การใช้ยานอนหลับ


การใช้ยานอนหลับ

การนอนไม่หลับเป็นความทรมานอย่างหนึ่ง ที่มีสาเหตุได้มากมายตั้งแต่ความเครียด ฟุ้งซ่าน ความไม่สบายกายจากโรคบางอย่าง บรรยากาศสภาพแวดล้อมภายในห้องหรือที่นอนไม่เหมาะสมทำให้นอนหลับไม่สบาย หลายคนเครียดเรื้อรังพาลให้เป็นโรคนอนไม่หลับ (insomnia) จึงหันไปพึ่งยานอนหลับ การใช้เป็นครั้งคราวคงไม่มีผลใดมากนัก แต่หากใช้จนติดเป็นนิสัย ชนิดที่ว่าถ้าจะนอนต้องใช้ยา อย่างนี้ไม่ต่างจากคนติดยา เพราะใช้ไปใช้มาก็จะเกิดอาการดื้อยา ต้องเพิ่มปริมาณ หรือไม่ก็ใช้ไม่ได้ผล คือถึงจะกินไปก็นอนไม่หลับ อีกทั้งยังมีอาการข้างเคียงหลายลักษณะจากฤทธิ์ของยาที่ทำให้คุณรู้สึกว่ากายใจไม่เป็นปกติ เช่น ความรู้สึกกังวลโดยไร้สาเหตุ วิงเวียน สับสน มีอาการหลงลืม ตาลาย เบลอ มวนท้อง เป็นต้น ดังนั้นถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ เรามีข้อแนะนำดังนี้

  • ปรึกษาหมอ แล้วอย่าลืมเล่าอาการที่เป็น บอกคุณหมอด้วยว่าคุณเคยใช้ยา หรือยังใช้ยานอนหลับอะไรอยู่
  • ห้ามใช้ยานอนหลับในขณะตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคไต และโรคตับ
  • หากจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับให้เลือกใช้ปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณตามที่ฉลากยาหรือที่ข้างกล่องแจ้งไว้ ถ้าคุณเริ่มต้นใช้ปริมาณต่ำกว่าที่ฉลากกำหนดได้จะดีต่อตัวคุณเอง
  • ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าคุณคิดว่าคุณจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ เพราะตัวยากับแอลกอฮอล์จะตีกันเป็นอันตรายร้ายแรงได้
  • ห้ามขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลเมื่อคุณใช้ยานอนหลับ และคำนึงถึงเสมอ ว่าฤทธิ์ของยากว่าจะหมดจริงๆ ก็ในอีกวันถัดไป
  • ห้ามให้ยานอนหลับกับเด็ก หรือกระทั่งเด็กแรกรุ่นที่กำลังโต ควรจะให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอช่วยดีกว่าหากว่าเด็กมีปัญหานอนไม่หลับ
  • สำหรับผู้สูงอายุ กว่า 60 ปี ขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานอนหลับ และปริมาณที่ผู้สูงอายุใช้ก็จะต่ำกว่าคนหนุ่มสาว และฤทธิ์ของมันก็จะอยู่นานกว่า
  • ห้ามใช้ยานอนหลับในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในการทำให้ลืมความปวดด้วยการหลับเพื่อไม่รับรู้แทน แต่ถ้าคุณมีอาการเจ็บปวดจากโรคหรือสาเหตุใดก็ตามก็ควรรักษาบำบัดให้ถูกต้องโดยใช้ยาแก้ปวดหรือน้ำมันนวดแก้ปวด
  • ปรึกษาหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาว่า กว่ายาจะออกฤทธิ์นั้นใช้เวลาเท่าไรถึงจะง่วง เพราะจะทำให้รู้เวลาคุณเตรียมการหรือจัดการภารกิจต่างๆ ให้เสร็จพร้อมก่อนนอน

การใช้ยานอนหลับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งมีประโยชน์ในยามที่จำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตามร่างกายมนุษย์ยังต้องการการพักผ่อนนอนหลับตามธรรมชาติอยู่ดี หากคุณมีปัญหาการนอนหลับ คงต้องลองปรับอะไรหลายๆ อย่างดูก่อนที่จะหันไปพึ่งยา เช่น วิธีลดความเครียด การปรับบรรยากาศแวดล้อมในห้องนอน ขาดการออกกำลังกายหรือเปล่า รับประทานอาหารใกล้เวลานอนให้น้อยลง เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 212091เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท