ลาวเวียง กับ นาค


ช่อฟ้าหรือในภาษาถิ่นอีสานเรียก โหง่ ส่วนใบระกาในภาษาถิ่นอีสานเรียก ป้านลม โดยทั้งสองอย่างนี้เป็นส่วนประดับของสถาปัตยกรรมอีสานมีที่มาดังนี้

                โหง่ นั้นมีรูปร่างเป็นพระยานาคความเชื่อของคนอีสานผูกพันอยู่กับตำนานเรื่องครุฑจับนาคโดยมีตำนานว่า[1] ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อพระยาครุฑจับพระยานาคได้และหมายจะฉีกกินเป็นอาหาร ฝ่ายพระยานาคกลัวตายจึงนิมิตลำตัวให้ยาวออกไป แล้วเอาหางเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ไว้  ฝ่ายพระยาครุฑก็ใช้กำลังฉุดจนกระทั่งต้นไม้ใหญ่ถอดรากล้มลงไป จนกระทั่งผ่านมาถึงกุฏิอันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระยานาคก็นิมิตรหางให้ยาวออกเอาหางไปพันไว้ที่อกไก่ของกุฏินั้น พระยาครุฑดึงจนกุฏินั้นสะเทือน พระพุทธเจ้าซึ่งประทับในนั้นเห็นดังนั้นจึงสงสารเลยกล่าวพระคาถาไล่ครุฑ ฝ่ายพระยาครุฑตกใจจึงปล่อยนาคเอาไว้ แล้วหนีไป นาคเมื่อเห็นพระยาครุฑหนีไปจึงหดตัวมาพันที่อกไก่และมาพิจารณาว่า หากแม้นไม่ได้อกไก่บนกุฏิของพระพุทธเจ้าแล้วคงโดนพระยาครุฑฉีกกินเป็นแน่ เมื่อรำลึกถึงคุณเช่นนี้แล้วจึงคลายตัวออกจากอกไก่นิมิตตนเป็นคนแล้วเข้าไปกราบพระพุทธเจ้า โดยปวารณาขอเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บริเวณอกไก่ของกุฏิ วิหารเป็นโหง่มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นก็เลื้อยเป็นส่วนประดับอาคารส่วนอื่น ๆ อีกเช่น หน้าบัน คันทวย บัวหัวเสา บันได เป็นต้น
                ในหนังสือ  นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ของสุจิตต์ วงษ์เทศได้กล่าวถึงนาคที่เกี่ยวข้องกับคนลาวและการสร้างเวียงจันทบุรีที่สองฝั่งแม่น้ำโขงว่า[2] บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงทั้งที่กำแพงนครเวียงจันทน์และเมืองศรีเชียงใหม่ฝั่งไทยเป็นเมืองเวียงจันท์แต่โบราณมาแล้วตามนิทานปรำปราบอกไว้ในหนังสืออุรังคธาตุว่า มีบุรุษเข็ญใจผู้หนึ่งชื่อ บุรีจันอ้วยล้วย เกิดในตระกูลชาวนาเรียกพ่อนา ตั้งบ้านอยู่ที่ หนองคันแทเสื้อน้ำ พ่อนาคนนี้ทำบุญเป็นประจำ ต่อมามีเหตุ พญานาคเห็นพฤติกรรมทำบุญของ พ่อนา จึงเนรมิตให้มีรูปงามและมีลาภยศมากมายพร้อมทั้งเนรมิตบ้านเรือนภายหลังได้ชื่อว่า เวียงจันทบุรี แล้ถูกอุ้มสมได้กับนางอินทรสว่างลงฮอด ธิดาเจ้าคำบงจึงยกแคว้นเมืองสุวรรณภูมิให้บุรีจันครอบครองทั้งหมด
                นาคนั้นเป็นสัญลักษณ์ของชาวลาวเนื่องจากคนลาวเชื่อว่าตนเองสืบสกุลมาจากนาค จึงใช้นาคเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21521เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2006 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท