เคล็ดลับ 9 ประการ ในการอบรมเลี้ยงดูลูก


ลูกรัก

 

  • 1. พยายามใช้การสอน (teach) มากกว่าการลงโทษ (punish) ในกรณีต่างๆให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป้าหมายของการอบรมเลี้ยงดูลูก คือการสอนให้ลูกรู้จักการปฏิบัติตน และมีพฤติกรรมที่เหมาะสม การลงโทษเด็ก ด้วยการตี หรือทำให้เด็กเจ็บตัว หรือเจ็บใจ (เช่น การหยิก หรือการดุด่า) ไม่ได้ช่วยทำให้เด็กได้เรียนรู้การปฏิบัติตนที่ถูกต้อง แต่กลับเป็นการแสดงให้เด็กเห็นว่า การใช้กำลัง หรือการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และยิ่งถ้าต้องการเอาชนะใคร หรือต้องการมีอำนาจเหนือใคร ก็ยิ่งต้องใช้กำลัง (เช่นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการกำหราบเขา ก็ยังใช้วิธีตีเขาเลย) ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เด็กก็จะใช้กำลังเข้าแก้ปัญหา ดังนั้นสุภาษิตเดิมๆที่กล่าวว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” หรือ “ Spare the rod, spoil the child” นั้นอาจจะไม่เหมาะสม กับการอบรมเลี้ยงดูลูกในยุคไฮเทคนี้
  • 2. พยายามมองปัญหาทางพฤติกรรมที่เด็กทำขึ้นว่าอาจจะไม่ใช่เป็นเพราะ เด็ก “ไม่ดี” หรือ “เลว” จงใจทำผิด เพื่อท้าทายคุณ แต่ควรมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นจากการที่เด็กมีความคิด หรือความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องทำให้มีการตัดสินใจในการกระทำพฤติกรรมอย่างที่ได้ทำไปแล้ว และดูไม่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น หรือตามที่คุณคาดหวังไว้ เพื่อทำให้คุณได้พยายาม มองหาช่องว่างทางความคิด หรือการตัดสินใจที่เกิดขึ้น และหาทางทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับลูกได้
  • 3. เมื่อมีโอกาส ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้รับรู้ ถึงผลที่จะเกิดขึ้น (consequences) เมื่อมีการทำพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องโดยตัวของเขาเอง  เช่น เมื่อลูกทำของหกเลอะเทอะ เขาก็จะต้องเป็นผู้ที่จะเก็บ ทำความสะอาดสิ่งที่เขาทำให้เรียบร้อย ถ้าไม่ทำ เขาเองหรือคนอื่นที่เดินมา ก็อาจจะลื่นหกล้มได้ ถ้าเขาไม่รับผิดชอบในการทำการบ้านส่งคุณครู แม้ว่าคุณได้ช่วยเตือนเขาแล้ว เขาก็ควรจะถูกคุณครูทำโทษ ในเรื่องที่ไม่ทำการบ้านได้ ไม่ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่ทำการบ้านให้เขาแทน ทำให้เด็กรู้สึกว่า ตนเองไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไร ในสิ่งที่ได้รับมอบหมายงานมาทำ หรือคุณพ่อคุณแม่ไปเอาเรื่องคุณครู ที่ทำโทษลูกเรื่องไม่ทำการบ้าน จนกลายเป็นว่าคุณครูเป็นผู้ผิด ที่ให้การบ้านเยอะ
  • 4. พยายามกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในครอบครัว ให้มีความชัดเจน, สามารถให้เด็กเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่าย และเป็นธรรมกับทุกคน โดยมีความเหมาะสมกับอายุของเด็กในแต่ละวัยด้วย และทำให้เด็กเข้าใจ ถึงผลที่จะตามมา เมื่อไม่ปฏิบัติตาม ว่าจะมีผลเสียอย่างไร (แต่ไม่ใช่เป็นการขู่ โดยไม่มีผลในทางปฏิบัติ) และควรจะมีความสม่ำเสมอ ในการบังคับใช้กฎเกณฑ์นั้นๆ กับทุกคนในบ้าน
  • 5. อย่าใช้การบ่น หรือติเตียนตลอดเวลา เมื่อเด็กทำอะไรผิด ไปจากกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ควรบอกเขาให้ทราบ ถึงสิ่งที่เขาทำ ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร และให้เขารับรู้ในผลที่จะตามมา จากการกระทำผิดของเขา ในขณะที่พูดเรื่องนี้กับเขา ไม่ควรใช้อารมณ์โกรธ ควรพูดด้วยน้ำเสียง และท่าทีที่เรียบๆ แต่หนักแน่น เพื่อให้เด็กรับรู้ว่า การอบรมเขาที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำอยู่นั้น คุณได้ทำไป เพราะต้องการให้เขาเป็นคนดี ไม่อยากให้เขาทำผิด หรือทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นๆ อีก ไม่ใช่เป็นเพราะคุณโกรธ หรือไม่ชอบในตัวเขา แต่เป็นเพราะ สิ่งที่เขาทำต่างหาก ที่คุณไม่ชอบ และเห็นว่าควรแก้ไข
  • 6. ถ้าเด็กมีพฤติกรรมหลายอย่างที่ไม่ถูกต้อง ที่คุณต้องการแก้ไข ขออย่าได้พยายามแก้หลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ควรเลือกพฤติกรรมที่มีปัญหามาก ที่คุณคิดว่าควรได้รับการแก้ไขก่อน โดยนำมาพูดคุยกับลูก สอนให้เขาทราบว่า ทำไมถึงไม่ควรทำ และถ้าทำแล้วจะเกิดผลตามมาอย่างไร ในขณะเดียวกัน ก็พยายามมองหาพฤติกรรม หรือสิ่งที่ดีๆที่เด็กได้ทำ โดยเฉพาะในเรื่องทำนองเดียวกันนั้น มาพูดชมให้เขาเห็นว่า เขาก็ทำได้ และคอยให้กำลังใจเขา เมื่อเขาทำสิ่งที่ดีๆ นั้นอีก เพื่อให้เขาได้รับรู้ว่า คุณก็ได้เห็นว่าเขาเป็น “เด็กที่ดี” ได้เช่นกัน คุณอาจจะเล่าให้เขาฟัง ถึงเด็กคนอื่นที่ทำพฤติกรรมในทำนองนี้ได้ แต่ไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ มากนัก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่า คุณเห็นแต่คนอื่นๆ ดีหมด ยกเว้นลูกของคุณเอง
  • 7. สำหรับเด็กเล็กวัยทารก และวัยเตาะแตะ ส่วนใหญ่จะยังไม่ค่อยเข้าใจว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้น จะ ถูกหรือผิดอะไร ดังนั้นในกรณีที่เด็กทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง คุณควรจะหาทางเบี่ยงเบนความสนใจ หรือพาเขาออกจากเหตุการณ์นั้นๆ ไป ก่อนที่จะเกิดผลเสีย ที่อาจเป็นอันตรายขึ้น ไม่ควรพยายามลงโทษเด็ก หรือเขย่าตัวเด็กแรงๆ โดยหวังจะให้เด็กจำไว้ จะได้ไม่ทำอีก เพราะส่วนใหญ่แล้ว เด็กจะทำไปตามสัญชาติญาณ ความอยากรู้อยากเห็นของเขา อยากลองดูว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเขาทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ โดยไม่ได้มีเจตนาทำผิด หรือดื้อมากๆแต่อย่างใด
  • 8. คุณควรทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ให้เด็กได้เห็นเสมอๆ เวลาที่คุณพูดกับผู้อื่น คุณควรใช้คำพูด และกริยาท่าทาง ที่สุขุมเยือกเย็น ไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือก้าวร้าวกับผู้อื่นต่อหน้าเด็กๆ ควรมีคำพูดที่แสดงมารยาทที่ดี เช่น “ขอโทษค่ะ(ครับ)”, “ขอบคุณครับ (ค่ะ)”, และการแสดงน้ำใจกับคนอื่นๆให้เขาได้เห็นอยู่เสมอๆ เพราะเด็กมักจะเก่งในการสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้าง และจะเรียนรู้ได้เร็ว เด็กมักจะทำตามแบบอย่างที่เห็นจากคุณ มากกว่าที่จะทำตามคำสั่งที่คุณบอกให้เขาทำ ทั้งนี้คุณควรจะให้ความเอาใจใส่กับเรื่องต่างๆในทีวี หรือเกมคอมพิวเตอร์ที่เด็กเล่นด้วย เพราะสื่อเหล่านี้ก็สามารถเป็นตัวอย่างในการสอนพฤติกรรมที่ไม่ดีแก่เด็กๆได้ และอยากให้คุณพ่อคุณแม่ที่พบว่า มีรายการหรือสื่ออะไรที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ช่วยกันร้องเรียนผ่านทางเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบ หรือทางสื่ออื่นๆ เพื่อช่วยกันทำให้สภาพสังคมไทยของเรา ได้มี “มลพิษทางปัญญา” เหล่านี้ลดน้อยลงด้วย
  • 9. อย่าลืมให้กำลังใจเด็ก เมื่อเห็นเขาทำสิ่งที่ดีๆ แม้เพียงคำชมเล็กๆน้อยๆ หรือการโอบกอดเด็ก เพื่อให้เขารับรู้ว่า คุณรักเขาเสมอ หรือแม้แต่การสบตากันอย่างคนรู้ใจ จะเป็นพลังที่จะช่วยให้ลูกของคุณ มีกำลังใจที่จะทำดีต่อไปเรื่อยๆ ขอให้คุณพ่อคุณแม่พยายามปรึกษากันอยู่เสมอๆ ในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูลูกที่รักของเรา ในความเป็นพ่อแม่นั้น เรามีความรับผิดชอบร่วมกัน ที่จะทำให้ครอบครัวของเรา มีความสุข และมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
  • หมายเลขบันทึก: 217367เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2008 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (1)

    คุณ ออฟ น้องรัก

    พี่(มา ม่า)มีโอกาสเข้ามาอ่านบล็อก บังเอิญเจอน้องดีใจมาก และรู้สึกใจหายที่บรรยากาศการเรียนหายไป ขออวยพรให้อออฟโชคดีนะคะ

    พี่ตุ่ม

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท