ที่สุดของทรัพย์คือข้าว ที่สุดของข้าวคือ ข้าวเปลือก


 

เรื่อง-

ครั้งหนึ่งมีเทวดาอวดรู้ตนหนึ่งมาทูลกับพระพุทธเจ้าเป็นเชิงแสดงภูมิว่า ที่สุดของความรักคือบุตร ที่สุดของทรัพย์คือโค ที่สุดของแสงสว่างคือดวงอาทิตย์ และสระน้ำมีทะเลเป็นที่สุด

พระพุทธเจ้าตอบกลับด้วยพระกรุณาอันยิ่งว่า สิ่งที่เทวดาเข้าใจนั้นผิดเหลือหลาย พร้อมทรงชี้แนะกลับไปว่า ความรักอื่นเสมอด้วยตัวเองไม่มีหรอก ทรัพย์อื่นเสมอด้วยข้าวเปลือกก็ไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี และที่สุดของน้ำก็คือน้ำฝนต่างหาก

                เทวดายังไม่ยอมดึงดันจะเถียงต่อเพราะยังมั่นใจในความคิดของตัวเอง พระพุทธองค์ต้องอธิบายให้ฟังว่า ถ้าไม่มีตัวเองแล้วจะเอาอะไรไปรักคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นคนเราต้องรักตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะตัวเองมีอยู่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งอื่นมี ส่วนทรัพย์นั้นลงได้ว่ามีค่าแค่ไหนก็ขาดได้ แต่ถ้าขาดข้าวแล้วก็มีแต่ตายสถานเดียว และข้าวนั้นก็อาศัยข้าวเปลือกมีจึงเกิดมาเป็นต้นข้าว เป็นเมล็ดข้าว เป็นข้าวสาร เป็นข้าวสุก ถ้ามีแต่ข้าวสารไม่มีข้าวเปลือกปีต่อไปก็เสร็จ ไม่มีข้าวกินอีกเหมือนกัน ส่วนที่ว่าแสงสว่างเสมอด้วยปัญญานั้นไม่มี ก็เพราะว่าปัญญาคือความรู้แจ้งในสรรพสิ่งทั้งหลาย มนุษย์หากขาดปัญญาซะแล้วของอยู่ใกล้ก็มองไม่เห็นประโยชน์ มีปัญญาซะอย่างอย่าว่าแต่ดวงอาทิตย์เลย แม้อยากรู้จักรวาลทั้งสิ้นนี้ปัญญาก็ส่องให้เห็นได้ ส่วนน้ำนั้นแม้มหาสมุทรกว้างใหญ่หรือถ้าไม่มีฝนตกลงมาก็คงแห้ง และต้นธารของน้ำทั้งมวลในโลกก็คือฝนนั่นเอง

                พอเจอเหตุผลอย่างนี้เข้าเทวดาถึงกับต้องอึ้ง ทึ่งในพระปัญญา ก้มลงกราบแทบบาทสามทีพร้อมกล่าวสรรเสริญเป็นอเนกประการ และยอมรับสนับสนุนพระพุทธดำรัสนั้น

                วิถีชีวิตของคนไทย และคนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์นั้นผูกพันกับข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่ชีวิตคนคนหนึ่งไม่ได้ต้องการอะไรมากมายขอแค่ท้องอิ่ม มีความปลอดภัย และมีบุตรไว้สืบสายวงศ์ตระกูล มาจนถึงยุคของสังคมเมืองที่ปัจจัยพื้นฐานสี่ประการไม่อาจตอบโจทย์ความเพียงพอของชีวิตได้ ข้าวก็ยังยืนหยัดเป็นขวัญใจ เป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยจะขาดเสียมิได้เสมอมา

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมไทยได้พัฒนาการเรื่องต่างๆ ออกมาจากการให้ความสำคัญของข้าว โดยใช้ข้าวเป็นศูนย์กลางจำนวนมาก วัฒนธรรมข้าวแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนตายแทบจะทุกเรื่อง แต่เดิมมาสังคมไทยยอมรับนับถือผีเพราะยังหาคำตอบให้กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างมีเหตุมีผลไม่ได้ จึงต้องยกความดีความชอบให้สิ่งที่มองไม่เห็นและคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมีพลังอำนาจพิเศษในการดลบันดาลในเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาไม่สามารถกำหนด ผีจึงได้รับความยำเกรง และการเคารพบูชาไปโดยปริยาย และหนึ่งในบรรดาผีที่ผู้คนเหล่านั้นคิดขึ้น และให้การนับถืออย่างยิ่ง ย่อมขาดผีที่รักษาผลประโยชน์ในนาข้าวไม่ได้

                คนไทยสร้างแม่โพสพขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของความเคารพนบนอบต่อข้าว สร้างผีนา ผีน้ำ ผีปู่ตา ผีฟ้า ผีแถนขึ้น เพื่อตอบโจทย์เรื่องข้าวปลาอาหาร มีประเพณีขอฝนหลายรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตข้าวที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ที่ตามมาหลังเก็บเกี่ยวเป็นการขอบบุญแทนคุณที่ให้ข้าวกิน

                สมัยต่อมาความเชื่อแบบพราหมณ์เข้ามีอิทธิพลเหนือวิถีชีวิตชาวไทยเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง แต่คนไทยก็ยังไม่ทิ้งผีที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ ดังนั้นจึงได้เห็นพัฒนาการการผสมผสานระหว่างการเลี้ยงผีตามแบบเดิม กับการบวงสรวงอ้อนวอนตามแบบของพราหมณ์ การทำขวัญข้าว พิธีแรกนาขวัญ การบูชาพระแม่คงคา ดูจะเป็นตัวอย่างที่ง่ายในเรื่องนี้

                จนต่อมาศาสนาพุทธได้ยาตราทัพเข้าสู่ภูมิภาค คนไทยเริ่มมองเห็นความดีงามในความมีเหตุมีผลของพระพุทธศาสนา จึงเปิดประตูรับความเชื่อแบบพุทธเข้ามาสู่วิถีชีวิตอีกอย่างหนึ่ง แต่กระนั้นก็ตามคนไทยไม่เคยลืมสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างให้ วันนี้เราจึงได้เห็นการผสมกลมกลืนทางความเชื่อทั้งสามประกอบเข้าด้วยกันในหลายๆ กรณี จนบางครั้งอาจดูยุ่งเหยิงพันพัวกันไปหมดจนแยกไม่ออกว่าอย่างไหนเป็นผี เป็นพราหมณ์ อย่างไหนเป็นพุทธ แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดแข็ง และเป็นจุดเด่นเฉพาะตัวของวัฒนธรรมไทย นั่นคือการผสมผสานความเชื่อที่ไม่น่าไปกันได้ให้เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ โดยมีข้าวเป็นจุดยืนหลักร่วมกันของวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่

ดังจะเห็นได้พิธีกรรมหยุมหยิมมากมายเกี่ยวกับผีในนาข้าว พอตกช่วงพอเหมาะก็ได้เห็นการสู่ขวัญบวงสรวง การเสี่ยงทายแบบพราหมณ์ และท้ายที่สุดหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ข้าวใหม่หอมๆ ก็ถูกส่งไปที่วัดเพื่อทำบุญ นั่นอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าพุทธนี้เอาเปรียบผี เอาเปรียบพราหมณ์ มาดักรอเอาประโยชน์เฉพาะตอนเขาแบ่งผลผลิตกัน โดยที่ไม่ได้ออกแรงอะไรในขั้นตอนระหว่างการเพาะปลูก เพราะจุดประสงค์การเอาข้าวใหม่มาที่วัดก็เพื่ออุทิศกลับไปสู่ผี และยังไม่ลืมประกอบพิธีแบบพราหมณ์ร่วมอยู่ด้วยนั่นเอง

ครั้งหนึ่งในวงสนทนาเรื่องข้าว ซึ่งจัดกันเป็นงานใหญ่นัยว่าระดับประเทศ บนเวทีพูดคุยได้เชิญผู้รู้ทั้งนักวิชาการและปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมวงคุยกันหลายคน บังเอิญว่าวันนั้นเผลอตัวไปนั่งฟังด้วยหวังจะเรียนรู้ทัศนะมุมมองของผู้มีปัญญา โดยไม่ได้ตั้งใจ บังเอิญว่าบนเวทีที่คุยเรื่องข้าวกันอยู่ดีๆ นักปราชญ์บนเวทีหักมุมไปอีท่าไหนไม่รู้ เรื่องเลยไปโผล่ที่หวยบนดินที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในตอนนั้น และโดยไม่ทันตั้งตัว อยู่ๆ ท่านผู้สนทนารายหนึ่งซึ่งเป็นคนก่อประเด็นก็โยนเผือกร้อนจากบนเวทีหล่นตุบลงมาตรงหน้าตักพอดิบพอดี ว่าเห็นอย่างไรกับการที่รัฐบาลจะรื้อหวยบนดินขึ้นมาทำใหม่

...เอาแล้วไง เมื่อสักครู่ยังฟังเป็นเรื่องแม่โพสพอยู่ดีๆ ไหงจะโยนแม่หวยออนไลน์ลงมาให้กันคิดปวดสมองซะงั้น

ข้าพเจ้าซึ่งเมื่อครู่กำลังนั่งสัปหงกเพลินๆ อยู่บรรจงหยิบเผือกร้อน... เอ้ย ไมโครโฟน ขึ้นมาจ่อปากตอบแบบลืมคิดไปว่า

“ไม่รู้สิท่าน ไอ้หวยบนดินนี่มันดีไม่ดีอย่างไรเราไม่รู้ รู้อยู่แต่ว่าถ้าไม่มีหวยบนดินเราไม่ตาย แต่ถ้าไม่มีข้าวกินนี่สิเราตายแน่” พูดจบข้าพเจ้าก็เอวัง นั่งสัปหงกต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

คำสำคัญ (Tags): #ข้าว#ธวัชชัย
หมายเลขบันทึก: 212169เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท