สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับการแจกซองกฐิน


ดังนั้นสิ่งที่เราควรต้องทำคือทำความเข้าใจทั้งผู้แจกและผู้รับว่า การแจกซองนั้นเพื่อเป็นการบอกกล่าวเหมือนดังที่หลวงปู่บอกและผู้แจกต้องไม่คาดหวังว่าจะได้รับซองคืนพร้อมเงินหรือไม่ การจะคืนซองหรือไม่เป็นเรื่องของผู้รับ

เมื่ออาทิตย์ก่อนได้มีการขอให้ผมส่งอีเมล์เพื่อขอเชิญพนักงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะร่วมเป็นเจ้าภาพงานกฐิน ผมจึงเกิดความคิดอยากจะประชาสัมพันธ์งานกฐินของวัดสามัคคีบุญญาราม(คีรีสุบรรพต) ซึ่งเป็นวัดที่ผมได้ไปเป็นประจำ วัดนี้สร้างขึ้นโดยหลวงปู่หลวง กตปุญโญ ซึ่งเป็นพระสุปฏิปันโน และเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นรูปหนึ่ง วัดนี้อยู่เชิงเขามีพระนาคปรกองค์ใหญ่เป็นจุดเด่น ถ้าเราขับรถกลับจากเชียงใหม่ก็จะมองเห็นพระพุทธรูปนี้อย่างชัดเจน

เรื่องการประชาสัมพันธ์งานกฐินนั้นผมเก็บไปคิดอยู่หลายวัน ยังรู้สึกเกรง ๆ ว่าจะเหมาะหรือไม่ สุดท้ายจึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพระอาจารย์ชายแดน สีสสุทโธ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสคนปัจจุบัน ท่านได้ตอบผมน่าโดยการเล่าให้ผมฟังว่า “แต่ก่อนท่านเองมีความรู้สึกว่าการแจกซองผ้าป่าเป็นเรื่องที่น่าอาย ถึงกับไปขออนุญาตหลวงปู่หลวงว่า ผ้าป่าปีนี้ไม่พิมพ์ซองได้มั้ย หลวงปู่ตอบว่า ไม่ได้ และอธิบายว่า งานใดที่มีโอกาสให้ผู้อื่นสามารถทำบุญได้เราต้องบอก การพิมพ์ซองเป็นแค่การบอกและเตรียมซองไว้เพื่อสำหรับผู้ที่ต้องการทำบุญ เมื่อเขารับรู้แล้วจากการบอกของเรา เขาจะทำบุญหรือไม่เป็นเรื่องของศรัทธาของเขา เราไม่ได้คาดหวังอะไร”

ผมจึงนำเรื่องนี้กลับมาคิดวิเคราะห์ว่าเหตุใดทำไมเวลาเราไปแจกซองผ้าป่าใคร เราถึงรู้สึกว่าเราไปเบียดเบียนผู้อื่น ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเราเป็นคนขี้เกรงใจ แต่เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกอายในการแจกซองกฐินนั้น ผมคิดว่าเป็นการนำเอาความรู้สึกของเราเมื่อได้รับซองมาประกอบ เพราะเรามักจะคิดว่าเมื่อได้ซองแล้วต้องคืนซอง มันเหมือนกับว่าเราถูกยัดเยียดให้เสียเงิน ดังนั้นสิ่งที่เราควรต้องทำคือทำความเข้าใจทั้งผู้แจกและผู้รับว่า การแจกซองนั้นเพื่อเป็นการบอกกล่าวเหมือนดังที่หลวงปู่บอกและผู้แจกต้องไม่คาดหวังว่าจะได้รับซองคืนพร้อมเงินหรือไม่ การจะคืนซองหรือไม่เป็นเรื่องของผู้รับ เมื่อคิดได้เช่นนี้ผมจึงตัดสินใจส่งอีเมล์ประชาสัมพันธ์พร้อมกับบันทึกที่มาที่ไปไว้ ณ ที่นี้

ผมไปร่วมงานกฐินกับทางวัดทุกปีเป็นระยะเวลา 3-4 ปีมาแล้ว งานกฐินที่วัดนี้เป็นไปอย่างเรียบง่าย ดังเช่นที่จะจัดในวันที่ 8 พ.ย. 2551 นี้ แต่ที่แตกต่างไปจากทุกปีคือ ปีนี้เป็นกฐินสามัคคี ไม่มีเจ้าภาพ ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมเองได้เป็นส่วนหนึ่งของเจ้าภาพงานกฐินด้วย ในคืนวันที่ 7 พ.ย. 2551 จะเป็นวันจัดตั้งองค์กฐิน และเวลาประมาณ 1 ทุ่มก็จะมีการทำวัตรเย็นและสวดพระปริตรมงคล เพื่อฉลององค์กฐิน และฟังพระธรรมเทศนา โดยปกติแล้วทุกปีจะได้รับความเมตตาจากพระครูอุดมภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทองสุก อุตตรปัญโญ) วัดอนาลโยทิพยาราม จ.พะเยา มาเป็นประธานในคืนนั้น


พระครูอุดมภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทองสุก อุตตรปัญโญ) วัดอนาลโยทิพยาราม จ.พะเยา

พอรุ่งเช้าวันทอดกฐินก็จะมีการตักบาตรเวลาประมาณ 07.00 น. จากนั้นก็ถวายภัตตาหารเช้าเวลา 08.30 น.อาหารที่เหลือจากการนำไปถวายก็จะถูกนำมารวมกันบริเวณโรงครัว พวกเราที่ไปร่วมงานกฐินก็ร่วมรับประทานอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ไปเลย


พระธรรมสังวรญาณ (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล) วัดอนาลโยทิพยาราม จ.พะเยา
พระอาจารย์สาม และ พระอาจารย์ชายแดน สิลสุทโธ ถ่ายร่วมกันเมื่องานสมโภชพระนาคปรก

พอเวลา 10.00 น. ก็จะเป็นพิธีทอดกฐิน ซึ่งทุก ๆ ปีจะได้รับความเมตตาจากพระธรรมสังวรญาณ (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล) วัดอนาลโยทิพยาราม จ.พะเยา มาเป็นประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ เวลาในการทอดกฐินก็ประมาณ 1 ชั่วโมงพอเสร็จก็แยกย้ายกับกลับ เป็นพิธีที่เรียบง่าย ไม่มีพิธีการมาก ไม่มีงานรื่นเริงใดๆ ผมรู้สึกประทับงานกฐินในรูปแบบนี้มาก


บรรยากาศการรับประทานอาหารร่วมกันแบบเรียบง่าย ไม่แบ่งชั้นวรรณะ

คำสำคัญ (Tags): #ซองกฐิน
หมายเลขบันทึก: 218001เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2008 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท