พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม


การเรียนรู้จากพื้นที่จริงที่มีความหลากหลาย และไม่มีสูตรสำเร็จ

  วันที่ 27-31 มีนาคม 2549 ได้มีโอกาสเข้าฝึกอบรม "พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม " สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของกรมอนามัย ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจัดโดย สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ซึ่งมีผลพวงมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์อนามัยทั้ง 12 ศูนย์ ต้องทำงานเกี่ยวข้องทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม แต่พื้นฐานความรู้ และประสบการณ์การทำงานส่วนใหญ่เป็นพยาบาล และนักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ เมื่อต้องลงมาทำงานในพื้นที่โดยเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วจำเป็นต้องใช้ความรู้เหล่านี้ และต้องมีความแม่นยำ มั่นใจทางด้านวิชาการ ในการเป็นที่ปรึกษา ผู้ให้ข้อเสนอแนะ ที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆได้ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาไม่มาฟังข้อจำกัดของเราหรอกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เขาคิดแค่เพียงว่าเราต้องมีความรู้ และความชำนาญด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อต้องทำงาน และต้องเผชิญหน้ากับลูกค้า เราต้องขวนขวายทุกวิถีทาง และต้องศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง จากตำราบ้าง จากหน่วยงานภาคีพันธมิตรบ้าง จากเพื่อนร่วมงานบ้าง เมื่อลงพื้นที่ the show must go on พยายามเก็บอาการ(ขาสั่น)ให้อยู่ ทำอย่างไรให้ลูกค้าศรัทธา เชื่อถือให้ได้ ถ้าพบกับสิ่งที่เราไม่รู้จริงๆพยายามวางฟอร์ม มีมาดแต่อย่ามั่ว หรือให้ข้อมูลผิดๆ ต้องหาข้อมูลมาให้เขาให้ได้ในภายหลัง หรือหาแหล่งอื่นๆ ที่จะให้คำปรึกษากับเขาได้ ซึ่งต้องมีอยู่ใน list ข้อมูลของเราด้วย แต่จากประสบการณ์ตรงในการทำงานกับท้องถิ่นประมาณ 3-4 ปี นอกจากวิชาการแล้วเราต้องมีสัมพันธภาพที่ดี รู้จักรายละเอียดของลูกค้าแต่ละคน ให้บริการนอกเหนือจากงานของเราเองด้วย เขาต้องรู้สึกว่าเป็นบทบาทภารกิจของเขา ไม่ใช่ทำให้รู้สึกว่าเอางานเราไปบอกให้เขาทำ หรือต้องการเฉพาะตัวเลข และเป้าหมายอย่างเดียว ในปีแรกๆที่มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานเมืองน่าอยู่ด้านสุขภาพ โดยเทศบาลร้อยละ 20 มีกระบวนการเทศบาลน่าอยู่ 5 กระบวนการ และผลผลิตด้านสุขภาพ 7 เรื่อง จะถูกเทศบาลโจมตีมาก ทั้งเรื่องความชัดเจนของการวัด activity ผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่นที่เป็นแพทย์ท่านจะมีความรู้ดี ท่านจะใส่อารมณ์กับทีมงานมาก "ทำไมต้องกำหนดมาจากส่วนกลาง ทำไมไม่ให้พื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดตัวชี้วัด" ฯลฯ พวกเราต้องมีความอดทน อารมณ์เย็น ไม่โต้เถียงไม่ชวนทะเลาะ รอจังหวะเวลา โอกาส (นั่งฟังอย่างเดียว 1/2 ชั่วโมง) รอจนอีกฝ่ายอารมณ์เย็นแล้วค่อยชี้แจง ให้ข้อมูล ปรากฎว่าได้ผลท่านรับฟัง และให้ความร่วมมือมากขึ้น อ้าว!พูดนอกเรื่องไปถึงไหนแล้ว กลับมาเรื่องการอบรมต่อนะคะ หัวข้อวิชาการที่ผู้จัดกำหนดมีดังนี้

                   - หลักการและการบริหารจัดการการอนามัยสิ่งแวดล้อม

                   - การจัดการเหตุรำคาญ

                   - การจัดการน้ำสะอาดและน้ำเสีย

                   - ความปลอดภัยของอาหารและการสุขาภิบาลอาหาร

                   - การจัดการมูลฝอย และของเสียอันตราย

                   - การควบคุมและจัดการสัตว์ แมลงพาหะนำโรค

                   - การควบคุมมลพิษอากาศในชุมชน

                   - กฎหมายสาธารณสุข และการบังคับใช้

                   - การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

                  ผู้เขียนคิดว่าการมาพัฒนาด้านวิชาการเหล่านี้คงพอที่จะสร้างความมั่นใจในการทำงานได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตามคงเป็นไปไม่ได้ที่การอบรม 5 วันจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด คงต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จากหลายๆช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้จากการปฎิบัติในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย และไม่มีสูตรสำเร็จ เอาไว้โอกาสต่อๆไปจะกลับมาแลกเปลี่ยนหัวข้อที่น่าสนใจในภายหลัง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21599เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2006 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องน่าชื่นชม  เพราะเป็นความพยายามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาช่องทางเพิ่มศักยภาพให้ผู้ปฏิบัติงาน  แต่ในความเป็นจริงการทำงานในพื้นที่ คือโลกของการศึกษานอกระบบ และตามอัธยาศัย ที่ต้องเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดและมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ตามสถานการณ์ และตามบริบทของพื้นที่ ดังนั้นคนทำงานที่จะก้าวทันเหตุการณ์ต้องมีสติ ใฝ่รู้ อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และมีพลังใจให้แก่ตนเองและทีมเพื่อก้าวต่อไปของการทำงานเพื่อองค์กรและประเทศชาติแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางข้อจำกัด

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท