วันนี้เอาเรื่องการฝึกให้มีสติสมาธิมาฝาก


มาฝึกสติกันครับพี่น้อง

มาฝึกสติกันเถอะ
ปลูกสติ ... ให้เบิกบาน

การดูจิต (การฝึกสติ)

คำนำ

เนื่องจากทาง ผู้ดูแลเว็บ ยังเป็นผู้หนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส เป็นผู้รู้น้อย และยังมีหนทางอีกยาวไกลในการปฏิบัติ ดังนั้นจึงไม่กล้าหรืออาจหาญที่จะอธิบายความได้อย่างเต็มที่ จึงขอเกริ่นเพียงสั้น ๆ เพื่อให้เข้าใจความหมายหรือคำจำกัดความของการดูจิตหรือการฝึกสติเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของ ผู้ดูแลเว็บ เท่านั้น ผู้ที่สนใจฝึกสติควรศึกษาจากครูบาอาจารย์ให้มากโดยสำคัญ ที่ทาง เว็บ จะทำการรวบรวมมาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้

การดูจิตคืออะไร ?

พูดว่า “ดูจิต” ท่านที่ไม่เคยได้ยินอาจจะงง ที่จริงการดูจิตคือ “การฝึกสติ” นั่นเอง ... สติ แปลว่าความระลึกได้  ดังนั้นการดูจิตจึงไม่ได้มีความหมายอะไรซับซ้อนไปกว่า “ความรู้สึกตัว” เมื่อใดที่เรามีความรู้สึกตัวนั่นหมายความว่าเรามีสติอยู่นั่นเอง

รู้สึกตัวที่ว่าคือรู้อะไร ?

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า สติปัฏฐาน 4 มาบ้าง การมีสติก็คือการฝึกสติปัฏฐาน 4 ,  สี่อย่างที่ว่านั้นคือ กาย เวทนา จิต ธรรม ฟังดูอาจจะงง พูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อใดเราเกิดความรู้สึกในสิ่งใดที่ชัด ก็ให้รู้อันนั้น การรู้นั้นรู้อะไร ก็เช่น หากเดินอยู่ก็รู้สึกว่าเดินอยู่, นั่งก็รู้สึกว่านั่ง, ยืนก็รู้สึกว่ายืน, นอนก็รู้สึกว่านอน, ดีใจก็รู้ว่าดีใจ, โกรธก็รู้ว่าโกรธ, สุขก็รู้ว่าสุข, ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์, จะขยับซ้าย แลขวา หันหน้า มองหลัง เคลื่อนไหวใด ๆ ก็ "รู้สึก"ตามนั้น คิดก็รู้ว่าคิด, จะฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน เผลอลืมไม่มีสติก็รู้ว่าเผลอ   

กล่าวโดยย่อคือให้มีความรู้สึกตัวผ่านอายตนะทั้ง 6 ได้แก่ ตา (รูป), หู (เสียง), จมูก (กลิ่น), ลิ้น (รส), กาย (สัมผัส), ใจ (ความรู้สึก-ความคิดปรุงแต่ง) รู้ไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์หรือสภาวธรรมที่ปรากฏ “ตามจริง” ในขณะนั้น ๆ

รู้แบบนี้มันจะเครียดไหม ? ขอตอบว่าไม่เลย การมีความรู้สึกตัวนั้นทำแบบสบาย ๆ ให้เป็นธรรมชาติตามปกติ ไม่ต้องไปเพ่ง ไปจ้อง ไปบังคับ ไปควบคุม ง่าย ๆ คือเป็นปกติอย่างที่เคยเป็นนั่นหละ เพียงแต่มีความรู้สึกตัวอยู่เนือง ๆ อยู่เสมอ

(ส่วนรายละเอียด – วิธีการปฏิบัติเพิ่มเติม  การรู้แบบมีสัมมาสติ ฯลฯ โปรดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากในเว็บที่ทาง webmaster จะทำการรวบรวมมาให้)

รู้ไปเพื่ออะไร ?

สตินั้นหากนำมาใช้กับทางโลกทั่วไปก็ย่อมมีประโยชน์มหาศาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการงาน, ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ การคิดอ่านย่อมเป็นระบบ, จิตย่อมมีสมาธิในการทำกิจการงานใด ๆ , อารมณ์มักจะเป็นปกติ ไม่ค่อยโกรธ เครียด หรือทุกข์ใจอะไรมาก ๆ กล่าวโดยรวมคือย่อมเกื้อกูลชีวิตประจำวันทางโลกได้อย่างดีซึ่งเป็นประโยชน์ที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน

หากแต่ถ้ารู้เนือง ๆ มาก ๆ เข้าจนเป็นมหาสติ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรมด้วย การที่เรามีสติอยู่เนือง ๆ รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ทำอย่างติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็เพื่อให้สติเกื้อกูลต่อการ “เห็นความจริง” ความจริงนี้เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือกายกับใจของเรา แต่เราไม่เคยรู้สึกถึงความจริงนี้เลย

จุดหมายของการรู้ก็เพื่อให้เห็นความจริง อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่ากายและใจของเรานั้นเป็นสิ่งไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวเรา เนื่องจากสัมมาสติทำให้เราได้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามสภาวธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่นับครั้งไม่ถ้วน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในที่สุดจิตจะยอมรับความจริงในข้อนี้ (หรือที่ท่านพระพุทธทาสชอบเรียกว่าให้ละตัวกู ของกู)  อันนำไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ ที่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของพระพุทธศาสนา   

ดูจิตมีอะไรดี ?

  1. ดูจิต คือการเรียนธรรมะที่ “เรียบง่ายและธรรมดาที่สุด” ไม่จำเป็นต้องรู้คำศัพท์ทางศาสนายาก ๆ หรือนั่งท่องพระไตรปิฎก เพราะจุดมุ่งหมายคือการเรียนรู้กายและใจของตัวเอง ให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น (อุปทาน) อันเป็นสาเหตุทำให้เรา ๆ มีความทุกข์กัน
  2. การดูจิตสามารถทำได้ “ทันที” , “ที่นี่” และ  “เดี๋ยวนี้” ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยมักเข้าใจผิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องทำอะไรที่มันดูยาก ๆ, เคร่งเครียด, น่าเบื่อ, หรือต้องใช้เวลา เนื่องจากตนไม่มีเวลาจึงไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ ซึ่งความจริงเราสามารถเรียนธรรมะด้วยการฝึกสติได้ตลอดเวลา ด้วยใจที่ปกติสบาย ๆ ไม่ว่าจะดูทีวี, กินข้าว, เล่นเน็ต, อาบน้ำ, ไปเที่ยว, ออกกำลังกาย ฯลฯ ล้วนสามารถฝึกสติได้ทั้งสิ้น
  3. ธรรมทั้งปวงรวมที่จิต (ตามที่ครูบาอาจารย์ได้กล่าวไว้) ดังนั้นการดูจิตคือการเรียนรู้ธรรมะภาคปฏิบัติที่เป็นเส้นทางตรง ไม่อ้อม ช่วยให้ถึงจุดหมายปลายทางได้ไวขึ้นและไม่หลงทาง
  4. หากพูดถึงในแง่ของบุญกุศลสำหรับคนชอบทำบุญ  การดูจิตเปรียบเสมือนการทำวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นภาวนาบารมี ซึ่งเหนือกว่าศีลและทาน (อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "วิธีสร้างบุญบารมี" สมเด็จพระสังฆราชฯ) ดังนั้นจึงเสมือนเป็นการทำบุญโดยไม่เสียสตางค์ และเป็นบุญสูงสุด ทำได้ทุกที่ ทุกเวลาตามกำลังสติที่เรามี
  5. เส้นทางนี้มีกัลยาณมิตรที่เดินเส้นทางเดียวกันมากมาย เมื่อติดปัญหาหรือไม่เข้าใจสิ่งใดจึงมีช่วยตอบข้อสงสัยได้ มีแหล่งข้อมูลให้ศึกษาอยู่เยอะ (เสียงธรรมของพระอริยเจ้าในเว็บนี้ก็มักสอนเรื่องสติอยู่บ่อย ๆ) ถึงที่สุดแล้วหากศึกษาด้วยตัวเองเต็มที่แล้วยังมืดบอดอยู่ ก็มั่นใจได้ว่ามีพระสุปฏิปันโนที่สามารถตอบข้อซักถามของเราได้แน่นอนในยุคปัจจุบัน

ต้องดูนานแค่ไหน ?

อันนี้ไม่สามารถตอบได้ เพราะขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่และบารมีของแต่ละท่าน ใครขยันเดินก็ไปได้ไกลว่า (แล้วต้องเดินให้ถูกทางด้วย) แต่มั่นใจได้ว่าถึงแน่เพราะมีพุทธวัจนะรับรองไว้ว่า บุคคลใดเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ย่อมหวังความดับทุกข์ได้แน่นอนอย่างเร็ว 7 วัน  อย่างกลาง 7 เดือน หรืออย่างช้า 7 ปี

จะเห็นได้ว่าแม้คนที่คิดว่าตัวเองไม่ได้มีบุญบารมีอะไร ฉันจะทำได้หรือ ?  ก็มั่นใจได้เลยว่าทำได้แน่นอนตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ แต่โดยทั่วไปหากฝึกสติในระดับหนึ่งแล้ว จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัด จิตจะรู้ ตื่น เบิกบาน ไม่ค่อยมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด หรืออารมณ์เพี้ยน ๆ ทั้งหลายเท่าใดนัก

มีอานิสงส์อย่างไร ?

อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว ในเบื้องปลาย อานิสงส์ของการเจริญสติคือความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง หากอานิสงส์เบื้องปลายมันดูเหมือนจะห่างไกลจากความรู้สึกเราก็ขอให้ลองมาดูใกล้ ๆ ตัว ท่านอาจจะเคยได้ยินว่ามีคนเข้ากรรมฐานที่วัดแล้วชีวิตเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น เลิกติดเหล้าติดการพนัน, หน้าที่การงานดีขึ้น, การค้าเจริญขึ้น แล้วก็อาจเกิดความสงสัยว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร

จากการที่ webmaster ได้ศึกษาผู้ที่เข้ากรรมฐานที่วัดอัมพวัน (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) (สามารถหาอ่านได้ในหนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติในเว็บ)  ขอสรุปตามความเข้าใจดังนี้

หากท่านลองพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า ความหายนะ ความเลวร้ายในชีวิตของคนเราล้วนมาจากการขาดสติทั้งสิ้น เช่นการโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง, การทะเลาะตบตีกันในครอบครัว, การปล้นฆ่า, สามีมีผู้หญิงอื่น, ติดการพนัน, กินเหล้าเมายา ฯลฯ โดยรวมคือการละเมิดศีล 5 อันเป็นธรรมแห่งความ “ปกติ” ของคนเรา

คนเราทุกคนล้วนมีกิเลสตัณหา มีความโลภ โกรธ หลงด้วยกันทุกคน ดังนั้นหากขาดสติเมื่อไร ก็พร้อมที่จะเผลอทำกรรมชั่วได้เสมอ ในขณะที่ฝ่ายกรรมดี อันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ก็แทบจะไม่ได้ทำเลย

การมีสติจึงเสมือนเป็นตัวช่วยคุมให้เรามีความเป็น “ปกติ” คืออยู่ในกรอบของศีล เช่น เมื่อเราโกรธมาก ๆ ก็จะรู้ตัวไม่ทำการประทุษร้ายใคร, โลภมาก ๆ ก็จะรู้ตัวไม่ไปทำการปล้นหรือโกงใคร ฯลฯ  ดังนั้นกรรมชั่วจึงแทบไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ในขณะที่ฝ่ายกรรมดีคือ ศีล และภาวนาได้ทำทุกวันจนเป็นอาจิณกรรม

เมื่อเปรียบเทียบฝ่ายที่ไม่ค่อยมีสติกับฝ่ายที่สติดีในทางคณิตศาสตร์ก็จะเห็นภาพชัดขึ้น ฝ่ายแรกนั้นดูเหมือนจะมีเรื่องให้ติดลบอยู่เนือง ๆ อาจจะได้คะแนนบวกบ้างในบางครั้ง ส่วนฝ่ายที่สองนั้นเรื่องติดลบแทบไม่เกิด แต่ได้คะแนนบวกอยู่ทุกวัน เมื่อเวลาผ่านไปเป็นหลายเดือน หลายปีผลรวมด้านกุศลกรรมของทั้งสองคงจะต่างกันอย่างเทียบไม่ติดเลยทีเดียว นี้เป็นเหตุผลหนึ่ง

แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือคำสอนของหลวงพ่อจรัญซึ่งหากพิจารณาดูก็จริงทีเดียว ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะดีมักจะเป็นคนที่ขยัน เบิกบาน มีความคล่องแคล่ว ว่องไว ใครมีหน้าที่อะไรก็จะปฏิบัติตามหน้าที่ตัวเองได้อย่างดี เช่นเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่, เป็นสามีที่ดีต่อภรรยา ครอบครัวมีแต่ความอบอุ่น การงานก็จะมีความเจริญก้าวหน้าอันเกิดจากความขยัน ความมีสติก่อให้เกิดสมาธิ ปัญญาจึงตามมา สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้ นี้จึงเป็นอานิสงฆ์ของการเจริญสติที่เห็นได้ชัดเจน

…………………………………………………………………………       

               เอาหละ ... เรียนรู้ให้เข้าใจคอนเซ็ปภาพรวมก็พอ หากท่านมีข้อสงสัยประการใดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเองครับ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้วิธีการปฏิบัติจากครูบาอาจารย์ให้ถูกต้องเพื่อให้ไม่เดินหลงทางหรือปฏิบัติผิด ๆ ไป ซึ่งทางเว็บจะพยายามรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ไว้ให้ทุกท่านได้ศึกษากัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายท่านเข้าใจเลย ตรงกันข้ามเป็นธรรมะที่อ่านง่ายกว่าที่คิดมากเลยครับ

ขอให้เจริญในธรรมกันทุก ๆ ท่าน
Fungdham.com

เราพูดถึงอยู่เสมอถึงคำว่า “สติปัญญา”
เราใช้ปัญญาอยู่เสมอก็จริง  แต่สตินั้นแท้จริงแล้ว
เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่สตินั้นมีคุณค่าต่อชีวิต
และจำเป็นแก่ชีวิต มีคุณค่าเหลือที่จะประมาณได้

(พระธรรมสิงหบุราจารย์ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี)

 

จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ

(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

 

คำสำคัญ (Tags): #สติ
หมายเลขบันทึก: 215521เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท