ประวัติชาวไทยมุสลิมที่มีเชื้อสายจีนยูนนาน และบังคลาเทศ ปากีสถานในจังหวัดเชียงใหม่


มุสลิมจีนในเชียงใหม่

ประวัติชาวไทยมุสลิมที่มีเชื้อสายจีนยูนนาน และบังคลาเทศ ปากีสถานในจังหวัดเชียงใหม่



    
เชียงใหม่เป็นเมืองเก่า มีเรื่องราว ตำนานต่างๆ ที่เล่าสืบลูกสืบหลาน เป็นเรื่องราวที่มีคุณค่า และน่าสนใจยิ่ง เรื่องราววิถีชีวิตของชาวมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งที่น่าศึกษา น่าติดตาม ถึงเส้นทางการอพยพเข้ามาอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย


การอพยพของชาวจีนมุสลิมเชื้อสายยูนนาน *

     ในจังหวัดเชียงใหม่มีมุสลิมที่มีเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากมณฑลยูนนาน (ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน) นับตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และปัจจุบันได้อาศัย กระจายตามที่ต่างๆ ของอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่มีมัสยิดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมจีน รวมทั้งหมด 7 มัสยิด ได้แก่

1. มัสยิดอัลเอี๊ยห์ซาน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง

2. มัสยิดอัลอีมาน ตั้งอยู่ในตัวอำเภอฝาง

3. มัสยิดอัลอักซอ ตั้งอยู่บนดอยอ่างขางตำบลแม่งอน อำเภอฝาง

4. มัสยิดอัสซะฮาดะฮ์ ตั้งอยู่หัวฝาย ตำบลโปร่งน้ำร้อน อำเภอฝาง

5. มัสยิดอัลเราะฮ์มะ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย

6. มัสยิดเฮดายาตูลอิสลาม (บ้านฮ่อ) ตั้งอยู่ย่านศูนย์การค้าไนท์บาซ่า อยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง

7. มัสยิดอัต-ตักวา ตั้งอยู่ย่านวัดเกต ซึ่งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ถนนหน้าวัดเกต ซอย 1 อำเภอเมือง
ชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายชาวยูนนานนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกพ่อค้าที่เดินทางมาค้าขายบริเวณมณฑลยูนนาน เข้าสู่ประเทศพม่า ลาว และเข้าสู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย คนกลุ่มนี้จะถูกคนพื้นเมืองทางภาคเหนือเรียกว่าเป็นพวก จีนฮ่อซึ่งมีเอกลักษณ์ทั้งทางด้านภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย (ที่มาของคำว่า ฮ่อนั้นยังคงเป็นปริศนาและมีความซับซ้อนว่ามีที่มาจากที่ใด เพราะเหตุไรชาวยูนนานจึงถูกเรียกว่า ฮ่อทั้งที่ชาวยูนนานเองก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่า ฮ่อปัจจุบันยังมีนักวิชาการที่สนใจวิชาศึกษาและพยายามค้นหาต้นตอ และถกเถียงถึงที่มาของคำๆ นี้) (เจียแยนจอง, 2537)

 

ถึงแม้นว่าผู้อพยพชาวจีนยูนนานที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของไทย จะถูกคนพื้นเมืองเรียกรวมๆ กันว่าเป็นพวก จีนฮ่อแต่ชาวจีนฮ่อก็มีลักษณะที่หลากหลายแบ่งเป็นได้หลายกลุ่ม อพยพมาจากหลายส่วนของมณฑลยูนนาน ดังนั้นจึงมีพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป จากประวัติการอพยพถิ่นฐานแบ่งได้เป็นกลุ่มๆ ดังนี้

กลุ่มแรก กลุ่มพ่อค้าชาวยูนนาน
เป็นกลุ่มคนที่เดินทางค้าขายในช่วงหน้าหนาวและหน้าแล้งโดยใช้ม้า-ล่อเป็นพาหนะ จากหลักฐานของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือของไทยในสมัยนั้น ได้กล่าวถึงกองคาราวานของพวกพ่อค้าชาวยูนนานที่เดินทางค้าขายไปมาระหว่างเทือกเขาต่างๆ จาก ยูนนานและจังหวัดในภาคเหนือของไทย (Hellet, 1890 และ Bock, 1884 อ้างใน Suthep Soonthornpasuch, 1977)

มีบุคคลท่านหนึ่งในกลุ่มนี้ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกษัตริย์ไทย ทรงแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง (ท่านขุนชวงเลียง ลือเกียรติ) เนื่องจากได้สร้างความเจริญและมีส่วนให้ความช่วยเหลือต่อคนส่วนรวม ท่านจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำของชาวมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่และในภาคเหนือในสมัยนั้น

กลุ่มที่สอง กลุ่มชาวยูนนานอพยพ

กลุ่มนี้เป็นผู้อพยพชาวยูนนานที่หลบหนีออกจากประเทศจีนเนื่องจากแรงกดดันทางการเมืองในช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนปกครองโดยราชวงศ์เซ็ง ซึ่งดำเนินนโยบายบีบคั้นและทำการกดขี่ชาวจีนแมนดารินเป็นอย่างมาก จนในปี ค.ศ. 1856 มุสลิมชาวยูนนานทั้งหลายจึงได้รวมตัวกันต่อต้านพื้นที่แถบตะวันตกของมณฑลยูนนานและตั้งเมืองตาลีฟูเป็นเมืองหลวงของยูนนาน แต่ต่อมาภายหลังผู้นำมุสลิมคือสุลต่านชาวยูนนานชื่อ สุลัยมาน ถูกสังหารจึงทำให้ชาวมุสลิมถูกไล่ล่าสังหารอย่างโหดร้าย คนจำนวนนับพันถูกเข่นฆ่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มุสลิมชาวยูนนานเป็นจำนวนมากหลบหนีเข้าสู่ประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำสาละวิน

กลุ่มที่สาม กลุ่มทหารกู้ชาติจีน

 หลังจากการปฏิวัติประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 1949 ภายใต้การนำของท่านเหมาเจ๋อตุง ซึ่งถือว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) หรือพวกจีนคณะชาติ ทำให้ทหารกองพล 93 ของจีนคณะชาติต้องถอยร่นลงมาอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และต่อมาส่วนหนึ่งได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศไต้หวัน อีกส่วนหนึ่งปักหลักอยู่ทางภาคเหนือของไทย ซึ่งรัฐบาลได้จัดสถานที่เป็นศูนย์ผู้อพยพอยู่ประมาณ 50 กว่าศูนย์ทั่วภาคเหนือ

กลุ่มที่มีบทบาทและเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิมเชียงใหม่ คือ กลุ่มของท่าน นะปะซาง (พ่อเลี้ยงเลานะ) ได้เข้ามาตั้งแคมป์อยู่บริเวณทุ่งเวสาลี ฝั่งตะวันออกของถนนโชตนา เมื่อพี่น้องมุสลิมมีจำนวนมากขึ้น ทั้งชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายปากีสถานและชาวยูนนาน ท่านพ่อเลี้ยง เลานะจึงเป็นผู้นำสำคัญในการก่อสร้างมัสยิดขึ้นที่บริเวณดังกล่าวเรียกว่ามัสยิดช้างเผือก

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว กระแสคลื่นของผู้อพยพชาวจีนยูนนานยังคงหลั่งไหลมาโดยไม่ขาดสายเป็นระลอกๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2430 กลุ่มของท่านเจิงชงหลิ่งได้เดินทางเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของเจ้าอินทนนท์กำลังปกครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น ท่านเจิ้งชงหลิ่งเป็นผู้นำคนสำคัญยิ่งของชาวยูนนานมุสลิมที่ได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมพารในประเทศไทย ท่านได้มีบทบาทในการสร้างหลักปักฐานให้กับชุมชนมุสลิมยูนนานและเป็นแกนนำในการสร้างมัสยิดบ้านฮ่อ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการสนองคุณแผ่นดินในการสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าให้กับกิจการของทางราชการต่างๆ จนได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็น ขุนชวงเลียง ลือเกียรติ



การอพยพของชาวอินเดียเชื้อสายบังคลาเทศ ปากีสถาน ในจังหวัดเชียงใหม่ **

ชาวอินเดียเชื้อสายบังคลาเทศและปากีสถานในเมืองเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศบังคลาเทศโดยผ่านทางประเทศพม่า โดยเข้ามาทางอำเภอต่างๆ ที่ติดกับชายแดน ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พักอาศัยอยู่ในอำเภอดังกล่าวระยะหนึ่งแล้วค่อยๆ เคลื่อนย้ายเข้ามาบริเวณเมืองเชียงใหม่
ในอำเภอแม่สอด แม่สาย ซึ่งติดกับชายแดนจะมีชุมชนของชาวบังคลาเทศทำหน้าที่ดูดซับผู้อพยพที่เข้ามาใหม่ซึ่งมีฐานะเป็นคนแปลกหน้าและคนต่างด้าว ซึ่งต้องการความช่วยเหลือและที่พักอาศัยชั่วคราว ระยะเวลาการพักอาศัยในชุมชนชายแดนดังกล่าวจะแตกต่างกันแล้วแต่ผู้อพยพ   แต่ละราย ถ้าไม่มีญาติพี่น้องหรือคนรู้จักในบริเวณชายแดนหรือจังหวัดที่อยู่ภายใน เขาอาจจะต้องใช้ความพยายามของตัวเองเพื่อที่จะได้ใบอนุญาตข้ามแดนหรือเข้ามาอยู่ได้อย่างถาวร ผู้อพยพคนหนึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 5-10 ปี แต่ถ้าเขามีญาติพี่น้องหรือคนรู้จักเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้วในภาคเหนือ ก็อาจใข้เวลาสั้นกว่านั้น
 ส่วนใหญ่ก่อนที่ผู้อพยพชาวบังคลาเทศจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร ในตอนแรกๆ พวกเขามักจะเข้ามาเยี่ยมชุมชนมุสลิมในเมืองเชียงใหม่เป็นระยะสั้นๆ ไปก่อน โดยอาจจะมาเยี่ยมญาติ
พี่น้องหรือไม่ก็เข้ามารับซะกาต (เงินบังคับบริจาคสำหรับผู้เป็นมุสลิมมีทรัพย์สินอยู่ในเกณฑ์ตามศาสนาบัญญัติ กำหนดในอัตราร้อยละ 2.5) ในระหว่างช่วงเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม อาจจะพักอยู่เป็นเวลา 2-3 วัน หรือเป็นอาทิตย์ก่อนจะกลับไปยังชุมชนของพวกเขา ในขณะที่มาพักอยู่ชั่วคราวก็สำรวจความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาอยู่อย่างถาวร และหากมีความเป็นไปได้แง่ของที่อยู่อาศัยหรืออาชีพก็จะอพยพเข้ามาพร้อมกับครอบครัว และเมื่อเข้ามาอยู่ในชุมชนแล้วก็จะหาบ้านและงานอาชีพโดยความพยายามของตนเอง หรือความช่วยเหลือของญาติพี่น้องและมิตรสหาย



ชุมชนผู้อพยพชาวอินเดียเชื้อสายบังคลาเทศ ปากีสถาน ย่านช้างคลาน เชียงใหม่
     ในบริเวณที่เป็นถิ่นฐานชาวบังคลาเทศ ปากีสถาน มุสลิม ซึ่งห่างจากกำแพงเมืองเก่าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ในตำบลช้างคลาน มีมัสยิดอัลยาเมี๊ยฮ์ ช้างคลาน เป็นศูนย์รวมจิตใจของมุสลิมย่านนี้ มีประชากรประมาณกว่า 2,000 คน หรือประมาณ 400 ครอบครัว
     ชาวอินเดียเชื้อสายบังคลาเทศกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่อพยพมาจากประเทศพม่าในปี พ.ศ. 2393 โดยมีท่าน มุฮัมมัด อุสมาน อาลี เมยายี กับภรรยาชาวพม่า พร้อมน้องชายและน้องภรรยาซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ในตอนแรกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ทางทิศใต้ของกำแพงเมือง แต่หลังจากอยู่มาได้ 2-3 ปี ก็พบว่าอยู่ใกล้กับคุ้มเจ้าครองนครมากเกินไป และแวดล้อมด้วยชุมชนของชาวพุทธ ทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ ท่านมุฮัมมัดและภรรยาจังได้ย้ายออกไปอยู่ในบริเวณซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวมุสลิมย่านช้างคลานปัจจุบัน โดยปล่อยให้น้องชายและน้องสาวของภรรยาซึ่งนับถือศาสนาพุทธยังคงอยู่ในชุมชนของชาวพุทธต่อไป
     สิทธิในที่ดินซึ่งชาวปากีสถานมุสลิมและครอบครัวเข้าไปตั้งบ้านเรือนได้รับพระราชทานจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ ประกอบกับพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของชุมชนที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ในระยะเริ่มแรกของการตั้งถิ่นฐานมีมุสลิมอยู่เพียง 10 กว่าครัวเรือน และจำนวนประชากรไม่ถึง 100 คน
     เมื่อกลุ่มผู้อพยพมุสลิมได้เข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ระยะแรก พวกเขามีอาชีพในการเลี้ยงวัวเพื่อขายเนื้อและนมเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันเนื่องจากพื้นที่ที่จะใช้เลี้ยงวัวมีจำกัด และความไม่สะดวกต่างๆ ในบริเวณเมืองเป็นปัญหาในการเลี้ยงวัว ชาวบังคลาเทศมุสลิมจำนวนมากได้หันไปผูกขาดการตั้ง โรงฆ่าสัตว์และค้าเนื้อวัวในตลาดเมืองเชียงใหม่ ส่วนที่เหลือก็ขายพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล และทำการค้าปลีกอื่นๆ สำหรับผู้มีการศึกษาก็จะเข้าทำงานในหน่วยงานราชการและบริษัทห้างร้านในจังหวัดเชียงใหม่

 

     ปัจจุบันมีคนมุสลิมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนอพยพมาจากทางภาคใต้ของประเทศไทยเชื้อสายมาลายู  อาศัยรวมอยู่ในชุมชนมุสลิมต่าง ๆ บางส่วนอพยพมาจากประเทศพม่าเชื้อสายจีน กลุ่มหลังนี้เรียกว่า คนจีนปางหลง ปีจจุบันเข้ามามีบทบาทมากพอสมควรในกลุ่มมุสลิมเชียงใหม่  เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่น่าสนใจกลุ่มหนึ่ง  ต่อไปคงจะหาโอกาสค้นคว้าหาประวัติความเป็นมาของมุสลิมกลุ่มนี้ 



บรรณานุกรม
หนังสือครบรอบ 80 ปี มัสยิดบ้านฮ่อ,2539*สุชาติ  เศรษฐมาลินี
-สุเทพ สุนทรเภสัช. ชาติพันธ์: แนวคิดพื้นฐานทางมานษยวิทยาในการศึกษาอัตลักษณ์ กลุ่มชาติพันธ์ กรุงเทพฯ: ส.น.พ. เมืองโบราณ (ลอกข้อความ) **

 

หมายเลขบันทึก: 212163เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ ท่านชุมพล ศรีสมบัติ ผมชื่อตะวันครับ ตอนนี้ได้เข้ามาทำธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ ผมได้ศึกษาประวัติของท่านมาคร่าวๆ จึงอยากได้มีโอกาสทำความรู้จักกับท่าน หวังว่าเมื่อท่านเห็นข้อความนี้แล้วจะติดต่อกับมาน่ะครับ ตะวัน 082-3893120,086-4289528

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท