ถอดบทเรียน ลปรร.R2R รพ.สิชล


โรงพยาบาลสิชลได้ดำเนินการในโครงการหน่วยงานการจัดการความรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 มาถึงปัจจุบัน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และมูลนิธิแพทย์ชนบท

นพ.เอกรัฐ จันทร์วันเพ็ญ ผู้ได้รับรางวัลR2R ดีเด่นระดับทุติยภูมิจากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัยที่จัดโดย สวรส.และภาคี R2R ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา หลังจากได้รับรางวัล คุณหมอก็ได้ไปทำงานสานต่อให้เกิดเวที ลปรร.เรื่อง R2R ใน รพ.สิชล นับว่าเป็นการกระตุ้น และส่งเสริมให้คนหน้างานได้พัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาโรงพยาบาลสิชล โดยมีปัจจัยเอื้อต่อความสำเร็จคือ ท่านผู้อำนวยการ นพ.อารักษ์ ให้การสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวเป็นอย่างดี  คุณหมอเอกรัฐได้สรุปประเด็นจากการประชุม ถอดบทเรียนจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงพยาบาลสิชล ตามโครงการจัดการความรู้ พัฒนางานประจำสู่งานวิจัย(R2R) โดยจัดไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นการสร้างความเข้าใจ เปิดตัว R2R ใน รพ.สิชล ส่วนครั้งที่สอง เป็นการปูพื้นฐานการวิจัย

ครั้งที่ 1  สร้างความเข้าใจ และ เปิดตัว R2R

วันที่ 4 สิงหาคม 2551 เวลา 13.00-15.30 น. ณ ห้องประชุม 3  โรงพยาบาลสิชล

ประเด็นสำคัญ

-         เปิดตัว R2R ให้คนโรงพยาบาลสิชล เข้าใจความหมาย ความสำคัญ และการดำเนินงาน

-         กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนางาน

สรุปบทเรียน

การประชุมครั้งแรกจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2551 เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัว R2R ภายในโรงพยาบาลสิชล มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล นพ.อารักษ์  วงศ์วรชาติ เป็นประธาน                     เปิดการประชุม ท่านได้ชี้แนะให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการความรู้จากงานประจำสู่งานวิจัยภายในโรงพยาบาลสิชล ซึ่งจะทำให้ระบบบริการมีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือจากผู้รับบริการมากยิ่งขึ้น ในการประชุมครั้งแรกมีบุคลากรของโรงพยาบาลเข้าร่วมการประชุมจำนวน 32 คน จากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล หลังจากนั้น นพ.เอกรัฐ  จันทร์วันเพ็ญ ได้บรรยายถึงความสำคัญของ R2R  โดยอ้างอิงจากการประชุมR2R เมื่อวันที่ 2-3 กรกฏาคม2551 ของ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช ว่า R2R เป็นการทำงานวิจัยจากผู้ปฏิบัติงานจริง นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานและพัฒนาคน ยกระดับขององค์กรให้เป็นองค์กรของการเรียนรู้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้สร้างแรงกระตุ้นแรงจูงใจและสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของการทำ R2R ช่วงสุดท้ายของการประชุมได้   จัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแบ่งกลุ่มตามลักษณะของ PCT เดียวกัน และคิดแนวทางการทำวิจัยของแต่ละ PCT  ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมต่างก็ช่วยออกความคิดเห็นกันภายในกลุ่ม ก่อนจบการประชุม นพ.เอกรัฐ ได้ให้แต่ละหน่วยงานไปคิดหัวข้อของการทำ R2R ภายในหน่วยงาน และนำมาเสนอในการประชุมในครั้งต่อไป บรรยากาศของการประชุมในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมเริ่มเห็นความสำคัญของการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานไปสู่งานวิจัย แต่ก็ยังมีสมาชิกส่วนใหญ่ที่ยังมีความหนักใจเกี่ยวกับทฤษฎีการวิจัยที่บางคนก็ทิ้งวิชาการมานานมากแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #r2r#รพ.สิชล#สวรส.
หมายเลขบันทึก: 216443เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2008 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ในการประชุมครั้งที่ 2 เรื่องพื้นฐานการวิจัย วันที่ 8 กันยายน 2551 เวลา 12.30-14.00 น. ณ ห้องประชุม 3 โรงพยาบาลสิชล

ประเด็นสำคัญ

-ทบทวนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย

-ปัญหาจากการปฏิบัติงาน การตั้งคำถามจากงานประจำ

-ความต้องการพัฒนาหน้างานประจำ

-ขอบเขตการวิจัยทางด้านสุขภาพ

-การใช้แหล่งค้นคว้าหาข้อมูล การใช้ search engine จาก Internet

-ตัวอย่างหัวข้อการวิจัย

-วางแผนการวิจัย

สรุปบทเรียน

การประชุม R2R ของโรงพยาบาลสิชล ครั้งที่สอง จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นบุคลากรภายในโรงพยาบาล จำนวน 28 คน ในการประชุมครั้งนี้ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 16 หน่วยงาน ได้นำเสนอโครงร่างการวิจัย (คร่าว ๆ) แบบสั้น ๆ ให้แก่ที่ประชุมรับทราบ โดยมี นพ.เอกรัฐ เป็นผู้ชี้แนะ และให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งปัญหาการวิจัย ที่เอามาจากปัญหา ภายในหน่วยงาน หรือพัฒนาจาก CQI ที่เคยทำมาแต่เดิม การใช้แหล่งค้นคว้าหาข้อมูล การทบทวนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย ขอบเขตของการวิจัยทางด้านสุขภาพ การวางแผนการวิจัย และตัวอย่างงานวิจัยของโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน นอกจากนั้น นพ.เอกรัฐ ได้สอบถามผู้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงาน R2R ของแต่ละหน่วยงาน ทำให้ได้ทราบว่าแต่ละหน่วยงานมีปัญหามากมายที่อยากพัฒนาแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากปัญหาเรื่องไหนดี การเขียนรายงานการวิจัยควรเขียนอย่างไร และระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เมื่อทราบปัญหาจากบุคลากร คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัยภายในโรงพยาบาลจึงได้ร่วมกันคิดแนวทางการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบ วิธีวิจัยที่ถูกต้องแก่บุคลากรภายในโรงพยาบาล โดยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำวิจัยระบบสุขภาพ จึงได้เชิญวิทยากรจากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงร่างการวิจัยของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 22 กันยายน 2551

สรุปบรรยากาศของการทำ R2R ในโรงพยาบาลสิชล ได้แก่

1.บุคลากรในโรงพยาบาลสิชลได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนางาน

2.บุคลากรภายในโรงพยาบาลมีความกระตือรือร้นที่จะได้เรียนรู้วิชาการใหม่ ๆ และพัฒนาระบบงานให้ดียิ่งขึ้น

มาอ่านและลงชื่อไว้ครับ 

คุณหมอเอกรัฐได้ส่งตัวอย่างโครงร่างงานวิจัยจากงานประจำของหน่วยงานในโรงพยาบาลสิชลมาให้ทาง สวรส.ได้รับทราบว่ามีความก้าวหน้าจากการทำงาน R2R เช่น

1. โครงการวิจัย เรื่อง ความพึงพอใจของแพทย์ผู้ทำผ่าตัดและพยาบาลวิชาชีพต่อการให้บริการวิสัญญี โรงพยาบาลสิชล

2. โครงการวิจัยเรื่อง : การให้ความรู้และการเสริมสร้างสมรรถนะการหายใจแบบองค์รวมเพื่อลดอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยใช้โปรแกรมออกกำลังกาย

3. โครงการวิจัย : การทดลองใช้สุคนธบำบัด เพื่อลดปวดในหญิงตั้งครรภ์ครรภ์แรกที่มารับบริการคลอดแผนกห้องคลอดโรงพยาบาลสิชล นครศรีธรรมราช”

4. การเปรียบเทียบผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดในผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

สวรส.ขอชื่นชมการทำงานของโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ที่พยายามพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นั้นได้รับบริการที่ดีที่สุดค่ะ

คุณหมอเอกรัฐได้ส่งรายงานความก้าวหน้าการจัดเวที ลปรร. R2R ครั้งที่ 3 ของ รพ.สิชลมาให้ สวรส.จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อค่ะ

สรุปถอดบทเรียน การประชุม R2R โรงพยาบาลสิชล ครั้งที่ 3

การประชุม R2R ของโรงพยาบาลสิชล ครั้งที่สาม จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 โดยมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่มีความสนใจเข้าร่วมประชุม จำนวน 52 คน ประกอบด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ เจ้าหน้าที่เอกซเรย์ ชันสูตร นักกายภาพบำบัด ทีมสนับสนุนต่าง ๆ แม้กระทั่งฝ่ายบริหาร ทุกคนมีความสนใจที่จะเรียนรู้การทำ R2R มากขึ้น โดยในการประชุมครั้งนี้ได้เชิญ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำการวิจัย มีความรู้ทางด้านการวิจัยในโรงพยาบาล และมีประสบการณ์การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยในโรงพยาบาล นั่นก็คือ อาจารย์จรวย สุวรรณบำรุง อาจารย์จาก สำนักวิชา การพยาบาล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ APN ทางด้านการพยาบาลเด็ก ซึ่งปัจจุบันอาจารย์กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์จรวย เป็นผู้มีความรู้เรื่องการทำวิจัย ปัจจุบันอาจารย์ สอนนักศึกษาพยาบาล วิชาการทำวิจัยทางการพยาบาล โดยทางศูนย์พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลสิชล ได้ประสานส่งโครงร่างงานวิจัยให้อาจารย์อ่านก่อน 2 สัปดาห์ การประชุมในครั้งนี้อาจารย์ได้บรรยายให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่อง กระบวนการวิจัย ระเบียบวิธีวิจัย แนวทางการดำเนินการวิจัย การค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

นอกจากนี้อาจารย์จรวย ได้เป็นที่ปรึกษาการทำงานวิจัยของหน่วยงานภายในโรงพยาบาล สิชล โดยได้มีหน่วยงานส่งโครงร่างวิจัย R2R (research proposal) ให้อาจารย์ช่วยแนะนำจำนวน 14 เรื่อง อาจารย์ ได้ให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำ และการแก้ไขปรับปรุง ทุกเรื่อง โดยมีผู้วิจัยหลัก อธิบายแนวคิดการทำวิจัยและรับฟังคำแนะนำจากอาจารย์ ซึ่งจากความคิดเห็นของอาจารย์พบว่า เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล สิชล ยังมีปัญหาในเรื่องของการเขียนโครงร่างการวิจัย เช่น การกำหนดชื่อเรื่องให้มีความชัดเจนและครอบคลุม การตั้งคำถามของการวิจัย จะใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบใดในการศึกษา การเลือกใช้สถิติใน การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น ซึ่งผู้วิจัยหลัก ของแต่ละโครงร่างก็ได้ซักถามอาจารย์จนมีความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การประชุมวันนั้นใช้เวลากว่า 3ชั่วโมง หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสิชลมีความกระตือรือร้นในการศึกษาค้นคว้างานวิจัยของหน่วยงานมากยิ่งขึ้น ได้นำโครงการร่างที่ได้รับคำแนะนำไปแก้ไขปรับปรุงและวางแผนในการดำเนินงานต่อไป รวมทั้งเริ่มมีการเก็บข้อมูลงานวิจัยกันไปบ้างแล้วในบางหน่วยงาน และได้มีการนัดหมายติดตามการดำเนินงานอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2551 ตามแผนงานที่วางไว้

นพ.เอกรัฐ จันทร์วันเพ็ญ

โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช

สรุปถอดบทเรียน การประชุม R2R โรงพยาบาลสิชล ครั้งที่ 4 วันที่ 27 ตุลาคม 2551 เวลา 14.00-16.00 น.

ห้องประชุมสำนักงานคุณภาพ โรงพยาบาลสิชล

การประชุม R2R ของโรงพยาบาลสิชล ครั้งที่สี่ จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทำงานวิจัยของหน่วยงาน จำนวน 18 คน ในการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงโครงร่างการวิจัย (research proposal) จากจำนวนงานวิจัย 11 เรื่อง ของ 10 หน่วยงาน โดยมี นพ.เอกรัฐ เป็นผู้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ โดยผู้วิจัยนำปัญหามาซักถาม อาทิเช่น การทดสอบความเที่ยงและความตรงของเครื่องมือ การกำหนดนิยามศัพท์ของงานวิจัยที่ชัดเจน การค้นคว้าหาเอกสารข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อผู้วิจัยมีความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น ก็ให้ผู้วิจัยดำเนินการตามแผนของแต่ละงานวิจัยต่อไป

ปัญหาที่พบ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทบทวนวรรณกรรม การอ่านวารสารวิชาการ จากต่างประเทศ และการค้นคว้าข้อมูลงานวิจัยจากสื่อต่างๆ

นางชลันรัตน์ อาภรณ์รัตน์

O.K.นะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท