การเมืองแนวคิดใหม่ในมิติทางประวัติศาสตร์ : ยุทธการหลังพิงฝาและการนำพาประเทศถอยหลังเข้าคลอง


...ความบีบคั้นของสถานการณ์ที่ไม่อาจมองเห็นชัยชนะ บางครั้งก็อาจกดดันให้ขุนพลระดับผู้บัญชาการต้องคิดหาจุดเปลี่ยนอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เพื่อหวังว่าจะมีจุดเปลี่ยนสำคัญบางอย่างเกิดขึ้น...

เรื่อง-

ในคราวทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม สหรัฐอเมริกาได้รับบทเรียนอย่างเจ็บปวดที่สุดจากพลเมืองที่พวกเขาเคยดูถูกว่าด้อยพัฒนา และประเมินว่ากองทัพของตนมีกำลังเหนือกว่าหลายขุม ทำให้ตัดสินใจกระโจนเข้าสู่สงครามอย่างเปิดเผยเต็มตัว โดยที่ลืมคิดไปสนิทว่าทหารเวียดนามเป็นคนของประเทศมีความชำนาญพื้นที่ และเชี่ยวชาญการรบในป่ามากกว่าตน

                จากความพยายามทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่เพื่อพิชิตชัยในสงครามที่พวกเขามองว่าเป็นต่อหลายเท่าตัว ความกระหายชัยชนะ ที่นักรบทุกคนถูกกระตุ้นมาว่าอีกไม่นานเกินรอ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองกำลังของพวกเขาอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าความคาดหมาย สถานการณ์ที่บีบคั้นอยู่ตลอดเวลาจากยุทธการรบแบบกองโจรของฝ่ายตรงข้าม และความลำบากของการดำรงชีวิตในป่าดิบ ทหารที่จากบ้านมาเป็นเวลานานเริ่มคิดถึงบ้าน เบื่อหน่ายการรบติดพันยืดเยื้อไม่มีทีท่าว่าจะจบ ทำให้กำลังใจของกำลังรบเริ่มถดถอยลงทุกที และนั่นคือสาเหตุของความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของมหาอำนาจในสงครามเวียดนามในที่สุด

                แตกต่างจากทหารเวียดกง พวกเขาพอใจที่จะมุดอยู่ในรูใต้ดินกลางป่าใหญ่อย่างเงียบเชียบ รอเวลาที่ทหารสหรัฐประมาทเลินเล่อ แล้วเข้าโจมตีอย่างรวดเร็ว พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอย่างคุ้นเคยในป่าเพราะเคยลำบากมาตั้งแต่เด็ก พวกเขาไม่ต้องกระวนกระวายใจคิดถึงบ้านแม้จะต้องระหกระเหเร่ร่อน เพราะทุกที่ที่เขายืนอยู่ในเวลานั้นคือแผ่นดินเกิด และพวกเขามีกำลังใจเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่รบชนะ นั่นเพราะพวกเขาเริ่มต้นเดิมพันจากคำว่าแพ้ ซึ่งต่างอเมริกาที่ยาตราทัพเข้าสู่สมรภูมิด้วยคำว่าจะชนะถ่ายเดียว ดังนั้นเมื่อรบไปเป็นเวลานานพวกเวียดนามจึงเหมือนพบแต่กำไรเพราะไม่มีทุน

                การรบที่ยืดเยื้อไม่เป็นผลดีต่อกองทัพที่ถูกส่งเข้าสู่สมรภูมิด้วยความฮึกเหิม และมีความหวังอยู่อย่างเดียวคือคำว่าชนะ ฉันใดก็ฉันนั้น การรบของกองกำลังประชาชนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ จนถึงการปักหลักยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นฐานที่มั่นในวันนี้ ถึงแม้จะเป็นการรบแบบมือเปล่า เป็นการรบกลางเมืองใหญ่ และฝ่ายตรงข้ามคือรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ทหาร แต่ปัจจัยสำคัญของการรบไม่ว่าแบบไหนย่อมเป็นอันเดียวกัน คือกำลังใจของกำลังพลเป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อการรบที่ดูทีท่าว่าจะยืดเยื้อ ฝ่ายที่ฮึกเหิมที่สุดเมื่อคราวเดินเข้าสงครามครั้งแรกนั่นเองจะเหนื่อยอ่อนและพ่ายแพ้ในที่สุด

                ความบีบคั้นของสถานการณ์ที่ไม่อาจมองเห็นชัยชนะ บางครั้งก็อาจกดดันให้ขุนพลระดับผู้บัญชาการต้องคิดหาจุดเปลี่ยนอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เพื่อหวังว่าจะมีจุดเปลี่ยนสำคัญบางอย่างเกิดขึ้น นั่นคือหนทางใหม่ๆ ที่จะขึ้นเพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีได้อย่างหลากหลายต่อลมหายใจไปได้อีกเฮือกหนึ่ง ซึ่งบางครั้งก็ต้องยอมเสี่ยงกับความพ่ายแพ้ที่จะตกมาสู่ตนเร็วขึ้น

                ในมหาสงครามเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นกระตุกหนวดเสือด้วยการเข้าโจมตีฐานทัพเรือของอังกฤษที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ นั่นคือความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่สุดในการตัดสินใจของแม่ผู้บัญชาการทัพ เพราะความใจร้อนและห้าวหาญเกินไปบางครั้งก็นำมาสู่การจนตรอก การรบแบบยอมตายของทหารญี่ปุ่นที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นวีรกรรมบนหน้าประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น จึงไม่อาจช่วยให้ญี่ปุ่นรอดพ้นจากการตกเป็นผู้แพ้สงครามไปได้

                สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ความเงียบงำของมหาอำนาจอย่างอเมริกาและอังกฤษ ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกอึดอัดบีบคั้นในตัวเอง ว่าที่สุดแล้วพวกนี้จะเอาอย่างไรแน่ เป็นผลให้เกิดยุทธวิธี “แหย่เสือหลับ” จนนำมาสู่การปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วยระเบิดปรมาณู ๒ ที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิในที่สุด


                ความพยายามดิ้นรนหาทางออกด้วยการใช้ยุทธวิธีใหม่ๆ ของกองทัพพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เช่นกันเห็นได้ว่าต้องใช้วิธีรุนแรงและแปลกใหม่ขึ้นเป็นลำดับ นั่นเป็นเพราะความกดดันของสถานการณ์ที่ต้องสร้างแรงสะเทือนให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อหาหนทางออก และเพื่อกระตุ้นกำลังใจของกำลังพลที่ยิ่งนานวันก็ยิ่งจะเหี่ยวเฉาลงนั่นเอง

                การบุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล จึงไม่แปลกใหม่แต่อย่างใดเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เพิร์ลฮาเบอร์

แนวคิดการเมืองใหม่ที่แกนนำทั้ง ๙ คน ร่วมกันร่างออกมาเสนอต่อสังคมล่าสุด วิเคราะห์แล้วไม่อะไรจากฝูงบินกามิกาเซ่ ที่ญี่ปุ่นส่งไปปลุกเร้าให้อเมริกาก้าวออกสู่สงคราม การใช้ยุทธการแปลกใหม่เพื่อให้สังคมเกิดวิพากษ์วิจารณ์ ก็คือหนึ่งในกระบวนการกระตุ้นสถานการณ์ให้สดใหม่อยู่เสมอ ซึ่งในบางครั้งความตีบตันของสถานการณ์ก็ไม่เปิดโอกาสให้นักรบได้เลือกเฉพาะทางที่เป็นผลบวกเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับนักแสดงที่กลัวว่าตัวเองจะตกกระแส จนต้องยอมลงทุนทำผ้าหลุดกลางงานสาธารณะให้เป็นข่าวครึกโครมฉะนั้น


                การรบ บางครั้งก็ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ยอมแพ้ แล้วเดินกลับออกจากสนามรบโดยสวัสดิภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่กำลังโรมรันพันตูกันอยู่อย่างกระชั้นชิด การหยุดรุกและรับลงกลางคันของฝ่ายใดย่อมหมายความถึงความตาย การรบประเภทนี้ถ้าหากใครถลำเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วการกลับออกได้ต้องแลกด้วยการหลั่งเลือดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

                ถึงแม้บางครั้งบางคนจะไม่ได้ตั้งใจเดินเข้าสู้สนามรบตั้งแต่แรก แต่ถูกสถานการณ์รุกเร้านำพาไปในที่สุดก็ติดพันหรือหลงระเริงจนไม่อาจถอนตัวได้ เมื่อต้องคราวต้องการจะยุติบทบาทก้าวลงจากหลังเสือจริงๆ ก็สายไปเสียแล้ว ด้วยสภาพความจำเป็นบังคับทำให้ต้องฝืนใจสู้ต่อไปจนถึงที่สุด

                สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก ได้บันทึกเหตุการณ์เมื่อคราวเกิดกบฏผีบุญในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไว้ว่า ครั้งแรกที่ได้ยินข่าวชาวมณฑลอีสานแตกตื่นเรื่องหินจะกลายเป็นทอง หมูจะกลายเป็นยักษ์ และจะมีผู้มีบุญมาช่วยปราบทุกข์ของชาวบ้านนั้น ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร คงเป็นเพียงการเล่าลือกันชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วเงียบหายไป แต่แล้วข่าวลือที่ว่านั้นกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ของอาณาจักร นั่นเป็นเพราะมีผู้สวมรอยแอบอ้างว่าตนเองเป็นผู้มีบุญ หรือผีบุญนั้นทำการรวบรวมไพร่พลได้มากมายและคิดการใหญ่จนถึงกับเป็นกบฏเข้ายึดเมืองอุบลราชธานี

                ในพระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังบอกด้วยว่า แรกเริ่มเจ้าตัวคนที่อ้างว่าเป็นผู้มีบุญนั้นก็ไม่ได้คิดการใหญ่ถึงขนาดเป็นผู้นำกบฏเข้ายึดเมืองแต่อย่างใด เป็นเพียงนักบวชที่นุ่งขาห่มขาวสัญจรไปตามชนบท เมื่อมาประจวบกับข่าวลือที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น ชาวบ้านจึงเหมาเอาว่าคนแปลกหน้าที่เข้ามานั้นเป็นผู้มีบุญตามข่าวและยอมตัวเข้าสวามิภักดิ์ เมื่อได้รับการนับถือศรัทธาเข้ามาสวามิภักดิ์รับใช้มากเข้า นักบวชพเนจรก็พลอยโจนไปตามกระแส อุปโลกน์ตนเองขึ้นเป็นผีบุญและกลายเป็นผู้นำรวบรวมผู้คนขึ้นกลายเป็นกบฏในที่สุด สุดท้ายจึงถูกทางราชการปราบปรามด้วยปืนใหญ่แตกหนีราบคาบไป (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. นิทานโบราณคดี. บรรณาคาร, ๒๕๔๓ หน้า ๒๘๓-๒๘๗)

นั่นเป็นเพราะนักบวชไม่อาจต้านทานกระแสแห่งการเรียกร้องได้ และเมื่อนำตัวเองเข้ามาสู่มวลชน อำนาจที่เกิดขึ้นจากการกุมพลังมวลชนทำให้แม้แต่ตัวผีบุญเองยังเชื่ออย่างสนิทใจว่าตนเองเป็นผู้มีบุญจริง จนลืมไปว่าตนเองแต่เดิมนั้นเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญเท่านั้นเอง

เช่นเดียวกัน ไม่ว่ายุคใดสมัยใด การมีพลังมวลชนอยู่ในมือจนสามารถแสดงความคิด ความเห็น และความต้องการของตนออกไปกระเทือนต่อสังคมระดับกว้างได้ ก็อาจทำให้บางคนลืมตัวตนไปเสียสนิทว่าเป็นราษฎรคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ด้านนิติบัญญัติไปตามความคิดเห็นส่วนตัวตราไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใดในประวัติศาสตร์

ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติซ้ำการปฏิวัติของตนเองซึ่งยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม มาอีกทอดหนึ่ง ในข้อความในประกาศบางตอนกล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นของการเข้ายึดอำนาจและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ไว้อย่างมีนัยน่าสนใจ ความตอนหนึ่งว่า

“ปวงชนชาวไทยได้เสียสละเสี่ยงภัยนำรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้เพื่อถือเอาสิทธิเสรีภาพเป็นทางจรรโลงสันติภาพ แต่มีคนบางพวกบางเหล่าที่เห็นแก่ตัวเองแอบอิงเอาระบอบรัฐธรรมนูญเป็นทางก่อกวนทำลายความสงบ ใช้สิทธิเสรีภาพเป็นเครื่องมือขัดขวางความก้าวหน้าของการงาน ก่อความร้าวฉานยุแยกทำให้แตกความสามัคคีกันในชาติ จูงใจคนให้โน้มเอียงไปในทางเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน ต้องการเห็นแต่ความยุ่งยาก เสื่อมโทรมระส่ำระสายและความแตกสลายของประเทศชาติในที่สุด เรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลร้าย เป็นพิษร้ายแรงสำหรับประเทศชาติ ไม่มีทางที่จะบำบัดด้วยวิธีการปลีกย่อยแต่ละเรื่องแต่ละราย ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีทางเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวคน และเพียงแก้ระบบบางอย่าง ประดุจโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษาด้วยยากินยาทา จำต้องใช้วิธีผ่าตัดถึงขั้นศัลยกรรม...”

ประกาศจบจอมพลสฤษดิ์ ก็จัดการฉีกรัฐธรรมนูญเก่าทิ้ง แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งมีเพียง ๒๐ มาตรา และประเทศไทยก็เข้าสู่ยุคเผด็จการทหารเต็มรูปแบบนับแต่นั้น จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่อนิจจกรรมขณะดำรงตำแหน่ง ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. กว่าจะถึงวันนี้. แสงดาว, ๒๕๕๐ หน้า ๒๓๔-๒๓๕)

จะเห็นได้ว่ากระบวนทัศน์การเมืองใหม่อย่างที่อ้างและกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน หาได้เป็นเรื่องใหม่โดยแท้จริงไม่ ความจริงลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระบอบการเมืองการปกครองไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา เพียงแต่อาจมีการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการไปบ้างตามยุคสมัย กลยุทธกลวิธีก็แตกต่างออกไปตามลักษณะของผู้นำพา

คาร์ล มาร์กซ์ เจ้าของทฤษฎีแห่งความขัดแย้ง (conflict theory) เคยบัญญัติความคิดไว้ในทฤษฎีของเขาเองว่า สังคมหรืออินทรีย์ทั้งหลายมีพัฒนาการไปตามลำดับ แต่เมื่อถึงจุดสูงสุดซึ่งก้าวต่อไปไม่ได้แล้ว มันจะไม่สูญหายไปไหนแต่จะย้อนกลับมา ณ จุดเดิม (นิยพรรณ (ผลวัฒนะ) วรรณศิริ. มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน้า ๘๐)

เป็นที่น่าสังเกตว่า หากเทียบตามหลักทฤษฎีทางสังคมของมาร์กซ์ ที่ว่าระบบต่างๆ บนโลกมีการหมุนเวียนกลับสู่จุดเดิมเสมอแล้ว จะพบว่าทุกครั้งที่การปกครองครองของไทยย้อนกลับไปสู่ระบอบทหาร เวลานั้นบ้านเมืองยังคงระส่ำระสายไร้ระเบียบ หรือเกิดความแตกแยกกันในสังคมอย่างสุดขั้ว หาได้เป็นจุดสูงสุดซึ่งน่าจะหมายถึงความเจริญตามที่มาร์กพยากรณ์เอาไว้ไม่ หรือหากมองในมุมกลับกัน ถ้าความจริงมีว่าทฤษฎีของมาร์กซ์เที่ยงตรงใช้ได้มาจนถึงวันนี้แล้ว นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าการเมืองไทยสามารถพัฒนาได้ถึงจุดสูงสุดเพียงเท่านี้เอง

แนวคิดต่างๆ ที่บรรดานักคิดทั้งหลายได้ออกมานำเสนอในช่วงนี้ เมื่อนำมาพิจารณาแล้วมีลักษณะใกล้เคียงจากระบบที่เคยใช้มาในอดีตแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด ๓๐ : ๗๐ คือ สัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งร้อยละ ๓๐ ที่มาจากการแต่งตั้งร้อยละ ๗๐ ซึ่งเป็นระบบที่เหมือนถอยหลังลงคลอง ย้อนกลับไปใช้ระบบที่เคยใช้มาแล้วเมื่อคราวเลือกตั้งครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๗๖ (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. กว่าจะถึงวันนี้. แสงดาว, ๒๕๕๐ หน้า ๒๑๒) ต่อมาได้เสนอเปลี่ยนเป็นร้อยละร้อยแต่ต้องมาจากตัวแทนสาขาอาชีพ ซึ่งรูปแบบนี้ก็เคยเสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ แต่ไม่ได้รับการยอมรับเพราะสภาเห็นว่ามีรูปแบบเหมือนระบอบคอมมิวนิสต์ หรือถ้าหาทางออกที่ลงตัวไม่ได้เป็นเหตุให้ทหารกลับเข้ามาปฏิวัติซ้ำอีก ก็คือการกลับสู่วังวนแห่งอำนาจแบบเก่าๆ นั่นเอง

ที่แปลกใหม่ขึ้นบ้างก็เห็นจะเป็นแนวคิดของคณะอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่เสนอว่าให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจจะมีผู้คิดอยู่บ้างแต่ไม่กล้านำเสนออย่างโจ่งแจ้งนัก เพราะเกรงข้อครหาว่าอยากเป็นอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ดังที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยถูกโจมตีมาแล้วในประเด็นนี้

ที่สุดแล้ว ถึงจะพยายามเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบใหม่แค่ไหน ก็มองเห็นแต่วังวนเดิมๆ ที่จะหวนกลับมาอีกครั้ง ความเป็นจริงก็เหมือนกับที่จอมพลสฤษดิ์ ประกาศบอกในการปฏิวัติว่า ถ้าหากมีบุคคลบางพวกบางกลุ่มพยายามใช้สิทธิเสรีภาพที่ระบุไว้เป็นใจความสำคัญระดับสูดสุดของรัฐธรรมนูญ มาก่อความแตกแยกในบ้านเมืองแล้ว เมื่อนั้นสิทธิและเสรีภาพจะกลายเป็นดาบสองคมหวนกลับมาทำร้ายประเทศไทยเอง


บทเรียนของประวัติศาสตร์ บอกให้เราทราบว่าในบรรดาความขัดแย้งทั้งหลายในสังคมไม่เคยทำให้การเมืองไทยพัฒนาก้าวหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น มิหนำซ้ำยังเป็นตัวถ่วงอย่างร้ายกาจในการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะถึงที่สุดแล้วเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ก็หนีไม่พ้นการหวนกลับคืนสู่จุดเดิมที่เคยย่ำผ่านมาแล้ว

นอกเสียจากว่าในการรบยืดเยื้อคราวนี้ ชัยชนะจะไม่ตกเป็นของผู้หนึ่งผู้ใดในระบบอำนาจที่ว่ามา แต่แรงสะท้อนของเหตุการณ์ หรือจะเป็นความพยายามอย่างจงใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตาม อาจทำให้ใครบางซึ่งแอบซุ่มอยู่ข้างนอกกลายเป็นผู้รับประโยชน์ เขาอาจไม่ใช่ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายมวลชน หรือทหาร แต่เขาอาจหมายถึงความหวังใหม่ของประชาชนทั้งประเทศ

เมื่อนั้นจึงจะหมายความว่าประชาธิปไตยของไทยสามารถก้าวพ้นจากวังวนแบบเดิมๆ ไปได้อย่างแท้จริง

 

หมายเลขบันทึก: 213737เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 07:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถูกต้องฮะ

สามัคคีเท่านั้นถึงผ่านพ้นวิกฤตได้

แล้วก็สามัคคีกันกับเพื่อนบ้านด้วยนะฮะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท