งานและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับงาน: เตรียมจัด KM Workshop (6)


การเรียนรู้และฝึกปฏิบัติร่วมกันใน WS จะช่วย "เปิดมุมมองใหม่" เกี่ยวกับ “ความสำเร็จ” รวมทั้งเทคนิคต่างๆ ในการเล่าเรื่อง

วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องให้อิ่มเอมใจตั้งแต่ก้าวเข้าสำนักฯ เมื่อได้เจอกับ พี่นุช นงนุช ตันติธรรม กลุ่มป้องกันการบาดเจ็บ เจอหน้ากันพี่นุชก็บอกว่า พอรู้ว่าสำนักฯ จะทำ KM เลยต้องไปหาหนังสือเกี่ยวกับ KM มาอ่าน เป็นเล่มของ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เรื่อง การจัดการความรู้ (KM) ฉบับขับเคลื่อน LO” :>

 

ภารกิจในการเตรียมซักซ้อม SST ของผู้เขียนยังไม่เรียบร้อยดี เพราะยังไม่ได้ทดลองในกลุ่มเจ้าหน้าที่บริหาร/สนับสนุน สายๆ วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่ได้คุยกับ น้องนัน-นฤมล พลับพลา เจ้าพนักงานธุรการ ที่รับผิดชอบงานการเจ้าหน้าที่ น้องนัน เป็นคนแรกและคนเดียวในกลุ่มที่ผู้เขียนคุยด้วยแล้วสามารถเล่า success story ได้ทันที เดิมผู้เขียนจะส่งเป็นตัวอย่างเรื่องเล่าให้ทีม สคส. แต่เปลี่ยนใจอยากเก็บไว้ เปิดตัว ใน WS เพราะผู้เขียนเห็นว่า เรื่องเล่า ของ น้องนัน มีพลังมาก เพราะนอกจากจะมี ความสำเร็จ แล้ว ยังมี ความหวัง-ความฝัน ที่จะพัฒนางาน พัฒนาทีมที่ร่วมทำงานด้วยกันให้มีระบบ มีคุณภาพมากขึ้น และ น้องนัน ไม่ได้คิดทำสิ่งนี้เพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก แต่ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของงานและคนที่มารับบริการจากงานของ ฝ่ายการเจ้าหน้าที่ เป็นเป้าหมายสำคัญ ู้เขียนเองก็ตกปากรับคำไปแล้วว่า เมื่อกลับจาก WS ถ้า น้องนัน อยากทำกิจกรรมอะไรเพื่อบรรลุความฝันนี้แล้ว ผู้เขียนยินดีช่วยอย่างเต็มที่

 

จากที่ได้เตรียมการ ซักซ้อมและสุ่มหาตัวอย่าง เรื่องเล่าความสำเร็จ ภายในสำนักฯ มาเกือบสองสัปดาห์ กับพี่ๆ น้องๆ ประมาณสิบคน จากทั้งหมดที่คาดว่าจะไปร่วม WS ราว 48 คน ผู้เขียนพบว่า ถ้าใช้วิธีถามตรงถึงความสำเร็จในการทำงาน ทั้งหมดจะตอบคล้ายกันในทันทีว่า ไม่มีแล้วทำท่าคิดอยู่นานพอสมควรแล้วบอกว่า นึกไม่ออก ไม่น่าจะมี ในทางตรงกันข้ามเมื่อเอ่ยถามถึงปัญหาในการทำงานก็พบว่า แต่ละคนมีเรื่องราวมาเล่ากันจนฟังไม่ไหว และถ้าใช้วิธีชวนพูดคุยโดยไม่ตั้งโจทย์แต่ซัก-ถามเรื่องการทำงานไปเรื่อยๆ เหมือนการพูดคุยกันตามปกติ ทุกคนก็มีเรื่องเล่าได้เรื่อยๆ เหมือนกัน และในเรื่องราวเหล่านั้นผู้เขียนมองเห็นประเด็นที่น่าเรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละคนไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ผู้เขียนคิดว่าเพราะคนส่วนใหญ่ยังมองภาพ "ความสำเร็จ" ว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่โต เป็นเรื่องที่ต้องได้รับคำยกย่องชมเชยและการยอมรับอย่างกว้างขวาง สังเกตจากบางถ้อยคำที่ว่า บางทีเราคิดว่าสำเร็จ แต่คนอื่นบอกว่าไม่ใช่ หรือบางคนมีประสบการณ์การทำงานมานับสิบปีกลับนึกถึงเรื่องราวของความสำเร็จไม่ค่อยได้ก็อาจเป็นด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น แรกๆ ผู้เขียนก็กังวลใจอยู่บ้าง แต่พอมาทบทวนดูว่า เรื่องเล่าความสำเร็จ ยังเป็นเรื่องใหม่ไม่ใช่สิ่งที่คุ้นชินสำหรับทุกคน ย่อมเป็นธรรมดาที่มันอาจยังเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ตัวผู้เขียนเองได้มีโอกาสเรียนรู้และสังเกตการณ์มาแล้วหลายเวที ถ้าให้เล่าก็ยังต้องใช้เวลาสำหรับคิดทบทวนและเรียบเรียงพอสมควรเหมือนกัน เมื่อคิดได้อย่างนี้จึงสบายใจ ไม่กังวล เพราะหวังไว้ว่า การเรียนรู้และฝึกปฏิบัติร่วมกันใน WS จะช่วย "เปิดมุมมองใหม่" เกี่ยวกับ ความสำเร็จ รวมทั้งเทคนิคต่างๆ ในการเล่าเรื่อง ซึ่งจากพื้นฐานที่พี่ๆ น้องๆ ในสำนักฯมีความกระตือรือล้นอยากจะเรียนรู้อยู่แล้ว ก็เชื่อได้ว่าเราน่าจะกลับมาร่วมกันสานต่อกิจกรรมนี้ให้ดีและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนางานได้ในโอกาสต่อๆ ไป

 

ผู้เขียนดีใจที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทำภารกิจนี้ เพราะนอกจากจะได้ฝึกและพัฒนาทักษะในการฟัง พูด คิด อ่าน เขียนของตนเองแล้ว ยังได้เรียนรู้มากมายจากเรื่องราวที่ได้ไปสุ่มฟังมาก่อนคนอื่นๆ :>

 

(5)

 

ปลาทูแม่กลอง

3 ตุลาคม 2551

หมายเลขบันทึก: 214353เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2008 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท