วิชชาธรรมกาย : วิธีสอบรู้และวิธีสอบญาณ


วิธีสอบรู้และวิธีสอบญาณ


    วันหนึ่ง ๆ ท่านต้องทำวิชา ๑๘ กาย ทั้งอนุโลม และปฏิโลม อย่างน้อยวันละ ๑ ครั้ง อย่างมากไม่มีกำหนด ยิ่งทำได้มาก ยิ่งดีมาก เพราะดวงธรรมจะใสยิ่งขึ้น กายสะอาดยิ่งขึ้น

    แต่ถ้าท่านเกียจคร้าน นาน ๆ จึงเดินวิชา ๑๘ กายหนหนึ่ง หรือว่านึกขึ้นได้ ก็ทำ ถ้าเป็นอย่างนี้ ธรรมจะเลือนลาง และดับในที่สุด นับว่าเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของเรา ท่านหมดที่พึ่งทางใจ ท่านไม่มีที่พึ่งแล้ว

    ดังนั้น จึงขอให้ท่านขยัน เพื่อรักษาสมบัติอันล้ำค่า คือ รักษาธรรมกายของท่านอย่าให้มัว

    บางวัน ท่านมี “รู้” และเกิด “ญาณทัสสนะ”

    เห็นพระพุทธเจ้า เห็นหลวงพ่อวัดปากน้ำ เห็นกายทิพย์ หรือเห็นญาติของท่านที่ตายไปแล้ว

    ท่าน “อย่าเพิ่งเชื่อ”

    ต้องสอบรู้และสอบญาณกันก่อน

    เพราะมารมันจำแลงให้เห็นได้ทั้งนั้น มันจะทำเหมือนใคร อย่างไร เขาทำได้ทั้งนั้น

วิธีสอบก็คือ

    ๑.) ให้ท่านส่งใจธรรมกายของท่าน หยุดนิ่งกลางดวงธรรมในท้องของกายที่ท่านเห็นนั้น จรดใจกลางดวงธรรม ให้จี้และเห็น “กลาง” คือ จุดใสเท่าปลายเข็ม จี้แล้วนึกให้จุดใสเท่าปลายเข็มหมุนขวา ท่อง “หมุนขวาในหมุนขวาทับทวี ๆๆๆ”

         จากนั้น ลำดับดวงธรรมไปให้ครบ ๖ ดวง

    ๒.) จี้กลางดวงธรรมที่ ๖ แล้วจะเห็นกายทิพย์หยาบของเขา

         ตามวิธีการในข้อ ๑ และลำดับดวงธรรมต่อไป จนถึงธรรมกายที่ละเอียดที่สุด คือ ถึงธรรมกายพระอรหัตต์ละเอียด

    ๓.) ถ้าดวงธรรมใสทั้งหมด และกายขาวและใสทั้งหมด แปลว่า เป็นของจริง

         และถ้าดวงธรรมไม่ขาวใส กายไม่ใสไม่ขาว แปลว่า เป็นของปลอม เนื่องจากมารจำแลงมา เจตนาให้ “ญาณ” ของเราผิด

    ขณะที่เดินวิชาไปตามวิธีในข้อ ๑ นั้น กายของเขาได้หายไปเฉย ๆ แสดงว่า มารเขาจำแลงมาหลอก เป็นของปลอม เชื่อไม่ได้

    ๔.) ขณะที่ท่านทำวิชาตรวจสอบ ตามวิธีการตามข้อ ๑ นั้น พึงสังเกตว่า กายของผู้ที่เราจะตรวจนั้น สะท้อนเข้ามาอยู่ในท้องของเราก็มี และไม่สะท้อนเข้ามาก็มี

         ถ้าเป็นของจริง มักสะท้อนเข้ามา และถ้าเป็นของหลอกหรือของปลอม มักไม่สะท้อนเข้ามา

    ๕.) กรณีที่ได้ยินธรรมกายพูด หรือเข้าอายตนะนิพพาน เพื่อทูลถามวิชา จำหลักไว้ว่า

         (ก.) ใจของเราจรดถูกจุดใสเท่าปลายเข็ม ซึ่งอยู่กลางดวงธรรมของพระองค์

         (ข.) ได้ยินตรงจุดใสเท่าปลายเข็ม

         (ค.) ได้ยินขณะที่ใจหยุด ใจอย่าส่าย อย่าไหว อย่ารัว

         (ง.) ได้ยินตรงขาว ตรงใส ตรงสว่าง

         (จ.) ได้ยินในขณะที่ทำวิชาดับหยาบไปหาละเอียด

         (ฉ.) ได้ยินขณะเข้ากลาง คือ จี้ตรงจุดใสเท่าปลายเข็มเรื่อยไป

    ถ้าเป็นไปตามเกณฑ์นี้ ถือว่า “ถูก” หากไม่เป็นไปตามหลักที่ว่านี้ ถือว่า “ผิด” เพราะมารสอดเข้าไปได้

    ดังนั้น จึงขอให้จำวิธีตรวจสอบให้ดี

    ส่วนวิธีที่ละเอียดกว่านี้ จะได้ไปเรียนในวิชาระดับสูง ไม่กล้าพูดวิธีละเอียดไว้ เพราะใช้ความรู้หลายอย่าง เกรงว่าจะไม่เข้าใจ จึงไม่ได้กล่าวไว้

    เรื่องนี้เป็นความรู้สำคัญ ใช้ตรวจสอบรู้และญาณของเราว่าจะใช้การได้หรือไม่ ในเบื้องต้นนี้ นำความรู้บทนี้ไปใช้ก่อน ต่อเมื่อโรคมันดื้อยา เราจึงจะใช้ความรู้ชั้นสูง

    ขอท่านได้โปรดติดตามความรู้ระดับสูงต่อไป


**************************************************************************

ความรู้จากหนังสือ  :  คู่มือวิปัสสนาจารย์

หมายเลขบันทึก: 215625เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท