สุขทุกข์


สุขก่อนทุกข์หรือทุกข์ก่อนสุข

 

ความจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขทุกข์

เมื่อตามรู้ไปเรื่อยๆถึงจุดหนึ่ง จะเกิดความยอมรับออกมาจากจิตที่เป็นกลาง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เห็นว่าความสุขทางใจนั้นมีอายุยืนนานกว่าความสุขอันเกิดจากผัสสะที่น่าชอบใจ

ปกติการใช้ชีวิตของคนในโลกที่ตะกลามหาเครื่องกระทบน่าต้องใจ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่างๆนั้น เขามีความสุขกันแบบวูบๆวาบๆไม่ต่างอะไรจากไฟไหม้ฟาง คนเราเห็นอะไรเดี๋ยวเดียวก็ต้องเปลี่ยนสายตาไปทางอื่น ฟังอะไรเดี๋ยวเดียวประสาทหูก็เหมือนจะหยุดทำงานลงเฉยๆ ทุกประสาทสัมผัสมีความสามารถรับรู้สิ่งกระทบที่เข้าคู่กับตนได้เพียงประเดี๋ยวประด๋าว

เราจะเห็นตามจริงว่าความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในคนธรรมดานั้น มักจะมาจากผัสสะที่พิเศษ ส่วนใหญ่ในเวลาปกติคนเราจะรู้สึกเฉยๆ และเหมือนมีจิตคิดจ้องรอเสพผัสสะที่กระตุ้นให้เกิดความสุขแรงๆกว่าปกติเสมอ

ความสุขที่พุ่งระดับขึ้นแรงนั้นน่าติดใจ เพราะรสชาติของผัสสะมีความแหลมคมถึงอารมณ์เป็นยิ่งนัก ดูๆแล้วเหมือนพวกเราเป็นโรคอะไรบางอย่างทางกาย ที่ต้องเกา ต้องคัน หรือกระทั่งต้องผิงไฟเพื่อความเผ็ดแสบ ยิ่งเผ็ดแสบยิ่งมัน ยิ่งอยากเกาให้มาก พอเกาเดี๋ยวเดียวก็ยั้งมือไว้ด้วยความเบื่อหน่ายหรือเจ็บปวด แล้วก็ต้องลงมือแกะเกาเอามันกันใหม่ รอบแล้วรอบเล่าไร้ที่สิ้นสุด

แต่เมื่อเริ่มรู้จักรสสุขอันเกิดจากความมีจิตสงบนิ่ง เราจะเห็นความต่างราวกับเปรียบเทียบน้ำแก้วเดียวกับน้ำในบ่อใหญ่ มันไม่โลดโผนโจนขึ้นสู่ระดับของความสะใจสุดขีดก็จริง แต่ทว่าก็มีความเรียบนิ่งสม่ำเสมอที่เต็มตื้นเป็นล้นพ้นได้เช่นกัน

เมื่อลองใช้ชีวิตอีกแบบที่เลิกตรึกนึกถึงกาม เลิกเฝ้ารอกาม และเฝ้าดูลมหายใจกับการเคลื่อนไหวทางกาย เป็นอยู่ด้วยสติรู้เห็นลมหายใจและอิริยาบถโดยมาก เราจะเริ่มคุ้นกับความสุขแบบใหม่ เป็นสุขนิ่ง สุขเย็น สุขนาน ไม่กระสับกระส่าย

ในความรู้ชัดเห็นชัดว่าสุขทางใจนั้นนิ่งเย็นเนิ่นนาน เพียงกำหนดดูโดยปราศจากความลำเอียงใดๆ ปราศจากความอยากเหนี่ยวรั้งให้รสสุขชนิดนั้นอยู่กับเรานานๆ เราจะพบว่าความสุขก็ไม่เที่ยง ทนตั้งอยู่ในรสวิเวกลึกซึ้งเช่นนั้นไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ในที่สุดก็ต้องแปรปรวนไป ดังนี้เป็นสภาพที่เราเคยเห็นมาก่อนแล้วในลมหายใจ ที่มีเข้าก็ต้องมีออก มีออกก็ต้องมีเข้า รวมทั้งมีการพักลม หยุดลมชั่วคราวด้วย

ถัดจากนั้นเราจะเริ่มเปรียบเทียบได้ออก ว่าหากปราศจากเครื่องหล่อเลี้ยงสุข จิตจะคืนสู่สภาพเฉยชิน และเราอาจสังเกตเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือเมื่อเผลอฟุ้งซ่านหน่อยเดียว ใจจะเป็นทุกข์ มีความอัดอั้นแทรกความว่างสบายขึ้นมาทันที ถ้ามาถึงตรงนี้ได้แสดงว่าจุดที่เรายืนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มุมมองเริ่มพลิกไปแล้ว มีการเปรียบเทียบใหม่ๆเกิดขึ้นแล้ว เพราะเราได้ไปเห็น ไปรับรู้ ไปเสพรสสุขอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างนั่นเอง

จะสุขมากหรือสุขน้อย จะสุขนานหรือสุขเดี๋ยวเดียว พระพุทธเจ้าให้กำหนดดูตามจริงว่า พวกมันต่างก็มีความไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนและดับสลายลงเป็นธรรมดาทั้งหมดทั้งสิ้น เบื้องแรกคือให้เปรียบเทียบก่อน ว่าสุขมากเป็นอย่างหนึ่ง ในเวลาต่อมาสุขน้อยลงก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือเมื่อทุกข์มากก็เป็นอย่างหนึ่ง ในเวลาต่อมาทุกข์น้อยลงก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

พอทำความสังเกตเข้าไปบ่อยเข้า ในที่สุดก็ถึงจุดหนึ่งที่จิตมีความชินจะเห็นสุขเห็นทุกข์ได้เท่าทันในขณะแห่งการเกิด และขณะแห่งการดับ เมื่อนั้นเราจะคลายจากอุปาทานว่าสุขเป็นของเที่ยง สุขเป็นของน่าเอา สุขเป็นของน่าหน่วงเหนี่ยวไว้นานๆ ขณะเดียวกันก็จะคลายจากอุปาทานว่าทุกข์เป็นสิ่งยืดเยื้อทรมาน ทุกข์เป็นของไม่น่าเกิดขึ้น ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรีบผลักไสให้พ้นเราเดี๋ยวนี้ เราจะมีปัญญาเห็นตามจริงว่าสุขและทุกข์เกิดจากเหตุ เกิดจากผัสสะกระทบ เมื่อเหตุดับ เดี๋ยวสุขทุกข์ก็ต้องดับตามไปเอง ไม่เห็นต้องน่าเดือดเนื้อร้อนใจหรือกระวนกระวายใฝ่หา แล้วเราก็จะพบว่าการมีจิตใจสงบ ไม่ดิ้นรนจัดการกับสุขทุกข์ให้เหนื่อยเปล่านั่นแหละ เป็นสุขอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วยปัญญาจากวิชา รู้ตามจริงของพระพุทธเจ้า

คำสำคัญ (Tags): #สุขทุกข์
หมายเลขบันทึก: 212123เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • แวะผ่านมาได้ฟังธรรมพอดี  
  • เห็นด้วยๆๆเจ้าค่ะ
  • ว่าการมีจิตใจสงบ ไม่ดิ้นรนจัดการกับสุขทุกข์ให้เหนื่อยเปล่านั่นแหละ เป็นสุขอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วยปัญญาจากวิชา ‘รู้ตามจริง’ ของพระพุทธเจ้า
  • ขอบคุณมากๆ  สำหรับเรื่องดีๆ  ที่นำมาเสนอ

ทั้งสุข และ ทุกข์ ล้วนเป็น ทุกข์ทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้า ท่านจึงสอนให้ออกจากทุกข์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท