เศรษฐกิจพอเพียงกับวิถีชีวิตของมุสลิมในบ้านหัวฝาย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่


วิถีชีวิตของมุสลิมในบ้านหัวฝาย

 

เศรษฐกิจพอเพียงกับวิถีชีวิตของมุสลิมในบ้านหัวฝาย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

 

Sufficiency economy and the way of muslims’ life in Baan Houfai,

 

Fang District, Chiangmai Province

 

ภาคินวัฒนช์  สุทธิผุย (Pakinnawat  Suttipui)*

ภาพโดย  นายชุมพล  ศรีสมบัติ

ประตูเข้าหมู่บ้านหัวฝายป้ายประวัติหมู่บ้านแปลกันเองนะครับ

สภาพถนนและบ้านเรือนในพื้นที่

พี่น้องมุสลิมหัวฝายนั่งเฝ้าหน้าสุเหร่า

มุสลิมในหมู่บ้านหัวฝาย ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เช่นกัน ในอดีตมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีศาสนาและวัฒนธรรมเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว และเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต มีการมองด้านคุณค่ามากกว่าที่จะมองเพียงด้านมูลค่า ครอบครัวสามารถพึ่งตนเองได้ มีการเกื้อกูลกันภายในชุมชน ทำ

ให้เกิดความสามัคคีในชุมชน สามารถรวมตัวกันเพื่อสร้างวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีความศรัทธา และปฏิบัติตาม คำสอนทางศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่เนื่องจากสภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้สังคมเมืองและรูปแบบของวัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่เข้ามายังสังคมชนบทมากขึ้น ทำให้สังคมชนบทหลายแห่ง รวมทั้งมุสลิมในบ้านหัวฝายเช่นกัน เริ่มมีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ต้องพึ่งพิงปัจจัยการดำรงชีพจากภายนอกชุมชนมากขึ้น ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต ดังนั้นการศึกษาวิถีชีวิตของมุสลิมในบ้านหัวฝาย ซึ่งมีศาสนาและวัฒนธรรมอิสลามเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต แล้วพิจารณาความสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนามุสลิมในบ้านหัวฝาย เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้โดยรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสในยุคโลกาภิวัตน์ มีเหตุมีผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ในการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตภายใต้เงื่อนไขของความรู้ ควบคู่กับคุณธรรม

 

 

อาคารมัสยิด  ซึ่งลักษณะการสร้างรูปทรง ออกแบบสไตล์จีน 

ปัจจุบันหมู่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 3 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มี 222 ครอบครัว มีประชากรทั้งหมด 418 คน ในจำนวนนี้มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม 25 ครอบครัว มีประชากร 102 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 24.40 ของประชากรทั้งหมู่บ้าน  

มุสลิมในบ้านหัวฝายอพยพมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2495 โดยที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ฝาง และศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต มีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งภายในครอบครัว ภายในชุมชน และเพื่อนบ้าน นอกจากนี้คณะกรรมการมัสยิดอัสอาดะฮ์มีการบริหารงานเป็นอย่างดี โดยมีพื้นฐานมาจากความมีคุณธรรม อีกทั้งมีศาสนสถานที่สำคัญ คือ มัสยิด เพื่อใช้ในการประกอบศาสนกิจและจัดกิจกรรมต่าง  ๆ ตลอดจนภายในบ้านหัวฝายยังมี โรงเรียนบ้านหัวฝาย โรงเรียนสอนภาษาจีน โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนสอนท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งทำให้มุสลิมในบ้าน    หัวฝายมีความรู้ทั้งตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ด้านภาษาจีน และด้านศาสนา

มุสลิมในบ้านหัวฝายมีความเชื่อว่าพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) เป็นผู้สร้างจักรวาลและสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ขึ้นมา โดยมนุษย์ทั้งหมดในโลกนี้เกิดมาจากมนุษย์คู่แรกของโลก คือ อาดัมกับอีวา ซึ่งทุกคนมาในโลกนี้เพื่อมาทดสอบความภักดี และบริหารจัดการโลกนี้ให้เจริญก้าวหน้าและรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความสมดุลทางนิเวศวิทยาตลอดไป อีกทั้งมีความเชื่อว่าต้องแสวงหาปัจจัยยังชีพในโลกนี้เพื่อครอบครัว โดยไม่ละ 

ทิ้งการปฏิบัติตนในด้านศาสนา ตลอดจนต้องมีการประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ทับถมผู้อื่น มีความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ และมีความพอเพียง

โรตีมีขาย ถึงจะเป้นชุมชนมุสลิมจีน แต่ก็มีโรตีขายนะนาย

ลักษณะภายในบ้านของพี่น้องชาวจีนบ้านหัวฝาย

อัตลักษณืร้านค้าตามชุมชนจีนตามแนวชายแดน

มุสลิมในบ้านหัวฝายมีความพอใจในบ้านที่ตนพักอาศัย เพราะเห็นว่าขนาดของบ้านมีความเหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว และสมกับฐานะของตนแล้ว อีกทั้งไม่มีความต้องการที่จะซื้อรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์เพิ่ม เนื่องจากเห็นว่าไม่จำเป็น ตลอดจนมีการหาปัจจัยยังชีพด้วยตนเอง และมีปรัชญาที่ดีในการประกอบอาชีพ ไม่ท้อแท้กับความลำบากของตนมีการมองดูผู้ที่เขาต่ำต้อยกว่า ยากไร้กว่า เพื่อให้ตนไม่ท้อแท้และสิ้นหวังในชีวิต กลับเพิ่มความสำนึกในพระเมตตาที่พระองค์อัลลอฮ์ที่ไม่ทรงให้ตนลำบากเหมือนคนเหล่านั้น ไม่ลืมตัว ไม่หลงตน ไม่ โอ้อวดฐานะ ไม่ทับถมคนจนที่เขาต่ำต้อยกว่า มีความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ทั้งเรื่องที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ฟุ่มเฟือยหรืออยากได้ในสิ่งที่เกินความจำเป็น

ในการประกอบอาชีพของมุสลิมในบ้าน   หัวฝาย ไม่เหน็ดเหนือเกินไป สามารถมีเวลาให้กับครอบครัว ไม่ต้องจ้างคนงานมากเพื่อช่วยเหลืองาน มีการทำงานตามกำลังของตนเอง และมีความสามารถชำระหนี้สินต่างๆ ได้อย่างสะดวกคล่องตัว อีกทั้งมีปรัชญาที่ดีในการประกอบอาชีพ ความซื่อสัตย์ สุจริต และน่าเชื่อถือ ตลอดจนทรัพยากรป่าไม้ส่วนหนึ่งยังอุดมสมบูรณ์สามารถเก็บหา เห็ดโคน จากป่าได้ และมีน้ำบ่อจากภูเขาที่ชาวบ้านหัวฝายทั้งมุสลิมและพุทธศาสนิกชนสามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี

การมีภูมิคุ้มกัน

มุสลิมในบ้านหัวฝายมีความศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.ล.) มีความศรัทธาต่อคัมภีร์และศาสดาต่างๆ มีความศรัทธาในโลกหน้า มีความศรัทธาในลิขิตที่พระเจ้ากำหนดไว้ และมีความศรัทธาในทูตรับใช้ของพระเจ้า (ภาษาอาหรับ เรียกว่า มาลาอิกะฮ์) กล่าวคือ มีความศรัทธาว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เป็นพระเจ้าที่สร้างมุษย์ และสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายในจักวาลนี้ โดยตนเกิดมาในโลกนี้แค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นในการคิดและทำสิ่งต่างๆ จึงมีการคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในโลกหน้าด้วย ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองด้วยการสร้างความดี ปฏิบัติตนตามที่ศาสนากำหนด  และต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท   สร้างสมแต่สิ่งที่ดี เพราะไม่รู้ว่าตนนั้นจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าใด และตายเมื่อไร ตลอดจนไม่ท้อแท้กับความลำบาก มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป เพราะศรัทธาว่าพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะให้ความช่วยเหลือแน่นอนหากตนพยายาม

 

ป้ายนี้ ถาม ชาวบ้าน เขาบอกว่า มันแปลได้ความหมายว่า  ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่

บริสุทธิ์ ขยายไปทั่วโลก  ใช่ไม่ใช่  ก็คงใกล้เคียงแหละครับ

 

ซุ้มประตูหน้ามัสยิด

 

คงสงสัยมันคืออะไร  เป็นเหล็กแผ่นแขวนไว้ ให้สัญญาน แทนระฆังใช้ตีบอกเวลา

ที่จะละศีลอด หรือสัญญานต่าง ๆ

 

จาก  ส่วนหนึ่งงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง วิถีชีวิตของมุสลิมในบ้านหัวฝาย

* สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เชียงใหม่  50290

  Geosocial Based Sustainable Development, Maejo University, Chiang Mai 50290

** ภาควิชาดินและปุ๋ย คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เชียงใหม่

 ภาพและ นำเสนอโดย   นายชุมพล  ศรีสมบัติ

 

หมายเลขบันทึก: 212636เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2008 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท