คติที่ ๑๔ ชีวิตของเราไม่พอแก่การปฏิบัติธรรม


คติธรรมของหลวงพ่อเป็นคติปฏิบัติคือได้ปฏิบัติแล้ว ได้ทดลองแล้ว คือได้นำปริยัติมาปฏิบัติแล้ว เกิดผลในทางปฏิบัติแล้ว

คติที่ ๑๔ ชีวิตของเราไม่พอแก่การปฏิบัติธรรม


"สว่างแล้วหรือ ทำไมสว่างเร็วนัก ยังปฏิบัติธรรมไม่ได้แค่ไหนเลย ก็สว่างเสียแล้ว เดี๋ยวก็วันเดี๋ยวก็คืน โอ้! ชีวิตของเราไม่พอแก่การปฏิบัติธรรม ชีวิตของเราสั้นนัก"
นี่คือ คำอุทานของหลวงพ่อ


อุบาสิกาถนอม อาสไวย์ เป็นผู้เล่า วันหนึ่งคืนหนึ่งหลวงพ่อไม่ได้นอนเลย ใช้เวลาจำวัดเพียง ๒ ชั่วโมงเท่านั้น ควบคุมการปฏิบัติธรรมตลอด พอท่านสั่งวิชาเสร็จ ท่านจะบอกว่าขอนอนหน่อยหนึ่ง แล้วท่านจะหลับทันที พวกเรานอนแล้ว แต่ไม่หลับ เราอยากหลับแต่ไม่หลับ ไม่รู้ว่าหลวงพ่อท่านทำอย่างไร หากท่านปรารถนาจะหลับแล้วเป็นต้องหลับได้ทันทีทันใด


อุบาสิกาถนอม อาสไวย์ เล่าด้วยความภาคภูมิว่า "หลวงพ่อเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกเรื่อง ทำวัตรเย็นทำวัตรเช้าและให้โอวาทพระเณร หลวงพ่อไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว ก่อนเข้าอุโบสถ์ต้องปลงอาบัติทุกครั้งแล้วเทศน์ หลวงพ่อคุมวิชาพวกเรา กวดขันจนพวกเรากระดิกตัวไม่ได้เลย เอาจริงเอาจังตลอดเวลา ใครทำวิชาได้ดีหลวงพ่อชมเชย หากใครตอบวิชาไม่ได้ หลวงพ่อจะให้แก้ตัวถึง ๓ ครั้ง หาก ๓ ครั้งแล้วยังไม่ได้อยู่อีก ท่านจะถามคนต่อไป หลวงพ่อท่านถามป้าปุกเรื่องต้นหว้ารักษาชมพูทวีป ป้าปุกไม่ตอบ บังเอิญหลวงพ่อมาถามฉัน ฉันก็ตอบหลวงพ่อตามที่ฉันเห็น ฉันเห็นอย่างไรฉันก็พูดอย่างนั้น บังเอิญ แท้ๆ ที่ตอบถูก หลวงพ่อชอบใจ"


พอพวกเรารู้ว่า หลวงพ่อบันเทิงอารมณ์ ศิษย์ทั้งหลายมาขอเงินกันใหญ่ หลวงพ่อเซ็นให้ทั้งนั้น เอาลายเซ็นไปเบิกเงินจากไวยาวัจกรคือโยมประยูร สุนทารา วันนั้นโยมประยูรจ่ายเงินไม่น้อย หากตอบความรู้วิชาธรรมกายถูกแล้ว วันนั้นต้องได้เงินใช้ หากตอบความรู้ไม่ได้แล้ว หลวงพ่ออารมณ์ไม่บันเทิง ไม่พอใจในความพากเพียรของลูกศิษย์


นี่คือประวัติมุมหนึ่ง ที่รุ่นครูอาจารย์ของเราศึกษาเล่าเรียนวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อ


อีกองค์หนึ่ง ที่นั่งหลับตาทำความเพียรตลอดคืน คือหลวงปู่ชั้ว โอภาโส หลวงปู่ชั้วเป็นคนบ้านเดียวกับหลวงพ่อ เห็นท่านที่ไหนท่านจะอยู่ในอิริยาบถเจริญภาวนาเสมอ เคยถามท่าน ท่านก็ตอบว่า "คืนกับวันมันสั้นไป ยังไม่จุใจหลวงปู่"


พูดถึงความหลังรุ่นเกจิอาจารย์ ข้าพเจ้ามีโอกาสดีมาก ที่ได้รู้จักและได้รับความรู้จากท่าน เช่น อุบาสิกาญาณี ศิริโวหาร คุณฉลวย สมบัติสุข แม่ชีทองสุข สำแดงปั้น ท่านเจ้าคุณภาวนาโกศลเถระ(พระมหาเจียก) สุดท้ายก็อุบาสิกาถนอม อาสไวย์ เกจิอาจารย์เหล่านี้เด่นกันไปคนละอย่าง มีความเก่งไม่เหมือนกัน ทุกท่านไม่รังเกียจข้าพเจ้า ทุกท่านบอกความรู้แก่ข้าพเจ้า จนเรารับไม่ไหว เกินปัญญาทีเราจะเรียน เราเรียนไม่ไหว มันยากไปหมด ยิ่งเรียนก็ยิ่งไม่รู้ เหตุใดชีวิตของข้าพเจ้าจะต้องมาวนเวียนกับเกจิอาจารย์เหล่านี้ ทั้งที่เราก็รับราชการ เรามีราชการที่ต้องทำ แต่ชีวิตของผมจะต้องโคจรมาพบเกจิอาจารย์หัวกะทิทั้งนั้น เหตุใดชีวิตของเราจะต้องมาพบอย่างนี้


นี่คือประเด็น ถามตัวเองมานานแล้ว ถามแล้วก็ตอบไม่ได้
เพิ่งตอบคำถามได้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ นี่เอง


การได้พบเกจิอาจารย์ฝีมือธรรมกายชั้นครูทั้งปวงนั้น ธาตุธรรมในนิพพานท่านจัดคิวให้ทั้งนั้น ท่านเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง โดยทีเราไม่รู้ เนื้อหาสาระก็คือ ต้องการให้ข้าพเจ้าปราบมาร ก่อนที่จะปราบ ต้องให้มาพบเกจิอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาธรรมกายเสียก่อน เป็นการปูพื้นฐานความรู้ เป็นการมารู้ข้อมูลเบื้องต้น เกจิอาจารย์ท่านจะถ่ายทอดวิชาอะไรและเรื่องราวอะไร เราก็รับฟังโดยดี จำความรู้จำเรื่องราวเท่าที่จะทำได้


ที่ข้าพเจ้าแปลกใจว่า ทำไมเกจิอาจารย์ท่านดีต่อเราเหลือเกิน ก็เพิ่งทราบในตอนที่ทำวิชาปราบมาร


สุดท้าย ข้าพเจ้าก็รับเละ คือถูกธาตุธรรมท่านให้ทำวิชาปราบมารตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นต้นมาตราบเท่าทุกวันนี้ เนื้อหาสาระงานปราบมารเป็นอย่างไรนั้น ขอให้ท่านอ่านหนังสือ ปราบมารภาค ๑-๕ ซึ่งเผยแพร่ไปแล้ว หากท่านอยากทราบเรื่องราว โปรดติดตามหาอ่าน


*******************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือคติธรรม คตินิยม การดำเนินชีวิต ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

 

หมายเลขบันทึก: 215311เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท