ดอกรัก
นาง อมรรัตน์ เปิ้ล เถื่อนทอง

พ่อช่วยแม่ เลี้ยงลูกให้ดี มีข้อพึงระวัง :


รักลูก

พ่อช่วยแม่ เลี้ยงลูกให้ดี มีข้อพึงระวัง  :  ทุกวันนี้ปัญหาเด็กก้าวร้าวเป็นปัญหาหนึ่งในหมู่วัยรุ่น นักศึกษา  ต่างโรงเรียน ก่อให้เกิดความยุ่งยากในวงการศึกษา ในครอบครัวและสังคม กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข   จำกัดความคำว่า ก้าวร้าว หมายถึง  พฤติกรรมที่ประกอบด้วย กิริยา อาการต่างๆ เหล่านี้   โต้เถียง คุยโม้ ชอบรังแกผู้อื่น เรียกร้องความสนใจ ทำลายสิ่งของตนเองและผู้อื่น  ไม่เชื่อฟังที่บ้านและที่โรงเรียน   อิจฉาคนอื่น  มีเรื่องต่อสู้ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ส่งเสียงกรี๊ดบ่อยๆ  ชอบอวดตน  ฉุนเฉียว อารมณ์เปลี่ยนแปลงกระทันหัน พูดมากเกินไป ข่มขู่ผู้อื่น ล้อเลียน ทำฤทธิ์ลงมือลงเท้า  พูดเสียงดังเกินควร  ดังนั้น พฤติกรรมก้าวร้าว จึงมีความหมายกว้างขวาง และ มีความแตกต่างตามความคิดเห็น ตามทัศนะของ แต่ละ บุคคล และกลุ่มสังคม วัฒนธรรม  พ่อแม่บางคนมีความเข้มงวดกวดขันกับกิริยาวาจาของลูกอย่างมาก ควบคุมพฤติกรรม  มีกฏเกณฑ์ การลงโทษอย่างรุนแรง เป็นประเภทที่ควบคุมมาก จนเกินควร  ถ้าเด็กโต้แย้งเพื่อสิทธิของตนเอง  ก็ถูกห้ามพูด  มีผลให้เด็ก เก็บกด ไม่กล้าแสดงออก  มักเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด แต่พ่อแม่บางรายปล่อยปละละเลยกับความประพฤติของลูก แม้จะพูดโจมตีผู้อื่น  ไม่ได้รับการตักเตือนสั่งสอน มีผลให้ลูกเป็นพวกขาดการควบคุม เด็กที่เติบโตมาด้วยวิธีการอบรมเลี้ยงดูต่างกัน ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมอย่างแน่นอน

   สาเหตุของความก้าวร้าว    ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวภาพ ได้แก่ ความไม่ปกติเฉพาะตัวบุคคล หรือ เป็นส่วนที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพันธุกรรมก็ตาม แต่ปัญหาด้านจิตใจ ได้แก่ วิธีการอบรม เลี้ยงดูจากครอบครัวและสังคม รวมทั้งปัญหาด้านสังคมเอง คือ สิ่งแวดล้อมภายนอก ล้วนมีส่วนอย่างมาก  ในการกระตุ้นเสริมให้เด็กก้าวร้าวมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น  ในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อคิดและข้อพึงระวังในการเลี้ยงดูลูกไว้ 6 ประการคือ

    พ่อแม่พึงระวังความรู้สึกของตัวเอง    เพราะอาจไปขัดขวางการให้วัคซีนใจได้ เช่น เมื่อลูกอยากทำอะไรด้วยตนเอง  พ่อแม่มักกลัวลูกจะทำได้ไม่ดี ทำข้าวของเสียหาย กลัวเกิดอันตราย  กลัวลูกลำบาก หรือ รำคาญว่าลูกชักช้าไม่ทันใจ จำเป็นที่พ่อแม่ ควร ระวังความรู้สึกเหล่านี้เอาไว้

    พ่อแม่พึงระวังเรื่องการฝึกรอคอย    ต้องเป็นการรออย่างพอใจที่จะรอ    รู้ว่าการรอเป็นส่วนหนึ่งของการได้ในสิ่งที่ดี รออย่างมีความหวัง หรือ มองโลกในแง่ดี และใช้เวลาในการรอคอย อย่างสงบ หรือ รอคอยอย่างมีประโยชน์ มีกิจกรรมที่เหมาะสม  มาช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไม่ให้รู้สึกต้องฝืนทนมากเกินไป  สิ่งสำคัญสำหรับการฝึก คือ พ่อแม่ต้องใจเย็น หมั่นพูดอธิบายเหตุผล ให้ลูกเข้าใจ ให้ลูกเรียนรู้ที่จะเบี่ยงเบนความสนใจ ในขณะรอคอย และ พ่อแม่ต้องอดทน รอคอยอดกลั้น เป็นตัวอย่างแก่ลูก ด้วย

    พ่อแม่พึงระวังคำห้ามซ้ำซาก    เช่น อย่าทำ อย่าเล่น อย่าถาม ทำไม่ได้  เพราะจะไปปิดกั้นความอยากรู้ อยากทดลอง และความคิดสร้างสรรค์ ยกเว้นจะเป็นเรื่องที่อาจเกิดอันตราย ให้ใช้วิธีดึงความสนใจของลูกไปยังสิ่งอื่นแทน  การเล่นเป็นการ เรียนรู้ของเด็ก แต่ถ้าลูกยังเล็ก  การปล่อยให้ลูกเล่นตามลำพังอาจเกิดอันตรายได้ และ พ่อแม่พึงระวังอย่าตัดสินว่าใครผิดใครถูก เมื่อลูกเล่นกันแล้วทะเลาะกัน โดยพ่อแม่ไม่เห็นเหตุการณ์ ให้รับฟังทั้งสองฝ่าย  พูดกับลูกว่าเขากำลังโกรธ  จึงควรหยุดเล่น  และแยกจากกันสักพัก เพื่อให้อารมณ์สงบลง และ หาสิ่งอื่นให้ลูกทำ แทน

    พ่อแม่พึงระวังในกรณีที่ลูกอยากเล่น    แต่พ่อแม่อยากพักผ่อนแล้ว  มักเผลอบอกให้ไปเล่นที่อื่น ลูกจะรู้สึกเสียใจว่าพ่อแม่ไม่สนใจเขา ในกรณีนี้พ่อแม่อาจชักชวนลูกให้วาดภาพ ต่อภาพ เล่นของเล่น และให้เล่นอยู่ใกล้พ่อแม่  พ่อแม่ก็พักผ่อนไป หรือการร่วมเล่นไปกับลูกก็เท่ากับการได้พักผ่อนทางใจในตัวเหมือนกัน

    พ่อแม่พึงระวังในเรื่องของการสอนลูกให้รู้จักการแบ่งปัน    ควรใช้วิธีแนะนำด้วยความนุ่มนวล  อย่าฝืนใจหากลูกไม่พร้อมที่จะให้ เช่น การแบ่งปันของเล่น พ่อแม่อาจหาของเล่นอีกชิ้นมาให้ ต่างคนต่างเล่นแต่จัดให้เล่นอยู่ใกล้ๆกัน  สักครู่ถ้าลูกอยากเล่นด้วยกัน เขาจะยินยอมแบ่งปันของเล่นด้วยความเต็มใจเอง

    พ่อแม่พึงระวังคำพูดและท่าที    เมื่อลูกอยากจะอวดผลงานหรือความสำเร็จของเขา แต่พ่อแม่กำลังยุ่งอยู่และมักเผลอบอกลูกว่า เอาไว้ก่อน ตอนนี้ยังไม่ว่าง  เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกผิดหวัง เสียหน้าและเสียกำลังใจอย่างแรง  ทั้งๆที่การวางมือจากงาน  แล้วหันมาให้ความสนใจและชื่นชมผลงานของเขา  ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ไม่ได้ทำให้งานของพ่อแม่ถึงกับเสียหาย บางครั้งลูกดีใจ เต็มที่วิ่งมาอวด หวังว่าจะให้พ่อแม่ชื่นชม  กลับหน้าหงายฝันสลายในพริบตาเดียว  เพียงเพราะท่าทีและคำพูดไม่กี่คำ โดยพ่อแม่เองอาจไม่รู้ตัว

        กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  ให้ข้อแนะนำฝากคุณพ่อที่ดีอันพึงปฏิบัติต่อลูก ในท่ามกลาวความยุ่งยากและการแข่งขันในด้านสังคมและเศรษฐกิจไว้ดังนี้

   ส่อความรู้สึกและภาคภูมิใจไปยังลูก    ในสภาพวัฒนธรรมไทย พ่อหลายคนอาจรู้สึกขัดเขินต่อการแสดงความรัก  ด้วยการโอบกอด สัมผัสหรือแม้แต่การพูดว่าตนรักลูก ทั้งที่การกระทำ เหล่านี้ เป็นสื่อที่ดีที่สุดทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม  พ่อยังสามารถบอก ความรู้สึกรักและภาคภูมิใจด้วยวิธีทางอ้อมอีก  เช่น การช่วยลูกทำการบ้าน อธิบายข้อสงสัยให้ลูกเข้าใจ ไปชมการแข่งขันกีฬาของลูก  ให้กำลังใจลูกในกิจกรรมต่างๆเป็นต้น

    ให้ความอบอุ่นและเป็นที่พึ่งในเวลาที่ลูกต้องการ    ลูกทุกคนต้องการความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และได้รับความคุ้มครองจากพ่อแม่  เด็กที่ถูกเลี้ยงดูอย่างดบอุ่น มีความมั่นใจในสวัสดิภาพ ของตนเองเพียงพอ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่หนักแน่น  เข้มแข็ง และมีเหตุผล ให้เวลากับลูกอย่างเพียงพอ

   เด็กทุกคนปรารถนาที่จะใช้เวลาว่างร่วมกันกับพ่อแม่ เด็กต้องการพ่อซึ่งมีเวลาในการรับฟังปัญหา  หรือ  ความรู้สึกของตน สามารถพูดคุยได้อย่างเปิดเผย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่าง สบายใจ เป็นแบบอย่างในฐานะเพศชายให้ลูก

   ลูกชายสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของเพศตน  จากบทบาทของพ่อ ขณะที่ลูกสาวจะมองเห็นและเข้าใจแบบอย่างของเพศชาย   ความสัมพันธ์กับพ่อ เป็นความสัมพันธ์กับบุคคลต่างเพศคนแรก ที่ลูกสาวสามารถเรียนรู้ และพัฒนาไปสู่การคบหาเพื่อนต่างเพศ   ตลอดจนคู่ครองของตนในอนาคต

    สอนลูกรู้ถึงกฏเกณฑ์ต่างๆของสังคม    พ่อต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์เหล่านั้น เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูก มีความคาดหวังในตัวลูกอย่างเหมาะสม กล่าวคือ คาดหวังว่าลูกจะทำสิ่งต่างๆ อย่างสุดความสามารถ  ภาคภูมิใจในความพยายามของลูก   แทนที่จะกดดันให้ลูกมีความสำเร็จต่างๆตามที่พ่อต้องการ

    ส่งเสริมให้ลูกมีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆในโลกกว้าง     การพาลูกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ พาไปที่ทำงานช่วงปิดเทอม หรือพาไปเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่ จะเปิดโอกาสให้ลูกได้รู้เห็น ความเป็นไปต่างๆ ของสังคมและโลกภายนอก  จะเห็นว่า การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีนั้น พ่อจะทำคนเดียวก็คงได้ แต่จะไม่สมบูรณ์ แม่ทำคนเดียวก็น่าจะได้ แต่ไม่ดีเต็มที่ พ่อแม่แย่งกันทำ หรือทำสวนทางกัน หรือเกี่ยงกันทำ  ผลลัพธ์ต่อลูกก็จะดีน้อย  บทบาทของลูกภายใต้การดูแลฟูมฟัก ของพ่อแม่อย่าง เหมาะสม  ก็จะค่อยๆมีความเข้าใจในบทบาทของพ่อแม่ และ วางตัวใน ทิศทาง ที่ก่อให้เกิดความสุขร่วมกัน นำไปสู่บุตรที่เป็นคนดี มีความสำเร็จ ได้เชิดชูพ่อแม่  ได้อยู่ร่วมกันด้วยความเจริญก้าวหน้าสืบไป  -- บทความ โดย นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์----

คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต รุ่น 32550
หมายเลขบันทึก: 212171เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท