กล่องบุญ กล่องทุน


สิ่งที่ผมรู้สึกว่าผมได้และประทับใจในวันนั้นคือการที่ผมได้เอาชนะความคิด ตระหนี่ เห็นแก่ตัว ที่มันนอนเนืองอยู่ในหัวใจผมมาแสนนานโดยที่ผมไม่เคยสังเกตุได้ และมันได้แสดงออกมาอย่างเด่นชัดในวันนั้น ผมอนุทานขึ้นในใจว่า “อ๋อ บุญ ชำระใจ ให้สะอาดได้แบบนี้นี่เอง”

ในปัจจุบันแล้วหากเราพูดถึงเรื่องการทำบุญแล้ว เรามักจะนึกถึงการให้ทาน การบริจาคข้าวของ เงินทอง เป็นเสียส่วนมาก แต่ก็มีไม่น้อยที่ทราบและเข้าใจว่ามีหลายทางที่เราสามารถสร้างบุญได้ตามหลัก บุญกิริยาวัถตุ ๑๐

ผมคือคนหนึ่งที่คิดติดมาเป็นเวลานานว่าการทำบุญคือการบริจาคเงิน เพราะปัจจุบันเวลามีใครยื่นซองผ้าป่า ซองกฐินให้เราก็มักจะพูดว่า “ขอเชิญร่วมทำบุญด้วยครับ” จนสมองบันทึกไว้ว่าการบริจาคเงินคือการทำบุญ แต่ผมก็ไม่ได้หมายความว่าการบริจาคเงินไม่ใช่การทำบุญนะครับ ตามหลักบุญกิริยาวัถตุ ๑๐ แล้วการบริจาคเงินก็จัดอยู่ในข้อที่ ๑ คือทานมัย หรือบุญที่เกิดจากการให้ทาน ที่เรามาเน้นเรื่องการบริจาคเงินกันมากนั้นอาจจะเป็นเพราะเงินสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นได้ภายหลัง ตัวนี้สำคัญมากถ้าผู้รับบริจาคนำเงินที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามผู้บริจาคตั้งใจไว้ ผลก็ออกมาว่า “ดี” แต่เมื่อไรเงินที่ใช้ไปไม่เป็นประโยชน์หรือไม่ตรงตามความตั้งใจผู้บริจาค ผลก็จะออกม่าว่า “ไม่ดี” เรื่องนี้ผมไม่ขอตัดสิน

ระยะหลัง ๆ นี้ผมคนหนึ่งที่ทุกข์มากกับซองบุญที่ใคร ๆ ให้มา จนในที่สุดผมทนไม่ไหวแล้วจึงจำเป็นต้องค้นคว้าหาแก่นแท้ของบุญเสียที

ถาม ๆ จากหลายท่านบอกผมว่า การทำบุญนั้นคือทำแล้วต้องมีความสุข ผมพอใจกับคำตอบนี้ระดับหนึ่ง และได้เอามาเป็นหลักเกณฑ์ระยะหนึ่งว่าวันนี้เงินที่ผมใส่ซองไปนั้นผมได้บุญหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วผมไม่ค่อยจะได้บุญกับใครเลยในช่วงนั้น คิดต่อไปอีกว่าถ้าบุญคือการที่เราทำแล้วมีความสุข มีคนบางพวกที่ความคิดไม่เหมือนผู้อื่นทำสิ่งที่ชั่วร้ายแต่ตัวเองมีความสุข กฏเกณฑ์นี้เห็นจะไม่ครอบคลุมแล้วหละ หลวงพ่อชาบอกว่าบุญคือความสุขเหมือนกันแต่ท่านมีข้อแม้ว่าเป็นความสุขในทางที่ชอบนะ คำว่าชอบมันก็กว้างเกินไป ผมจึงต้องค้นคว้าหาต่อไป

จากการค้นคว้าของผมก็ทราบเหมือนทั่วไปว่าการทำบุญไม่ได้มีแค่การบริจาคเงินนะ ยังมีอย่างอื่นอีกและส่วนใหญ่มักจะพูดแต่ถึงวิธีการทำบุญ คำตอบเหล่านี้ไม่ได้คลายความสงสัยในใจผมเลย(ยังบริจาคด้วยความทุกข์อยู่) จึงค้นคว้าต่อไปจนกระทั่งผมได้เจอคุณสมบัติของบุญ ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราตัดสินได้ด้วยตนเองว่าสิ่งที่เราได้ทำลงไปนั้นคือบุญหรือไม่ ท่านบอกว่า บุญคือสภาพที่ทำจิตใจให้สะอาด ให้ผ่องใส ฉะนั้น ลักษณะของบุญในความหมายนี้ จึงหมายถึงสภาพของจิตหรือคุณภาพของจิตที่ผ่องใส จึงคิดว่าที่มีคนบอกว่าบุญคือความสุขนั้นก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะเป็นความสุขที่เกิดจากจิตที่ผ่องใสนี่เอง คิดต่อไปว่าแล้วสภาพที่ทำให้จิตผ่องใสนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องมาดูที่ คุณสมบัติของบุญ ท่านบอกว่า คุณสมบัติของบุญ คือ

  1. ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดได้
  2. นำความสุขความเจริญก้าวหน้าได้
  3. ติดตามตนไปทุกฝีก้าว แม้ไปเกิดข้ามภพข้ามชาติ
  4. เป็นของเฉพาะคน ใครทำใครได้ โจรลักขโมยไม่ได้
  5. เป็นที่มาของโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
  6. ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ นิพพานสมบัติ แก่เราได้

ด้วยคุณสมบัติของบุญดังที่กล่าวมา ผมเชื่อในข้อที่ 1 และข้อที่ 4 เพราะสามารถพิสูจน์ได้ด้วนตนเอง ส่วนข้ออื่น ๆ นั้นต้องขอเวลา ไม่รู้ว่าจะพิสูจน์ได้หรือเปล่า

ผมเห็นว่าข้อที่ 1 นี้เรามีโอกาสได้พิสูจน์กันบ่อยด้วยซองหรือโต๊ะรับบริจาคทั้งหลายนี่แหละ ผมมีเรื่องเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งผมลางานไปทำธุระที่โลตัส ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดภัยน้ำท่วมหนักที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง มีกลุ่มหนุ่มสาว อบต. ตั้งโต๊ะรับบริจาคอยู่บริเวณลานจอดรถ ระหว่างที่ผมยืนซื้อไก่ย่าง 5 ดาว ก็ได้ยินเสียงเชิญชวน ใจหนึ่งผมอยากเดินเข้าไปบริจาค แต่ก็มีอีกใจห้ามไว้ว่า “เอ้ย ๆ เดี๋ยวเงินหมด ไม่รู้ว่าพวกมันจะเอาไปให้ชาวบ้านจริงหรือป่าว อย่าไปเลย” เชื่อหรือไม่ครับ ผมเดินไปเดินมาอยู่หน้าร้านไก่ย่างเกือบ 5 นาทีกับความคิดที่มันต่อสู้กัน จนกระทั่งผมตัดสินโดยใช้ขาผมเดินเข้าไปเลยไม่ฟังความคิดทั้ง 2 ฝ่าย แค่ก้าวแรกที่ก้าวออกไปดูเหมือนความคิดห้ามบริจาคหายวับไปกับตา เมื่อผมบริจาคเสร็จผมเดินออกมาด้วยอาการตัวเบาบอกไม่ถูก สิ่งที่ผมรู้สึกว่าผมได้และประทับใจในวันนั้นคือการที่ผมได้เอาชนะความคิด ตระหนี่ เห็นแก่ตัว ที่มันนอนเนืองอยู่ในหัวใจผมมาแสนนานโดยที่ผมไม่เคยสังเกตุได้ และมันได้แสดงออกมาอย่างเด่นชัดในวันนั้น ผมอนุทานขึ้นในใจว่า “อ๋อ บุญ ชำระใจ ให้สะอาดได้แบบนี้นี่เอง” หลังจากนั้นสักพักความคิดหนึ่งก็ปรากฏมาว่า “เสียดายตังค์เหมือนกันนะ บริจาคไปตั้งพันหนึ่ง น่าจะแค่ห้าร้อยก็พอ” อ๊ะเอาเข้าไป ได้บุญมาหยก ๆ ไม่ถึงวันได้ความทุกข์ตามมาแล้ว หลังจากนั้นผมคิดอยู่ตลอดว่าทำอย่างไรการทำบุญของเราจึงจะเป็นบุญ เงินไม่ได้หามาง่าย ๆ เงินต้องใช้จุนเจือครอบครัว คิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไร

จนกระทั่งวันหนึ่งไปทำ KM Workshop ได้เจอพี่คนหนึ่งจำชื่อเค้าไม่ได้ รู้สึกว่าทำงานอยู่แผนกเคมี เป็นคนอ้วน ๆ (ไม่แน่ใจว่าชื่อพี่หลงหรือเปล่า) เค้าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่หลวงเลยคุยกันเรื่องวัดดอยคีรีสุบรรพต คุยไปคุยมาพี่แกบอกว่าที่บ้านแกมีบาตรอยู่ใบหนึ่งเอาไว้ใส่เหรียญ ทุก ๆ วันพี่แกจะเอาเหรียญไปหยอดใส่บาตรทุกวัน พอเต็มแล้วก็จะเอาไปให้วัด มันปิ้งแว๊ปขึ้นมาทันทีเลยครับ ด้วยการสะสมทีละเล็กทีละน้อยแบบนี้ทำให้การทำบุญของผมครั้งต่อ ๆ ไปเป็นบุญขึ้นมาได้ ผมได้สละเงินเหล่านั้นแล้ว เริ่มด้วยเงินเล็ก ๆ น้อย เพราะง่ายต่อการปฏิบัติให้เกิดผล ทุกวันถ้ามีเงินเหรียญเหลือติดกระเป๋าผมจะแบ่งหยอดใส่กระป๋องขนมเก่าของลูกเขียนข้าง ๆ ว่า “เงินถวายวัด สาธุ” เรียกมันว่ากล่องบุญ อีกส่วนใส่ออมสินโปเกมอนเอาไว้เป็นทุนให้ลูกไปโรงเรียน เรียกมันว่า กล่องทุน ดังรูป

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าได้มากกว่าการทำบุญให้เป็นบุญของตัวผมเอง คือการได้สอนให้ลูก ๆ รู้จักการทำบุญ เงินที่เหลือจากโรงเรียนวันละบาทในบางวันเค้าก็นำมาร่วมบริจาคกับผมด้วย วันไหนมีการบริจาคที่โรงเรียนเค้าจะมาเล่าให้ผมฟังเหมือนเขาภาคภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำ

เมื่อผมนับและกะดูเมื่อเดือนก่อนผมสามารถทอดกฐินที่วัดดอยได้  3 กอง และ 2 เดือนที่ผ่านมา แม่ผมป่วยมานอนกับผมที่บ้านเห็นกล่องบุญ เมื่อเล่าให้แม่ฟังแม่ร่วมอีก 2,500 บาท ผมกับลูกคุยกันว่าปีนี้เราจะร่วมเป็นเจ้าภาพกฐินที่วัดดอยด้วยกัน แน่นอนงานนี้ต้องเป็นบุญอย่างแน่นอน

คำสำคัญ (Tags): #บุญ
หมายเลขบันทึก: 217457เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2008 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุโมทนาบุญของพี่ด้วยครับ.......

รู้สึกดีครับ เมื่อได้อ่านข้อความของผู้มีบุญ

บุญรักษา นะครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท