คุยกันฉันเพื่อน ฉบับที่ 1 (3 ตุลาคม 2551)


ธีออส : ภารกิจอันยิ่งใหญ่

ธีออส..ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย


                            อาริสา ปานเทวัน

เหลือเวลาไม่ถึงปี ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อดาวเทียมธีออส  (THEOS :Thailand Earth Obser-vation Satellite)  จะขึ้นสู่วงโคจรในเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 ที่ประเทศคาซักสถาน  อวดศักยภาพบันทึกข้อมูลภาพได้ทั่วโลก และสามารถรับข้อมูลได้อย่างทันทีในลักษณะใกล้เวลาจริง โดยขณะนี้ตัวดาวเทียมอยู่ระหว่างรอการทดสอบเชิงกลศาสตร์ ส่วนความพร้อมโครงสร้างภาคพื้นดิน (Ground Infrastructure) สทอภ.ได้กำหนดให้สถานีรับสัญญาณดาวเทียมเดิมของสทอภ.ที่เขตลาดกระบังเป็นที่ตั้งรับสัญญาณ (X-band) และผลิตข้อมูล (Image Ground Segment: IGS) และได้สร้างสถานีควบคุมดาวเทียมธีออส ซึ่งตั้งอยู่ในอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งจะเป็นที่ติดตั้งระบบ Control Segment: CGS และ S-band Station

ธีออสได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 5 ปี (Design Life) เช่นเดียวกับดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO : Low Earth Orbit) แต่อาจมีอายุการใช้งานได้นานกว่าที่ออกแบบไว้ สามารถสำรวจได้ครอบคลุมทั่วโลก บันทึกข้อมูลได้ทั้งในช่วงที่คลื่นตามองเห็น (Visible) สามช่วงคลื่น คือ ช่วงคลื่นแสง สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน และช่วงคลื่น อินฟราเรดใกล้ (Near Infrared) การโคจรของดาวเทียม ขณะอยู่ในช่วงที่มีแสงสว่างจะมีอุณหภูมิสูงประมาณ 200 cในขณะที่โคจรกลับมาทางด้านมืดจะมีอุณหภูมิต่ำประมาณ -200 c  ส่วนประกอบของดาวเทียมจึงต้องมีสภาพทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ดังนั้น จึงใช้ส่วนประกอบที่ผลิตจาก Silicon Carbide ซึ่งมี คุณสมบัติเหมาะสมต่อการทนสภาพอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง

ธีออส มีน้ำหนัก 750 กก.โคจร ในระดับความสูง 822 กม. ซึ่งเป็นวงโคจรเดียวกับ ดาวเทียม SPOT มีระบบการบันทึกภาพสองระบบ คือ Panchromatic กับระบบ Multispectral โดย Panchromatic จะเป็นระบบที่แสดงภาพเป็นขาว-ดำ รายละเอียดภาพสองเมตร ความกว้างแนวถ่ายภาพ 22 กม.ส่วน Multispectral จะแสดงเป็นภาพสี รายละเอียดภาพ 15 เมตร ความกว้างของแนวถ่ายภาพ 90 กม. On-board Memory ที่ 51 GB ในกรณีที่ดาวเทียมโคจร ไปในจุดที่ไม่มีสถานีรับสัญญาณก็สามารถที่จะเก็บภาพไว้บนตัวดาวเทียม ซึ่งสามารถเก็บได้ถึง 100 ภาพ ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของดาวเทียม THEOS คือ สามารถเอียงกล้องไปได้มากที่สุด (Maximum) 50 องศา

จากการที่ไทยเป็นเจ้าของดาวเทียมธีออสโดยสมบูรณ์ ทำให้ไทย ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมธีออสได้เต็มที่  มีสิทธิ์ขาดในการสั่งบันทึกข้อมูลภาพได้ทั่วโลก และสามารถรับข้อมูลได้อย่างทันทีในลักษณะใกล้เวลาจริง (Near Real Time) เมื่ออยู่ในพื้นที่ครอบคลุมการรับสัญญาณของสถานีภาคพื้นของ สทอภ.ที่ ศรีราชา อีกทั้งข้อมูลภาพของดาวเทียมธีออส มีความใกล้เคียงกับดาวเทียมหลายดวงที่ได้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว เช่น ภาพขาวดำมีรายละเอียดใกล้เคียงกับภาพจากดาวเทียม SPOT และ ดาวเทียม IKONOS ภาพสีมีรายละเอียดเทียบเท่ากับภาพจากดาวเทียม LANDSAT จากศักยภาพของกล้องถ่ายภาพของดาวเทียมธีออส ทำให้ทุกภาคส่วนของรัฐสามารถเลือกใช้ประโยชน์ตามความต้องการได้อย่างกว้างขวาง

ข้อมูลต่างๆ จากดาวเทียมธีออส สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสำรวจหาข้อมูลและทำแผนที่เพื่อการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เช่น การสำรวจหาพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ การสำรวจหาพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกบุกรุกทำลาย การประเมินหาพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ การสำรวจหาพื้นที่สวนป่า การสำรวจ หาพื้นที่ที่ทำนากุ้งและประมงชายฝั่ง การสำรวจหามลพิษจากคราบน้ำมันในทะเล การสำรวจหาแหล่งน้ำ การสำรวจแหล่งชุมชน การวางผังเมือง การสร้างถนน และการวางแผนจราจร การทำแผนที่ การสำรวจหาพื้นที่เกิดอุทกภัย การสำรวจหาพื้นที่แผ่นดินถล่ม และสำรวจหาพื้นที่ที่ประสบภัยสึนามิ (Tsunami) เป็นต้น

โครงการพัฒนาดาวเทียมธีออส  เป็นผลงานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศส   โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ สทอภ. (องค์การมหาชน)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ร่วมกับบริษัท EADS ASTRIUM  ประเทศฝรั่งเศส ใช้งบประมาณตลอดโครงการ 6,000 ล้านบาท


ที่มา: วารสาร  Engineering Today ปีที่ 5 ฉบับที่ 50  กุมภาพันธ์  2550  หน้า  87

หมายเลขบันทึก: 213798เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้มีโอกาส อ่านบทความของคุณ อาริสา เลยเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าติดตามเลย หยิบมาฝากผองเพื่อน ช่วยกันอ่านและติดตามเรื่องราวดี ๆ ต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท