ดอกรัก
นาง อมรรัตน์ เปิ้ล เถื่อนทอง

ครอบครัวมีรอยยิ้ม


วิธีการจัดการกับการดำเนินชีวิตเพื่อครอบครัวมีสุข

เครือข่ายฯได้เสนอยุทธศาสตร์เร่งด่วน 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1.ให้เรื่องครอบครัวเป็น "วาระแห่งชาติ" ระดมทุกองค์กรของสังคม, ทุกส่วนทั้งภาครัฐทุกกระทรวง ทุกระดับจากส่วนกลางถึงจังหวัดและ   ท้องถิ่น   เอกชน และชุมชนท้องถิ่นตระหนักความสำคัญ,สำรวจและทบทวนเพื่อหาทางใช้กลไกของรัฐและสังคมมาร่วมกันส่งเสริมให้โอกาส และปกป้องคุ้มครองครอบครัวจริงจังเพื่อให้ครอบครัวสามารถดำรงรักษา และทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มศักยภาพ

2.สร้างพื้นที่จัดการเรียนรู้ด้านครอบครัวให้เต็มประเทศ ใช้ทุกรูปแบบ ใช้ทุกกลไก โดยระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง   จัดเป็นภารกิจสร้างการเรียนรู้สู่ครอบครัวในทุก "ชุมชน" เด็กและเยาวชนทุกคนได้เรียนรู้ด้าน "ครอบครัวศึกษา" อย่างเหมาะสมกับวัย ในระบบและนอกระบบโรงเรียน   คนหนุ่มสาว/คู่สมรสให้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและสื่อต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมก่อนตั้งครอบครัว   พ่อแม่มีโอกาสเรียนรู้เพื่อพัฒนาลูก พัฒนาตนและความสัมพันธ์   ตามวัย ต่อเนื่อง ตลอดวงจรชีวิต มีเวทีให้ครอบครัวได้สื่อสารแลกเปลี่ยนกันในชุมชน

3.ให้มีพื้นที่สาธารณะ "คุณภาพ"สำหรับเด็กและครอบครัวในทุกชุมชน "ขยายพื้นที่สร้างสรรค์ จำกัดพื้นที่ไม่สร้างสรรค์"   เพิ่มพื้นที่คุณภาพทางด้านกายภาพ เพิ่มสวนสาธารณะ   สนามเด็กเล่นปลอดภัยในชุมชน เพิ่มลานกีฬา เพิ่มห้องสมุด เพิ่มพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้   เพิ่มพื้นที่กิจกรรม(ที่ไม่ยึดติดทางกายภาพ)พัฒนากิจกรรมแก่เด็กและครอบครัวอย่างทั่วถึงทุกระดับ ไม่เฉพาะในเมือง ให้ครอบครัวกลุ่มต่างๆสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย   จัดระบบ "โซนนิ่ง" พื้นที่ไม่สร้างสรรค์อย่างจริงจังในทุกชุมชน

4. พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ต่อครอบครัว   จำกัดควบคุมสื่อที่ทำร้ายเด็กและครอบครัวอย่างจริงจัง   ส่งเสริมการผลิตและเผยแพร่สื่อคุณภาพจริงจัง   รณรงค์ใหญ่ในเรื่องครอบครัวผ่านสื่อมวลชนทั้งประเทศ   จัด rating สื่อ   เด็ดขาดในการกำจัดสื่อลามก สื่อรุนแรง   หนุนกลไกภาคประชาคมในการเฝ้าระวังสื่อ

5. ปรับปรุงกฎหมายและระบบสวัสดิการเพื่อปกป้องและช่วยเหลือครอบครัวทุกกลุ่มให้เกิดผลบังคับใช้กฎหมายลาคลอดให้จริงจัง   ลงโทษนายจ้างที่ฝ่าฝืน   ใช้มาตรการทางภาษีจูงใจให้สถานประกอบการลงทุนในสวัสดิการครอบครัว ; ศูนย์เลี้ยงเด็ก วันหยุด วันลา ฯลฯ   และเพิ่มความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ยากลำบากพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่ที่มีลูกพิการ   พ่อแม่ที่ยากจนฯลฯอย่างเหมาะสมพอเพียง

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า หากรัฐฯทอดทิ้งการพัฒนาครอบครัว พ่อแม่ย่อมขาดความสามารถในการดูแลเด็กและครอบครัวตนเอง   รัฐบาลก็ไม่อาจหวังได้ว่าคนไทยจะสามารถยืนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งในโลกแห่งการแข่งขัน   เพราะสถานการณ์ครอบครัวไทยปัจจุบันมีปัญหาและมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ ปัจจุบันครอบครัวเดี่ยวในสังคมไทยมี 55.5 % ครอบครัวขยายเหลือ 32.1 % (2545) อัตราจดทะเบียนสมรส ลดลง 8% ในเวลา 5 ปี การอยู่ร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนสูงขึ้น อัตราการหย่าร้างสูงขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะเขตกรุงเทพและปริมณฑลครอบครัวไทยที่แตกแยกหย่าร้าง 3 ล้านครอบครัว คิดเป็น 20% ของจำนวนครอบครัวเดี่ยวทั้งหมด 16 ล้านครอบครัว   ครอบครัวแบบพ่อหรือแม่คนเดียวเลี้ยงลูก(single-parent family) มีถึง 1.3 ล้านครอบครัว

ในข้อเสนอดังกล่าวระบุต่อไปว่า ปัจจุบันครอบครัวไทยอ่อนแอไม่สามารถหล่อหลอมและปลูกฝังค่านิยมคุณธรรมแก่บุตรหลานได้ เพราะมุ่งหาเงินเป็นหลักจนไม่ให้เวลา, ไม่เข้าใจต่อบทบาทหน้าที่, ขาดความเชื่อมั่นต่อบทบาทของตน ผลักภาระให้แก่สถาบันอื่น เช่น สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ฯลฯ ซึ่งก็ไม่สามารถรับบทบาทแทนได้   ครอบครัวขาดสัมพันธภาพที่เกื้อหนุนกัน ครอบครัวเดี่ยวขาดญาติพี่น้องช่วยประคับประคอง ค่านิยมชีวิตแบบตัวใครตัวมัน การหย่าร้างแตกแยก ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ฯลฯ

ครอบครัวขาดความสามารถในการปกป้องสมาชิกโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน จากภัยต่างๆ ที่อยู่ในสังคมภายนอกที่มาจาก ความรู้ไม่เท่าทันสื่อและกระแสโลก ติดยาเสพติดง่าย การยั่วยุและการสำส่อนทางเพศที่สูงขึ้น การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การติดโรคเอดส์ในเด็กสูงขึ้น การบริโภคเกินตัว วัตถุนิยม ความรุนแรงในเด็กสูงขึ้น เป็นต้น   ครอบครัวขาดหลักยึดในการดำเนินชีวิตและไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆที่เผชิญได้อย่างเหมาะสม ใช้ความรุนแรง แตกแยกหย่าร้างโดยง่าย มีหนี้สิน ทอดทิ้งบุตร ครอบครัวขาดโอกาสเรียนรู้ เข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับครอบครัวตนเองในช่วงเวลาต่างๆ(มีลูกอ่อน ลูกวัยรุ่น พ่อแม่แก่เฒ่า ฯลฯ) และเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขาดกลไกสนับสนุนครอบครัวไม่ว่าจากภาครัฐ /ภาคเอกชน หรือในชุมชน   ยังมีค่านิยมว่าเรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว

นอกจากนี้ทิศทางเศรษฐกิจของสังคม การไหลบ่าทางวัฒนธรรมผ่านสื่อ ทิศทางการศึกษา   ยังเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบสำคัญและรุนแรงต่อครอบครัว และเด็กเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากครอบครัวที่อ่อนแอโดยตรง   โครงการเด็กไทยรู้ทันพบว่า   เด็กและเยาวชนอายุ 5-24 ปีใช้เงินซื้อขนมปีละ 161,580 ล้านบาท(มากกว่างบประมาณของ 6 กระทรวงรวมกัน) แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยชี้ว่า เด็กอ้วนเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพนานัปการเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า วัยรุ่นสตรี 15-19 ปีมีอัตราการบริโภคสุราเพิ่มสูงสุด คือ 5.6 เท่าในช่วงเวลา 12 ปี   โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทยพบว่า เด็กในชนบทร้อยละ 37.3อยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายายในชนบท และเด็กกำพร้าหรือที่อยู่กันตามลำพังมีถึง 8.2 %   สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า การติดเอดส์ในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง 15-19 ปี

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และ Child Watch พบว่าวัยรุ่นช่วงมัธยมและอุดมศึกษาอยู่ในวงจรพนันบอลถึง 400,000-500,000 คนหรือ 5% ของกลุ่มอายุและคิดเป็น 25% ของคนที่เล่นพนันบอลทั้งหมด สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดลชี้ว่า วัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกที่อายุเฉลี่ย 14-18 ปี และมีแนวโน้มว่าอายุจะต่ำลงเรื่อยๆ   เอแบคโพลพบว่า วัยรุ่นนิยมซื้อสินค้ามียี่ห้อมากขึ้นทั้งที่ยังไม่มีรายได้   สถาบันดูเร็กซ์ ทำวิจัยพบว่า

- เด็กไทยมีค่านิยมมีคู่นอนมากกว่า 1 คน       "สูงที่สุดในโลก"

- เด็กไทยเริ่มเรียนรู้เพศศึกษา             "ช้าที่สุดในโลก"

- เด็กไทยใช้ถุงยางเมื่อมีเซ็กส์ครั้งแรก       "น้อยที่สุดในโลก"

- พ่อแม่ไทยมีการสอนเรื่องเพศแก่ลูก         "น้อยที่สุดในโลก"

เครือข่ายองค์กรฯระบุว่า   รัฐบาลยังต้องทบทวนและปรับนโยบายด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆให้มาอยู่ในจุดที่สมดุลกับการพัฒนาคนและสังคมด้วย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอโดย กล่าวว่า รัฐบาลเองให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ โดยได้ส่งเสริมการสร้างห้องสมุด และกำลังสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ของประเทศขึ้นมาถึง 4 แห่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกฯเรียกว่า "แหล่งมั่วสุมเชิงสร้างสรรค์" และกำลังบังคับใช้ กม.ความรุนแรงในครอบครัว   มีประเด็นปัญหาเรื่องความรุนแรงในเด็ก โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงที่เกิดจากสื่อลามก อินเตอร์เน็ต และเหล้า-บุหรี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของระบบที่สังคมไทยยังขาดอยู่ คือ เรื่องครอบครัว เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสื่อ เรื่องปัญหาเด็ก เยาวชน เป็นเรื่องที่มีผลโดยทางอ้อม แต่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงคือครอบครัว ซึ่งยังไม่มีการจัดการที่เป็นระบบโดยตรง อีกเรื่องคือ ระบบงานของไทย กระทรวงต่างๆ เมื่อย่อยลงมามีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูแลในเรื่องเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนยากจน คนพิการ เด็กเร่ร่อน   แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดเลยที่จับปัญหาเรื่องครอบครัวโดยตรง อาจจะเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมานาน เดิมเราก็ทราบว่าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็งอยู่ในตัว เป็นธรรมชาติ และมีความสำคัญต่อสังคม และไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอกว่าเราจะต้องทำอะไรกับครอบครัว หรือครอบครัวจะต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่น จึงทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ได้เข้ามารับผิดชอบงานด้านครอบครัว

แต่ในระยะหลังครอบครัวได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความคิดเห็น วิถีชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้กระทบต่อครอบครัวอย่างมาก ทำให้ครอบครัวเกิดปัญหา ทำให้ความเป็นสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง ที่ช่วยทำให้สังคมอยู่ได้ด้วยความสงบสุข ถูกลดบทบาทลงไป ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายรัฐบาลก็จะต้องคิดต่อว่าจะจัดระบบองค์กรอย่างไร โดยใช้ประเด็น ตัวปัญหาเป็นตัวตั้ง ก็คือคำว่า "ครอบครัว" แล้วไปดูว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องไปปฏิบัติบ้าง โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันว่าถ้าจะแก้กฎหมาย ปรับนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายสาธารณสุข ทำอย่างไรถึงจะทำให้ครอบครัวเข้มแข็งขึ้นมาได้ อันดับแรกคือต้องทำให้คนในสังคมทุกคนรู้สึกว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องครอบครัว แม้ว่าจะมีคนสนใจมากขึ้น มีองค์ความรู้มากขึ้นในสังคมไทย แต่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่สนใจจริงยังเป็นคนส่วนน้อยมาก คนส่วนใหญ่ซึ่งครอบครัวตนเองถูกผลกระทบพ่อแม่ลูกไปคนละทิศคนละทาง ถือว่าสิ่งนี้คือปัญหาที่ครอบครัวได้เผชิญอยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักมาก แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับรู้   ไม่มีความเข้าใจ ว่านี่คือครอบครัวกำลังถูกผลกระทบ   แล้วจะมีวิธีการรับมืออย่างไร จะปรับตัวกันอย่างไร ชุมชนจะทำอย่างไรให้ครอบครัวเป็นอย่างเดิม ซึ่งทุกคนครอบครัว ในชุมชนไม่ได้เข้าใจแบบนี้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องพัฒนามาเป็นองค์ความรู้ สร้างให้เกิดเป็นสำนึก ทำให้ทุกคนเข้าใจสภาพปัญหาเหล่านี้ร่วมกันเสียก่อน จากนั้นจึงจะนำข้อเสนอนโยบายต่างๆ เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์

นายดำรง   พุฒตาล ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา.ให้มุมมองต่อข้อเสนอฯครั้งนี้ว่าเห็นด้วยว่ารัฐบาลต้องเร่งการพัฒนาสื่อที่สร้างสรรค์ต่อครอบครัว   จำกัดควบคุมสื่อที่ทำร้ายเด็กและครอบครัวอย่างจริงจัง เด็ดขาดในการกำจัดสื่อลามก สื่อรุนแรง   หนุนกลไกภาคประชาคมในการเฝ้าระวังสื่อ ไม่อย่างนั้นปัญหาที่สังคมไทยต้องเผชิญอีกปัญหาที่สื่อนำมาให้คือเกิดโรค"อ้วน"จะเป็นโรคระบาดในเด็กไทย ทำให้อนาคตของชาติ"เตี้ย"และ"โง่"ลง และตายเร็วขึ้น   รัฐต้องจัดการกับสื่อในเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยระบุต่อไปว่า ในหลายประเทศให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่นที่ สวีเดนห้ามโฆษณาสินค้าสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี นอรฺเวย์ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชม.ในสื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นต้น   และขอสนับสนุนการสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้ครอบครัวไทย ต้องมีการจัดการเรียนการสอนให้คนหนุ่มสาวก่อนใช้ชีวิตคู่อย่างกว้างขวางจริงจัง

คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ว่าเรามี เนื่องจากรัฐบาลไม่เคยประชาสัมพันธ์ นั่นคือเรื่อง ร่างพรบ.ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุหมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พรบ.ดังกล่าวบอกไว้ว่า "ผู้สูงอายุสามารถเข้าไปเที่ยวในที่สาธารณะที่เป็นของรัฐโดยไม่ต้องเสียเงินในการเข้าชม" ไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์ วนอุทยาน   พิพิธภัณฑ์   ซึ่งพรบ.นี้ได้ใช้มา 2 ปีแล้ว จึงอยากจะเสนอว่า รัฐควรจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้   เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของครอบครัวที่พวกเขาจะต้องรับรู้ ข้อเสนออีกเรื่องคือการเรียนรู้   เขาบอกว่าการขับรถจะต้องมีการสอบใบขับขี่ แต่เวลาแต่งงาน มีครอบครัว กลับไม่มีการเรียนรู้   ผมจึงเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่มีการเสนอนโยบายด้านครอบครัวที่เกิดจากภาคีที่ทำงานด้านนี้ และเป็นประเด็นที่น่าฟัง อีกเรื่องที่ถูกมองข้ามไป คือเรื่อง ร่าง พรบ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 45 มีว่า ถ้าลูกของท่านอายุต่ำกว่า 18 ปี ไปดื่มสุรา เมื่อตำรวจจับได้จะต้องเชิญพ่อแม่มาเซ็นรับ มาประกันตัว แต่เราก็ไม่เคยเห็นตำรวจไปเชิญพ่อแม่มาทำตามกฎหมายนี้เลย เมืองไทยนั้นกฎหมายไม่ชราภาพ แต่การบังคับใช้ไม่ทำจริง จึงอยากจะขอจากรัฐบาลว่ากฎหมายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เด็ก เยาวชน อยากให้ทำจริง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ   สนับสนุนว่าต้องจัดการสื่ออย่างจริงจัง   ข้อมูลตามหลักวิชาการเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ขวบแยกไม่ออกว่าสิ่งที่สื่อโฆษณาหรือส่งมานั้นดีไม่ดี   รัฐต้องมีใช้กลไกดูแลครอบครัวอย่างเต็มที่   หากไม่มาเข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจังปัญหาจะวิกฤติลงทุกที   ข้อมูลการสำรวจว่าเด็กไทยที่ต้องคดีมากกว่า 50% เป็นเด็กที่บ้านแตกสาแหรกขาด   เสนอให้ "นายกพบพ่อแม่"   เพื่อรู้ถึงปัญหาและหัวอกพ่อแม่และได้รับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต รุ่น 32550
หมายเลขบันทึก: 212136เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท