อย่ามองข้าม...ความปลอดภัย...ในการทำงาน


ความเสี่ยงที่...สามารถป้องกันได้

                   ความปลอดภัยในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ ความเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้...ถ้าเราไม่มองข้าม ซึ่งวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมาทางกลุ่มงานพยาธิวิทยา ได้จัดบรรยายความรู้เรื่องโครงการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับบุคลากร ทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ โดยมีคุณทัศนีย์ พันธุ์วิเชษฐ์ ที่กรุณาให้ความรู้แก่น้องๆห้องแล็ป ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ปฏิบัติงาน

                   ตอนแรกยอมรับว่าหัวข้ออาชีวอนามัยนั้นคิดว่าคงเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัวไม่น่าสนใจเท่าไร แต่เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ทุกคนในงานต้องรับรู้ แต่พอมาฟังดูแล้ว ทำให้รู้สึกว่า..เอ๊.! ! !..ทำไมเราถึงมองข้าม...ความปลอดภัยในการทำงานกัน หรืออาจจะเป็นเพราะความเคยชินในการทำงานอย่างเดิมซ้ำๆ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การระมัดระวังในสิ่งที่ทำลดลง (เริ่มมีความประมาทในการทำงาน โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว ก็คิดว่าตัวเองมีความรู้และชำนาญในงานที่ทำ)

                   อาชีวอนามัยหมายถึงการดูแลสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของผู้ประกอบอาชีพการงาน ซึ่งมี 6 ด้าน คือด้านกายภาพ ชีวภาพ สารเคมี ท่าทางการทำงาน จิตใจ สังคม อุบัติเหตุ ซึ่งโรงพยาบาลเปรียบเหมือนมีโรงงานหลายๆประเภทรวมอยู่ที่เดียวกัน ได้แก่ งานซักฟอก งานซ่อมบำรุง การกำจัดขยะและของเสียต่างๆเป็นต้น จึงเป็นงานที่มีขั้นตอนในการทำงานหลายอย่างที่สามารถก่อให้เกิดสิ่งคุกคามได้ทุกด้าน เป็นความเสี่ยง มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและสุขภาพของบุคลากรในโรงพยาบาล

      วัตถุประสงค์ของการดำเนินงานอาชีวอนามัยแก่บุคลากรในโรงพยาบาล

1.      เพื่อปกป้องบุคลากรจากสิ่งคุกคามต่อสุขภาพและควบคุมสภาพแวดล้อมในการทำงานให้อยู่ในระดับที่จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่อ สุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน

2.      เพื่อหาวิธีการควบคุมและจัดการสิ่งคุกคามและความเสี่ยงต่อสุขภาพของบุคลากรอย่างเหมาะสม

3.      เพื่อเป็นข้อมูลในการค้นหาสาเหตุและความสัมพันธ์ของการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในแต่ละแผนกของโรงพยาบาล

4.      เพื่อสร้างเสริมให้เกิดระบบที่จะดูแลสุขภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

 

สิ่งที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและเป็นประโยชน์จากอาชีวอนามัยในกลุ่มงานพยาธิ

1.      มีการกระตุ้นให้คนในงานช่วยกันค้นหาความเสี่ยงหรือสิ่งคุกคามที่อาจจะเกิดอันตราย รวมทั้งให้มีการจดบันทึกข้อมูลการเจ็บป่วยและการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งต้องหาทางควบคุมและเฝ้าระวัง

2.      ทำให้พบว่าสิ่งที่คิดไม่ถึงว่าจะเป็นภัยคุกคาม เช่น การได้รับผลกระทบจากเสียงที่ดัง แสงสว่างไม่เพียงพอ การเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน อากาศถ่ายเทไม่เพียงพอทำให้เกิดการติดเชื้อโรคจากสิ่งส่งตรวจในการทำงาน การถูกเข็มตำซึ่งเสี่ยงต่อโรคต่างๆมากมาย อันตรายจากสารเคมีที่ระเหย การใช้สายตามากเกินไปในการดูกล้องจุลทัศน์ การยืนหรือนั่งนานๆในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเก้าอี้ไม่มีพนักหลังและแขน การใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานนานๆ สิ่งเหล่านี้ เราได้พบเจอทั้งสิ้น

3.      การได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีของเจ้าหน้าที่ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับการรักษาด้านสุขภาพมากพอสมควร เช่น การตรวจพบการติดเชื้อไวรัสตับอักสบชนิดบี โรคปอด วัณโรค เนื้องอก มะเร็ง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดัน ภูมิแพ้ ปวดขาตามข้อ ทำให้เกิดการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่หันมาดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย ในอนาคตอาจจะเกิดชมรมเบาหวาน หรือชมรมคนรักสุขภาพชวนกันออกกำลังกาย หรือมาแลกเปลี่ยนวิธีการต่างๆในการดูแลความปลอดภัยทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง

4.      มีการป้องกันโดยให้มีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่างๆเช่น ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบบี การสอนวิธีการป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะติดโรคจากการทำงานได้ เช่นการใช้ Universal Precaution การส่งเสริมการล้างมือที่ถูกวิธี  การกำจัดสิ่งเปื้อนเชื้ออย่างถูกวิธี การอบรมป้องกันอัคคีภัย เป็นต้น

5.      ทำให้พบว่าข้อบกพร่องที่ควรแก้ไขด้านสถานที่หรือสิ่งแวดล้อม เช่น

-          ทางเชื่อมต่อตึกมีของวางเกะกะเต็มไปหมด ทำให้เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน จะปิดกันทางออกทำให้เกิดอันตรายได้

-          ถังดับเพลิงไม่เพียงพอและเหมาะสมกับห้องปฏิบัติการ

-          ไม่มีห้องอาบน้ำ ไว้ใช้ในห้องปฏิบัติการเวลาถูกสารเคมีต้องวิ่งไปที่ห้องน้ำซึ่งอยู่ไกล

-          สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเก็บสารเคมี

-          การไม่ล้างแอร์ ที่มักเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

จะเห็นว่าอาชีวอนามัยนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวจริงๆ และเราควรจะตระหนักถึงความปลอดภัยให้มากๆ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร มีวิธีป้องกันอย่างไร การดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงแล้ว เราก็พร้อมที่จะทำงานและดูแลสุขภาพของผู้มารับบริการได้อย่างเต็มศักย์ภาพด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงอยากบอก...คนทำงานว่า อย่ามองข้ามความปลอดภัยในการทำงานค่ะ.

 IMM2…Post



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท