 นาที ร่วมกับการรับประทานอาหารแบบชีวจิต (กินผัก ผลไม้มาก ๆ เลี่ยงเนื้อสัตว์) ทำจิตใจให้รู้จักคำว่าพอ ดิฉันหายจากโรคภูมิแพ้ จาม คัดจมูก ซึ่งเป็นอยู่เป็นเวลา 12 ปี ท่านผู้อ่านจะไปลองปฏิบัติดูก็ได้ค่ะ ไม่ได้สงวนสิทธิ์ แต่สำคัญใจต้องสู้และอดทนด้วยนะค่ะ

 

พ.ญ.เสาวนิตย์ กมลธรรม

 

 

ที่มาของ “แป๊ะเจี๊ย” เงินกินเปล่า

       โรงเรียนเปิดเทอมที พ่อแม่ผู้ปกครองก็กระเป๋าเบาไปที ยิ่งลูกต้องเข้าโรงเรียนใหม่และเป็นโรงเรียนดังๆ ที่ต้องแย่งกันเข้าด้วยแล้ว ต้องเสียสตางค์อีกประเภทที่เรียกว่า “แป๊ะเจี๊ย”
       “แป๊ะเจี๊ย” คำนี้ฟังดูก็รู้ว่าเป็นภาษาต่างด้าว คือจีนแต้จิ๋ว หากแปลกันตรงๆ “แป๊ะ” แปลว่า สีขาว ส่วน “เจี๊ย” แปลว่า กิน รวมคำเข้าด้วยกันก็แปลว่า กินขาวๆ หรือกินเปล่าๆ เงินแป๊ะเจี๊ยจึงหมายถึงเงินกินเปล่านั่นเอง


ที่มาของคำว่า “เถรตรง”

       พวกเถรตรงก็หมายถึงคนประเภทซื่อหรือตรงแน่วเป็นไม้บรรทัด เคร่งครัดตาม ระเบียบแบบแผนจนเกินไป
       คำนี้มีที่มาจากนิทานเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีตาเถรตนหนึ่งเป็นคนตรงมาก ตั้งใจจะเดินเป็น เส้นตรงไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยไม่ยอมเลี้ยวหลบสิ่งกีดขวางใดๆ เมื่อเดินมาเจอ ต้นตาลต้นหนึ่งก็ตั้งหน้าตั้งตาปีนข้ามไป พอปีนถึงยอดตาลก็กลัวความสูงขึ้นมา ร้องเรียกให้คนช่วย พอดีมีคนหัวล้านสี่คนผ่านมา ก็เข้าช่วยด้วยการดึงขึงผ้าขาวม้าคนละมุมเพื่อให้ตา เถรโดดลงมา แต่ว่าตาเถรคงจะอ้วนไปหน่อย น้ำหนักตัวที่มากทำให้คนหัวล้านทั้ง สี่ หัวโขกกระแทกกันจนมอดม้วยมรณัง
       นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความตรงทื่อไม่รู้จักผ่อนปรน ทำให้เรื่องไม่เป็นเรื่องกลาย เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้

ทำไมยุงต้องกินเลือดเป็นอาหาร ?


        คุณทราบดีแล้วว่ายุงที่กัดและดูดเลือดพวกเราคือยุงตัวเมีย--ช่างเหลือร้ายจริง ๆ ! ยุงตัวเมียต้องการสารโปรตีนในเลือดเพื่อไปสร้างไข่ ถ้าเป็นเช่นนี้ยุงตัวผู้กินอะไร ? คำตอบคือ ยุงตัวผู้กินน้ำหวานจากดอกไม้ (nectar) และน้ำจากพืชผักผลไม้ (juices)--ช่างอ่อนหวานน่ารักจังเลย ! อันที่จริงยุงบางสายพันธุ์ทั้งตัวเมียและตัวผู้ล้วนกินน้ำหวานดอกไม้และน้ำผักผลไม้เป็นอาหาร ยุงตัวเมียจะดื่มเลือดเฉพาะช่วงเวลาที่พวกเธอวางไข่เท่านั้น



ทำไมจึงเรียกโรงพยาบาลโรคจิตว่า “หลังคาแดง”
ปี 2455 หมอเอ็ม. คาร์ทิว แพทย์ชาวอังกฤษ ก่อตั้งโรงพยาบาล “คนเสียจริต”
ตามแบบตะวันตกเป็นแห่งแรกที่ปากคลองสาน
มีป่าอันสวยงามร่มรื่นสร้างบรรยากาศช่วยนำมาซึ่งความสงบของจิตใจผู้ป่วย
หมอผู้นี้แหละเป็นที่มาของศัพท์แสลง “หลังคาแดง” ซึ่งเรารู้จักกันดี
เนื่องจากไปซื้อเหมาสีแดงค้างสต๊อกราคาถูกคุณภาพดีมาผสมน้ำมันแล้วทาหลังคาอาคารสังกะสีทุกหลังเพื่อกันสนิม
หลังคาโรงพยาบาลจึงเป็นสีแดงเพลิงสะดุดตาคนทั่วไป เป็นที่มาของสมญา “หลังคาแดง”
ที่ใช้เรียกโรงพยาบาลโรคจิตติดปากกันมาจนทุกวันนี้

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ความหมาย#ที่มา
หมายเลขบันทึก: 218891เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2008 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขยันหาความรู้ดีๆมาให้อ่านจังเลย

นี่แหละใฝ่รู้ใฝ่เรียน

นับถือๆจริง

ขอนำความรู้ที่ได้ไปขยายต่อนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ครูแป๊ด

มีเยอะครับ เดี๋ยวทะยอยลงเรื่อย ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท