"หลักสูตรท้องถิ่น VS สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" ตอนที่ 1 : ที่มาของประเด็น


"...ทางเขตเค้ามาตรวจ เค้าบอกว่าไม่มีหลักสูตรท้องถิ่น มีแต่สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ตรงนี้เราจะตอบว่ายังไง...แล้วที่เราทำอยู่นี่มันคืออะไรแน่" สิ่งที่เหนือความคาดหวังก็คือ ครูโรงเรียนแม่ข่ายสามารถตอบข้อซักถามแทนเราได้อย่างคล่องแคล่ว และชัดเจน

ที่มาของประเด็น :

ครั้งแรกของการกลับมาสู่ชุมชน Gotoknow อีกครั้ง  การกลับมาครั้งนี้เป็นเพราะความกระหายอยากแลกเปลี่ยนความรู้กับ ผู้รู้ ใน gotoknow ที่มีหลากหลายสาขาในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะด้านการศึกษา หลายวันหลายเดือนที่ได้ค้นและคว้า อีกทั้งสาระวนอยู่กับการจัดการวิทยานิพนธ์ของตัวเอง กว่าจะรื้อฟื้นความรู้และความรู้สึก IN กับงานชิ้นนี้ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เนื่องจากเรื่องที่ศึกษาคือ "รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นโดยใช้การจัดการความรู้" ซึ่งมีประเด็นที่ต้องทำความกระจ่างให้แก่ตัวเองอีกครั้งหลังจากวางมานาน  หัวข้อที่ต้องกลับมาทบทวนคือ ด้านกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ กระบวนการจัดการความรู้ และมาถึงเรื่อง หลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดว่า รู้และเข้าใจอยู่แล้วไม่ต้องทบทวนซ้ำ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะย้ำความรู้ตรงนี้อีกครั้ง จนกระทั้งพอจะมีประเด็นการเขียนรายงานในบทที่ 4 และ 5 อยู่บ้าง และประเด็นหนึ่งที่คาดว่าจะนำเสนอคือ ทัศนคติของครูต่อการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น (ก่อนที่จะมาเรียนรู้จากเครือข่ายฯ) 

                       สิ่งที่ทำให้นึกถึงและให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ก็คือ จากประสบการณ์การลงภาคสนามในการเป็นผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาหลายครั้ง มักจะได้ยินคำถาม และข้อสงสัยจากครูหลายท่านเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า "...เค้าบอกว่าไม่มีหลักสูตรท้องถิ่น มีแต่สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นใช่ไหม ทำไมในโครงการวิจัยนี้ถึงเรียกว่า หลักสูตรท้องถิ่นล่ะ ไม่ได้เรียกว่าสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นหรือ..."

                       ครั้งหนึ่ง มีการจัดประชุมคณะครูที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ตัวเองได้รับมอบหมายให้ดูแลเครือข่ายพัฒนาหลักสูตร "เรารักพระราชวังจันทร์" โดยมีครูจากโรงเรียนเครือข่ายทั้งหมด 6 โรงเรียนมานั่งสนทนาและร่วมกันวางแผนการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นร่วมกับคณะครูจากโรงเรียนจ่านกร้อง ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ข่าย ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้ดูแลและสร้างพลังให้แก่เครือข่าย สิ่งที่ตัวเองไม่คาดคิดก็คือ  มีถามคำถามนี้ขึ้น "...ทางเขตเค้ามาตรวจ เค้าบอกว่าไม่มีหลักสูตรท้องถิ่น มีแต่สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ตรงนี้เราจะตอบว่ายังไง...แล้วที่เราทำอยู่นี่มันคืออะไรแน่"

                       เหตุที่ไม่คาดคิดว่าจะมีคำถามนี้ปรากฎในการประชุมครั้งที่ 2 เนื่องจากครั้งที่ 1 โครงการวิจัยนี้ได้ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนแม่ข่ายจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว (เป็นการสอดรับกับแผนพัฒนาชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด) โดยเริ่มจากการปรับแนวความคิดเกี่ยวกับ คำว่า "ท้องถิ่น" "หลักสูตรท้องถิ่น" "ทรัพยากรท้องถิ่น" "การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่นำไปสู่การท่องเที่ยว" และหัวหน้าโครงการซึ่งเป็นวิทยากรกระบวนการครั้งนี้ให้ประเด็นสำคัญที่ว่า "หลักสูตรท้องถิ่น ต่างจากสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นอย่างไร"  พร้อมทั้งมีการฝึกปฏิบัติการในการเขียนโครงสร้างคร่าวๆ ของหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อเป็นแนวการคิด และการจัดทำเอกสารหลักสูตรต่อไป 

                        หลังจากการอบรมสิ่งที่คาดหวังไว้สูงก็คือ ครูทุกคนเข้าใจแนวความคิด และพร้อมจะยืนยันความตั้งใจ ยืนหยัดกับการเรียนรู้ครั้งนี้ แต่ความผิดหวังก็ย่อมเกิดขึ้น และสิ่งที่เหนือความคาดหวังก็คือ ครูโรงเรียนแม่ข่ายสามารถตอบข้อซักถามแทนเราได้อย่างคล่องแคล่ว และชัดเจน 

                        หลังจากวันนั้นคำถามนี้ก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อโครงการวิจัยฯ ได้ดำเนินการให้ความรู้กับครูทุกเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น 5 เครือข่าย เกี่ยวกับการประเมินเอกสารหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งเป็นช่วงหลังจากโรงเรียนได้รับการประเมินภายนอกแล้ว ครูท่านหนึ่งในเครือข่ายท่าหมื่นราม ได้เล่าให้กับหัวหน้าโครงการวิจัยฟัง ถึงการตอบข้อซักถามของผู้ประเมินเกี่ยวกับหลักสูตรท้องถิ่นที่ครูได้จัดทำขึ้น โดยผู้ประเมินยืนยันว่า "ไม่มีคำว่า "หลักสูตรท้องถิ่น" มีแต่สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" ครูท่านนี้ไม่มีท่าทีว่าจะคล้อยตามกับข้อโต้แย้งของผู้ประเมินแม้แต่น้อย ซ้ำยังตอบกลับโดยชี้แจงถึงสาเหตุที่ทำให้ สิ่งนี้เรียกว่า หลักสูตรท้องถิ่น และสิ่งที่เรียกว่า "สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" คืออะไร. (นี่คือสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ครูได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ครูรู้ลึกรู้จริงและตอบข้อซักถาม อีกทั้ง ยืนยันแนวความคิดอย่างมั่นคง)

                                 

                      แต่...สิ่งที่ยังค้างอยู่ในใจของตัวเองก็ยังคงมีอยู่ เพราะคำตอบที่ตัวเองคิดว่าจะตอบมาจากทฤษฎีและหลักการทางด้านหลักสูตรที่ได้เรียนมา และจากประสบการณ์เพียงไม่กี่เดือนที่เรียนในหลักสูตรปริญญาโท เราอิงคำตอบจากทฤษฎีเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คิดจะกับไปหาความกระจ่างโดยค้นคว้าหลักฐานทั้งสองด้าน ที่สำคัญไม่เคยสืบค้นคำว่า "สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" ใน Google แม้แต่ครั้งเดียว" จนกระทั้งมาถึงการเตรียมตัวกลับไปพบครูในการเก็บข้อมูลภาคสนามอีกครั้งเพื่อกลับมาเขียนในรายงานการวิจัยต่อ ประเด็นนี้ทำให้ตัวเองต้องกลับมาค้นคว้า และหาหลักฐานประกอบการอธิบายอย่างจริงจัง  จนกระทั้งพบเอกสารจำนวนหนึ่งที่พอจะสรุปเป็นข้อคิดเห็น และข้อความรู้ของตนเองได้

>>>ข้อความรู้ที่พบ : "สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" มาจากไหน

                                                                           ติดตามในบันทึกที่ 2   << Click>>>>>>

หมายเลขบันทึก: 217283เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2008 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หลักสูตรท้องถิ่น เป็นภาษาที่ติดปาก ติดหู มานานแล้ว

มหาวิทยาลัยขอนแก่น. บัณฑิตวิทยาลัย

 

ระดับปริญญาและรายละเอียดสาขาวิชา

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. ศึกษาศาสตร์ (การประถมศึกษา)

ปีที่จบการศึกษา

2542

ชื่อนิสิต

พนารัตน์ จินดาดวง

ชื่อวิทยานิพนธ์

การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง การเลี้ยงเป็ดเนื้อ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านท่าศิลา อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ

ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา

รศ แสงทวี ชื่นอุทัย รศ ดร อำนวยศิลป์ สุขศรี อ สมพงษ์ พันธุรัตน์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นระดับชั้นเรียน วิชางานเลือก กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 โรงเรียนบ้านท่าศิลา อำเภอ หนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ และเพื่อศึกษาผลการใช้หลักสูตรท้องถิ่นที่สร้างขึ้น กลุ่ม ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ที่กำลังศึกษาอยู่ใน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2541 โรงเรียนบ้านท่าศิลา อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ หลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการเลี้บงเป็ดเนื้อ และเอกสารประกอบหลักสูตรคือ แผนการสอน คู่มือครู แบบทดสอบย่อย แบบวัดทักษะปฏิบัติ แบบ ทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสังเกตพฤติกรรมการสอน แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียน แบบสัมภาษณ์ คำถามปลายเปิดเพื่อการสัมภาษณ์ผู้ปกครองนักเรียน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น การ วิจัยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ การวิเคราะห์ข้อมูลผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ นำเสนอในรูปความเรียง ส่วนข้อมูลที่ได้จากการทดสอบย่อย การทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน การวัดทักษะปฏิบัติ มาหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละเทียบกับเกณฑ์คะแนนของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า 1. นักเรียนที่ได้รับการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ เรื่องการเลี้ยงเป็ดเนื้อ มีผล สัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับดี คือมีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 70 ขึ้นไป นักเรียนมี ทักษะปฏิบัติเรื่องการเลี้ยงเป็ดเนื้อ อยู่ในระดับดี คือมีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 70 ขึ้นไป ทุกทักษะปฏิบัติ 2. นักเรียนที่ได้เรียนหลักสูตรท้องถิ่น โดยใช้รูปแบบการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ และเทคนิคการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีทักษะการทำงานกลุ่มอยู่ในระดับดี เห็นคุณค่าของการ ทำงานร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนเก่งและนักเรียนอ่อนดีขึ้น

ขอพระคุณ ว่าที่ พ.ต. ณัฏฐพล ตันมิ่ง ค่ะที่เข้ามาทักทาย และนำเสนองานวิจัยนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ เลยค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ ได้เป็นข้อมูลช่วยในการทำวิทยานิพนธ์พอดี ^ ^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท