คิดแบบโลกปัจจุบัน


คิดแบบโลกปัจจุบัน
ในยุคโลกไร้พรมแดนหรือสังคมข่าว เช่นในปัจจุบันนี้ ผู้ที่อยู่ในสังคมคนทำงานแล้วย่อมสามารถเข้าใจได้อย่างดียิ่งว่า การศึกษามิใช่เป็นเพียงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตเท่านั้น แต่การศึกษาเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต วิชาการบางสาขาวิชาอาจเริ่มล้าสมัยไปในระยะเวลาอันสั้น หลังจากผู้ที่ศึกษาวิชาการนั้น ๆ สำเร็จการศึกษาไปแล้ว

 

นอกจากนั้น จากการศึกษาและการวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นด้วยอีกว่า ในช่วงชีวิตของบุคคลคนหนึ่งนั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอาชีพหรือการทำงานได้มากกว่า 3 อาชีพ โดยที่ในการเปลี่ยนแปลงอาชีพนั้น บุคคลนั้นจำเป็นจะต้องได้รับการฝึกฝนอบรมเพิ่มเติม หรือ มีการเรียนรู้วิทยาการ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ

 

ด้วยเหตุที่ความรู้ วิทยาการใหม่ ๆ หรือข้อมูล ข่าวสารในปัจจุบัน มีเป็นจำนวนมาก และการแสวงหาความรู้ การคัดเลือกหรือค้นคว้าหาข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาตนเองด้านการศึกษา นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบันจึงควรได้รับการพัฒนาทักษะที่ จำเป็นสำหรับการเป็นนักศึกษา ดังนี้

 

1.ทักษะพื้นฐานทางด้านการคิดและการใช้เหตุผล
ความสามารถในการคิดและการใช้เหตุผลนั้น เป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน มนุษย์เราส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝนให้พัฒนาทักษะการคิด และ การใช้เหตุผลมาตั้งแต่เยาว์วัย โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลบ้าง แต่หากเราได้ใช้การสังเกตตนเอง จะพบว่าเรามีการสัมผัสต่อสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแวดล้อมตัวเราอยู่ตลอดเวลา หากเราสามารถที่จะตั้งคำถามอย่างถูกต้องต่อสิ่งใหม่ ๆ ที่เราสัมผัสได้ เราก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดและการใช้เหตุผลได้ด้วยเช่นกัน
 

ตัวอย่าง
คำถามพื้นฐานที่ช่วยให้กระบวนการคิดและการใช้เหตุผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเริ่มตั้งแต่

คำถามเพื่อการรวบรวมข้อมูล -ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร
( ความจำ ความเข้าใจ )
คำถามเพื่อแสวงหาสาเหตุ - ทำไม
(สามารถ วิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินค่าของข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้)

 

เมื่อเริ่มตั้งคำถามนั้น หากเราไม่สามารถที่จะจดจำได้ทั้งหมด เราควรจดบันทึก บันทึกเหล่านั้นจะช่วยให้เราสามารถสะสมข้อมูลที่จำเป็น สำหรับการแยกแยะประเด็น หรือรวบรวมประเด็น ในการคิดและการใช้เหตุผลในขั้นต่อไป นอกจากนั้น คนที่มีความสามารถในการศึกษาไม่ใช่คนที่เก่งในการจดจำ แต่เป็นผู้ที่มีความสามารถในการคิด และรู้จักการใช้เหตุผลอย่างเหมาะสม สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์
 
 

 

2.ทักษะด้านอารมณ์ ความรู้สึก
แต่เดิมนั้นทักษะด้านอารมณ์ และความรู้สึก เป็นทักษะที่ถูกละเลยในด้านการศึกษา แต่หลังจากที่มีการศึกษาค้นคว้ามากมาย นักจิตวิทยาและนักการศึกษาก็ให้ความสนใจต่อทักษะนี้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การที่นักศึกษาที่มีความเข้าใจในบทเรียนเป็นอย่างดี แต่เมื่อเข้าห้องสอบกลับเกิดความรู้สึกตื่นเต้น วิตกกังวล บางรายมีอาการแสดงออกทางกาย ได้แก่ เหงื่อออกตามมือ หัวใจเต้นเร็วไม่เป็นจังหวะ เป็นต้น และไม่สามารถทำข้อสอบได้ดี นั้น เป็นผลมาจากสาเหตุมากมายหลายประการ แต่สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือการขาดทักษะในการจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกของ ตนเอง
การฝึกฝนและพัฒนาทักษะทางด้านนี้จำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลา และการยอมรับตนเอง ในการพัฒนาทักษะด้วย และการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์ ความรู้สึกที่เหมาะสมนั้น ยังมีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและความสำเร็จในการดำเนินชีวิตอีกด้วย

 

3.ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร
ภาษาเป็นตัวกลางที่ช่วยให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการของวิทยาการต่าง ๆ มากมาย ในโลกไร้พรมแดน หรือยุคสังคมข่าวสารนี้ ผู้ที่มีความสามารถในการใช้ภาษามากกว่า 1 ภาษาย่อมแสวงหาความรู้ได้มากขึ้น และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผู้ที่มีความรู้ และ ทักษะในการใช้ภาษาดีย่อมสามารถที่จะแสวงหาความรู้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และ พัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพของตนเอง
ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนนี้ อาศัยความเข้าใจหลักของภาษา ไวยากรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนการฝึกฝน ทบทวนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้วไม่สามารถข้ามประเด็นความสำคัญของทักษะด้านภาษาและการสื่อสารไปได้เลย ตัวอย่างเช่น ทักษะการอ่านมีความสำคัญมากต่อการแสวงหาความรู้ และ การพัฒนาความสามารถในการคิด ทักษะการเขียนมีความสำคัญมากต่อการถ่ายทอดผลของการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การวัดและประเมินผลการศึกษา เป็นต้น
การฝึกฝนและพัฒนาทักษะทางด้านภาษาไม่ใช่เรื่องยากนัก หากนักศึกษาเข้าใจถึงความสำคัญและมีความมุมานะในการฝึกฝนอย่างจริงจัง

 

4.ทักษะในการแสวงหาความรู้
เมื่อการศึกษาเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของบุคคล ทักษะในการ แสวงหาความรู้จึงเป็นทักษะที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับนักศึกษาปัจจุบันอย่างมาก เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทมากขึ้น ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ วิทยาการต่าง ๆ จึงมีการถ่ายทอดและพัฒนาไปอย่างรวมเร็ว นักศึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะที่จะรู้จักเลือกรับข้อมูล และวิทยาการใหม่ ๆ นั้น อย่างมีวิจารณญาณ โดยอาศัยทักษะพื้นฐานในการคิด การใช้เหตุผล ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
นอกจากนั้น กระบวนการในการถ่ายทอดความรู้ หรือวิทยาการใหม่ ๆ นั้น มักจะส่งผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ๆ ซึ่งมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว การพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านั้นจึงเป็นความจำเป็นอีกประการหนึ่ง โดยที่นักศึกษาควรเปิดใจ ยอมรับการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านั้น อย่างน้อยในฐานะ "เครื่องมือ" ที่จะนำไปสู่ความรู้ที่นักศึกษาต้องการ

 

5.ทักษะด้านการจัดการ
ในกระบวนการศึกษาด้วยตนเองนั้น ทักษะด้านการจัดการเป็นทักษะสำคัญอีกทักษะหนึ่งที่จะช่วยฝึกฝนให้นักศึกษามีความพร้อมในการศึกษา ใฝ่ใจที่จะศึกษาด้วยตนเอง โดยการดูแลและควบคุมของตนเองโดยไม่ต้องมีใครบังคับ ทักษะในการจัดการในที่นี้ ประกอบด้วย

 

  1. การจัดการตนเอง ได้แก่ การตรวจสอบเป้าหมายการศึกษา และแผนการศึกษาของตนเอง ลักษณะหรือวิธีการเรียนที่ตนเองชอบหรือถนัด การดูแลตนเองให้สามารถเรียนได้ตามเป้าหมายที่ ตนเองกำหนดไว้ การฝึกทักษะการเรียนต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การเรียนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมตัวสำหรับการเรียนในแต่ละครั้ง เป็นต้น

     

  2. การจัดการเวลา ได้แก่ การวางแผนการใช้เวลาในการศึกษาต่อครั้ง ต่อวัน หรือภาคการศึกษาให้เหมาะสมกับลักษณะวิธีการเรียนของตนเอง ซึ่งควรเป็นแผนที่ยืดหยุ่น ไม่เคร่งครัด หรือหละหลวมจนไม่สามารถก่อให้เกิดสัมฤทธิผลในการเรียนได้

     

  3. การจัดการสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เอื้อต่อการเรียนรู้ การทำความเข้าใจกับบุคคลในครอบครัว การสร้างทัศนคติทางบวกเกี่ยวกับการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น เช่น หากเราไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมได้ เราก็ต้องสามารถปรับตนเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

     

 

ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่นักศึกษามีอยู่แล้วในตนเองในระดับที่มากน้อยแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตาม หากนักศึกษาสำรวจตนเองและพบว่ามีทักษะด้านใด ที่ยังบกพร่องและควรได้รับการพัฒนา นักศึกษาก็ควรที่จะเริ่มต้นเสียตั้งแต่บัดนี้ เพราะไม่มีคำว่า"สาย"สำหรับการเริ่มต้นพัฒนาตนเอง

 

หมายเลขบันทึก: 211902เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2008 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท