นาฎศิลป์...ไทย


ละครดึกดำบรรพ์

          ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ กำเนิดขึ้น ณ บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว. หลาน กุญชร ) โดยแสดง ณ โรงละครของท่านที่ตั้งชื่อว่า "โรงละครดึกดำบรรพ์" เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ได้เดินทางไปยุโรปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และมีโอกาสได้ชมละครโอเปร่า (Opera) ซึ่งท่านชื่นชมการแสดงมาก เมื่อกลับมาจึงคิดทำละครโอเปร่าให้เป็นแบบไทย จึงเล่าถวาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็โปรดเห็นว่าดี ในการสร้างละครดึกดำบรรพ์ครั้งนี้ นอกจากท่านจะเป็นผู้สร้างโรงละครดึกดำบรรพ์ สร้างเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์การแสดงแล้ว ท่านยังได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่สำคัญ ได้แก่
          - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์บท และทรงเลือกสรรปรับปรุงทำนองเพลง ออกแบบฉาก และกำกับการแสดง
          - หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันท์) เป็นผู้จัดทำนองเพลงควบคุมวงดนตรี และปี่พาทย์
          - หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ภรรยาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เป็นผู้ปรับปรุง ประดิษฐ์ท่ารำ และฝึกสอนให้เข้ากับบท และลำนำทำนองเพลง
          ละครดึกดำบรรพ์ได้ออกแสดงครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เนื่องในโอกาสต้อนรับเจ้าชายเฮนรี่ พระอนุชาสมเด็จพระเจ้ากรุงปรัสเซีย ซึ่งเป็นพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ละครดึกดำบรรพ์ได้รับความนิยมตลอดมา จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เกิดอาการเจ็บป่วยถวายบังคมลาออกจากราชการ ทำให้ต้องเลิกการแสดงละครดึกดำบรรพ์ไป นับแต่เริ่มแสดงละครดึกดำบรรพ์จนเลิกการแสดงรวมระยะเวลา ๑๐ ปี

ผู้แสดง
          ใช้ผู้หญิงล้วน ผู้ที่จะได้รับคัดเลือกให้แสดงละครดึกดำบรรพ์จะต้องมีความสามารถพิเศษด้วยคุณสมบัติ คือ
          - เป็นผู้ที่มีเสียงดี ขับร้องเพลงไทยได้ไพเราะ
          - เป็นผู้ที่มีรูปร่างงาม รำสวย ยิ่งผู้ที่จะแสดงเป็นตัวเอกของเรื่องด้วยแล้ว ต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์อย่างมาก

การแต่งกาย
          เหมือนอย่างละครในที่เรียกว่า "ยืนเครื่อง" นอกจากบางเรื่องที่ดัดแปลงเพื่อความเหมาะสม และให้ตรงกับความเป็นจริง

เรื่องที่แสดง
          ที่เป็นบทละครบางเรื่อง และบางตอน พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้แก่ เรื่องสังข์ทอง เรื่องคาวี ตอนสามหึง เรื่องอิเหนา ตอนไหว้พระ เรื่องสังข์ศิลป์ชัยภาคต้น เรื่องกรุงพานชมทวีป เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอุณรุฑ เรื่องมณีพิชัย
          - บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ เรื่องศกุนตลา เรื่องท้าวแสนปม เรื่องพระเกียรติรถ
          - บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ได้แก่ เรื่องสองกรวรวิก เรื่องจันทกินรี เรื่องพระยศเกตุ

การแสดง
          จะผิดแปลกจากละครแบบดั้งเดิม เพราะผู้แสดงต้องร้องเองรำเอง ไม่มีบรรยายกิริยาของตัวละคร ได้มีการปรับปรุงการแสดงความเป็นไปในเนื้อเรื่องของละครดึกดำบรรพ์ พยายามแสดงให้สมจริงสมจังมากที่สุด มีการตกแต่งฉาก และสถานที่ ใช้แสง สี เสียง ประกอบฉาก นับเป็นต้นแบบในการจัดฉากประกอบการแสดงของโขน - ละครต่อมา การแสดงมักแสดงตอนสั้นๆให้ผู้ชมละครชมแล้วอยากชมต่ออีก

ดนตรี
          ใช้ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เพื่อความไพเราะนุ่มนวล โดยการผสมวงดนตรีขึ้นใหม่ และคัดเอาสิ่งที่มีเสียงแหลมเล็กหรือดังมากๆออกเหลือไว้แต่เสียงทุ้ม ทั้งเพิ่มเติมสิ่งที่เหมาะสมเข้ามา เช่น ฆ้องหุ่ยมี ๗ ลูก ๗ เสียง ต่อมาเรียกว่า "วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์"

เพลงร้อง
          นำมาจากบทละคร โดยปรับปรุงหลายอย่าง คือ
          - ตัดคำว่า "เมื่อนั้น" "บัดนั้น" เมื่อจะกล่าวถึงใครออก โดยให้ตัวละครรำใช้บทเพื่อให้เข้าใจว่าใครเป็นผู้พูด
          - คัดเอาแต่บทเจรจาไว้ โดยยกบทเจรจามาร้องรำ ให้ตัวละครร้องโต้ตอบกันเอง
          - ไม่มีบทที่กล่าวถึงกิริยาของตัวละครว่า จะนั่ง จะเดินซ้ำอีก ทำให้ผู้แสดงไม่เคอะเขิน
          - บรรยายภาพไว้ในบทร้อง ประกอบศิลปะการรำ
          - ไม่มีคำบรรยาย
          - บทโต้ตอบ ทุ่มเถียง วิวาท ใช้บทเจรจาเป็นกลอนแทน และเจรจาเหมือนจริง
          - มีการนำทำนองเสนาะในการอ่านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาใช้
          - มีการนำเพลงพื้นเมือง เพลงชาวบ้าน การละเล่นของเด็กมาใช้
          - มีการเจรจาแทรกบทร้องโดยรักษาจังหวะตะโพนให้เข้ากับบทร้อง และอื่นๆ

สถานที่แสดง
          มักแสดงตามโรงละครทั่วไป เพราะต้องมีการจัดฉากประกอบให้ดูสมจริงมากที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #ป.บริหาร รุ่น 3
หมายเลขบันทึก: 211999เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท