การใช้ศัพท์คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง


คำศัพท์คอมพิวเตอร์ที่มักจะใช้ผิด

        โลกของวิทยาการและเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งและพัฒนาไปอย่างรวด เร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาตลอดเวลา ถึงขนาดที่ว่าถ้าคุณไม่ได้ติดตามเรื่องราวของเทคโนโลยีไปหนึ่งวัน คุณก็อาจจะตกเทรนด์เทคโนโลยีไปเลยก็ว่าได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีคำศัพท์ทางด้านเทคโนโลยี ทางด้านคอมพิวเตอร์ออกมาใหม่ ๆ มากมาย ผู้ใช้อย่างเราๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้ โดยตรงจึงต้องตามให้ทันคำศัพท์ใหม่ ๆ เหล่านี้ แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการ แม้ว่าเราจะติดตามสถานการณ์เทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลาแล้วก็ตามที แต่ก็ยังพบว่ายังมีการใช้คำศัพท์ทางด้านนี้ผิดๆ ถูกๆ อยู่เสมอ ซึ่งปัญหาการใช้ศัพท์ไม่ถูกต้องดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากปัญหาในหลายๆ รูปแบบ ดังต่อไปนี้

คำทับศัพท์ที่มักจะเขียนผิด

        การบัญญัติศัพท์ในบางครั้งจำ เป็นต้องใช้คำทับศัพท์ แต่ก็มักจะมีผู้ใช้สับสน เขียนผิด เนื่องจากไม่รู้วิธีการเขียนคำทับศัพท์ที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น

        internet อินเทอร์เน็ต เขียนเป็น อินเตอร์เน็ต

        digital ดิจิทัล เขียนเป็น ดิจิตอล

        graphic กราฟิก เขียนเป็น กราฟฟิก

        click คลิก เขียนเป็น คลิ๊ก

        mouse เมาส์ เขียนเป็น เม้าส์

        electronics อิเล็กทอรนิกส์ เขียนเป็น อิเล็กโทรนิคส์

        web site เว็บไซต์ เขียนเป็น เว็บไซท์

        script สคริปต์ เขียนเป็น สคริปท์

        software ซอฟต์แวร์ เขียนเป็น ซอฟท์แวร์

        browser เบราว์เซอร์ เขียนเป็น บราวเซอร์

        bandwidth แบนด์วิดท์ เขียนเป็น แบนด์วิดธ์

        e-mail อีเมล เขียนเป็น อีเมล์

คำศัพท์บัญญัติที่มักเขียนผิด

        ศัพท์บัญญัติบางคำที่บัญญัติขึ้นมามีผู้นิยมใช้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่มักจะเขียนผิดอยู่เสมอก็มี เช่น Globalization แปลตามศัพท์บัญญัติว่า โลกาภิวัตน์ แต่มักเขียนผิดเป็น โลกาภิวัฒน์ Video แปลตามศัพท์บัญญัติว่า วีดิทัศน์ แต่มักเขียนผิดเป็น วิดีทัศน์, วีดีทัศน์

คำที่แปลผิดความหมาย

        คำศัพท์บางคำผู้แปลแปลขึ้นมาโดยเข้าใจว่า เป็นคำแปลที่ถูกต้อง จึงเผยแพร่จนเกิดการนิยมใช้อย่างแพร่หลาย แต่ปรากฏว่าเป็นคำแปลที่ผิด สื่อความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากรูปศัพท์เดิมอย่างสิ้นเชิง การแก้ไขก็ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะมีการใช้กันในวงกว้างจนกลายเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เช่น

        graph กราฟ หรือที่ใช้ในวงวิชาการว่า แผนสถิติ แต่ปรากฏว่าในโปรแกรม Microsoft Office กลับใช้คำว่า แผนภูมิ ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า chart ไม่ใช่ graph
virtual reality ความเป็นจริงเสมือน (หมายถึงการที่ผู้ใช้ใส่ถุงมือสัมผัสและจอภาพสวมศีรษะแล้วจะเสมือนเข้าไป อยู่ในความจริงของสิ่งแวดล้อมที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น) แต่เรามักจะพบว่ามีการแปลคำว่า

        virtual reality ว่า ความจริงเสมือน ซึ่งหากจะใช้คำว่าความจริงแล้วรากศัพท์ต้องมาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า truth

        ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วน หนึ่งของการใช้ศัพท์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ปัญหาดังกล่าวหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก็จะกลายเป็นความเคยชิน ทำให้ภาษาผิดเพี้ยนไปในที่สุด

        อ้างอิง : ict newsletter ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมการแพทย์ ฉบับที่ 27, ปักษ์แรก ตุลาคม 2551

คำสำคัญ (Tags): #ศัพท์คอม
หมายเลขบันทึก: 214895เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2008 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท