ประยงค์
ร้อยตรี ประยงค์ ธรรมมะธะโร

มองมุมใหม่ ใช่หรือเปล่า


เปิดโลกกว้าง สร้างองค์ความรู้

     บันทึกนี้เป็นบันทึกแสดงความเห็น โดยมีความน่าจะเป็นที่น่าเชื่อถือว่า" น่าฟัง "  เพราะการคิดหรือแสดงความเห็นโดยมีหลักนำเสนอ  ย่อมก่อเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ไม่ใช่ให้เชื่อโดยไม่มีเหตุผล ขอนำเสนอไปเรื่อย ๆ   ซึ่งเรื่องแรกขอเป็นเรื่องศาสนา เพราะเป็นเรื่องสร้างเสริมปัญญาครับ
     เนื่องจากผมถือศาสนาพุทธ ไปวัดทำบุญทำทาน ฟังพระสงฆ์แสดงธรรม เคยฟังผู้รู้หลายท่านแสดงความคิดเห็น และศึกษาเกี่ยวกับพุทธประวัติ ในฐานะเป็นคนไทยหนึ่งคน จึงขอแสดงความคิดเห็น(ของตนเอง ซึ่งอาจแตกต่าง หวังเพียงแต่ว่า การคิดนี้น่าจะมีผลให้คนเราได้แสดงออกเพื่อให้เกิดปัญญา ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ขั้นต้น และอาจไม่สมบูรณ์ในเรื่องของคำราชาศัพท์เท่าใดนัก)  คงจะวางไว้เป็นเรื่อง ๆ ไป ดังนี้ 
   1. คำว่า  "พระพุทธเจ้า"  มีความหมายว่าอย่างไร?
      คำว่า  "พระพุทธเจ้า"  มาจากคำว่า " Buddha "  คือ

      1.1  B  = Being การเกิดขึ้น, การมีชีวิต

      1.2  U  = Unity  ความพร้อมเพรียงกัน, ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

      1.3  D  = Discipline  วินัย, การฝึกการปฏิบัติทางวินัย,การฝึกฝน

      1.4  D  = Duty    หน้าที่

      1.5  H  = Heart  หัวใจ, จิตใจ

      1.6  A  =  Abundance ความอุดมสมบูรณ์ 

      จากคำทั้ง 6 คำนี้ จะขออธิบายประกอบ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ดังนี้

 1.1 การเกิดขึ้น หรือ การมีชีวิต ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นภพภูมิอันประเสริฐ แม้พระองค์จะเกิดเป็นเทวดา สุดท้ายแล้วเทวดาก็ต้องจุติมาเกิดใหม่ พระพุทธเจ้าเองก่อนจะมาบังเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังไปเสวยพระชาติเป็นเทวดาอยู่ชั้นดุสิต แต่การเกิดเป็นมนุษย์สามารถที่จะบำเพ็ญคุณงามความดีตั้งแต่ชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสูงสุด ดังนั้นการเกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน เกิดมาแล้วมีร่างกายครบ 32 ประการ ไม่พิกลพิการ ถือว่าเป็นมงคลอันอุดม เมื่อเกิดมาเป็นเพศชายก็ถือว่าเลิศแล้วในหมู่มนุษย์ เพราะเพศชายได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำ มีอำนาจ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มีความคล่องตัวสูง เกิดในตระกูลที่สูงศักดิ์ มีวาสนาบารมี ความพรั่งพร้อมทั้งทรัพย์สินข้าทาสบริวาร ได้รับการศึกษาที่ดีเยี่ยมสมกับเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินต่อไปในอนาคต เกิดมาในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไม่ทุรกันดาร แห้งแล้ง อดอยาก ขาดแคลนทรัพยากร ฯ เพราะฉนั้น พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นมาจึงสมบูรณ์ทุกประการ มีมงคลอันเอกอุ ทำให้พระองค์เจริญและวัฒนาเป็นอย่างยิ่ง และขณะเดียวกันก็ตอบคำถามหลายคนที่สงสัยว่า" พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ " ได้จากความหมายในข้อนี้เพียงข้อเดียวด้วยเหตุผลง่ายๆ ครับผม.

1.2  ความพร้อมเพรียงกัน, ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำเรื่องของความพร้อมเพรียงกัน ภาษาพระท่านว่า "สงฆ์" นั่นเอง ถ้าเราอ่านพุทธประวัติ จะเป็นว่าพระองค์จะมอบหมายภารกิจให้สงฆ์บริหารจัดการ ภายใต้คำว่า"ธรรมและวินัย" ส่วนในเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น พระองค์ทรงมอบหมาย"พระสงฆ์"ทำสังฆกรรม ไม่ว่าเรื่องอะไรต้องประชุมสงฆ์พิจารณา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องและมอบหมายสงฆ์ดำเนินการเสมอมา แม้กระทั่งก่อนเสด็จดับขันธ์(ปรินิพพาน)พระพุทธเจ้าก็ฝากให้คณะสงฆ์ดำเนินการรวมทั้งตรัสถึงพุทธบริษัท 4 ซึ่งแสดงถึงพระพุทธเจ้าต้องการให้เกิดความพร้อมเพรียงกันในการบริหารจัดการพระศาสนาสืบต่อไปในอนาคต

1.3 วินัย หรือการฝึกฝน พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระวินัยเพื่อเป็นเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองพระสงฆ์ให้ประพฤติปฏิบัติตามคุณธรรมสมกับเป็นผู้ควรกราบไหว้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนำเอาแบบอย่างความประพฤติที่งดงามของกษัตริย์มาเป็นกรอบวินัย การฝึกฝนแห่งสงฆ์(พระวินัยซึ่งมี 227 ข้อ) ทำให้สงฆ์ที่มีมาจากทุกวรรณะกลายเป็นผู้มีความประพฤติอันงดงามสมควรแก่การเคารพสักการะบูชาแก่บุคคลทั่วไป และเป็นศาสนาเดียวของอินเดียที่สามารถทลายกำแพงแห่งชั้นวรรณะได้อย่างมีเหตุผลและนุ่มนวล

1.4 หน้าที่  พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์ไม่ขาดตกบกพร่อง ดังนี้

      หน้าที่ของความเป็นลูก พระองค์ทรงตอบแทนพระคุณของพระมารดาโดยเสด็จไปแสดงพระธรรมโปรดพระพุทธมารดายังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จนเกิดดวงตาเห็นธรรม ทรงตอบแทนพระคุณพระบิดาด้วยการเสด็จมาโปรดพร้อมทั้งพระญาติของพระองค์เอง แถมส่วนหนึ่งออกบวขตามพระองค์ ทรงตอบแทนบุตรด้วยการให้อริยทรัพย์(บรรพชาเป็นสามเณร) ตอบแทนภรรยาเก่าด้วยการให้บวชเป็นภิกษุณีตามพระมารดาเลี้ยง ตอบแทนพสกนิกรชาวเมืองกบิลพัสดุ์ด้วยการเสด็จมาโปรด ฯลฯ

1.5 หัวใจ,จิตใจ พระพุทธเจ้าทรงมีหัวใจหรือจิตใจที่เป็นกลาง ไม่เลือกที่รัก ชัง โกรธเกลียด หรือเลือกปฏิบัติกับผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่กล่าวดูหมิ่น พระยามารที่หมายทำลายสมาธิเพื่อไม่ให้บรรลุการตรัสรู้ ลูกสาวพระยามารที่มายั่วยวนกิเลส เจ้าลัทธิที่ท้าประลองความรู้ ช้างตกมันที่ปรี่เข้ามาจะทำร้าย หญิงร้ายที่กล่าวตู่ว่าพระองค์เป็นสามี พระเทวทัตที่แอบลอบทำร้ายพระองค์ พระภิกษุที่เจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลายเปรียบเสมือนพรหมของโลก ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง ไม่หวาดหวั่นหรือกลัวเกรง แม้กระทั่งความเจ็บไข้จากสังขารที่เกิดจากการฉันภัตตาหารมื้อสุดท้าย พระองค์มีแต่ใจที่สงบ ร่มรื่น ทำหน้าที่แม้กระทั่งวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพอย่างสมบูรณ์แบบ

 1.6 ความอุดมสมบูรณ์ พระองค์เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ อธิบายว่า ร่างกายสมบูรณ์ครบ 32 ประการ จิตใจที่สมบูรณ์เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมที่มีแต่ความเสียสละ ความเมตตาที่หาประมาณไม่ได้ ความเป็นกลางไม่โกรธเกลียดต่อผู้คิดร้ายหรือประทุษร้ายพระองค์ ความเป็นครูผู้ประเสริฐสั่งสอนอบรมมหาชนตั้งแต่วรรณะกษัตริย์ถึงคนยากจนเข็ญใจ เอื้ออาทรกับผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคร้าย มิเคยแสดงพระองค์ว่าทรงรังเกียจ ปรารถนาให้ทุกชีวิตพบธรรมะตามเหตุปัจจัย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุดแก่ปวงชนจวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยพระสติสัมปชัญญะอันบริบูรณ์ไม่หวั่นไหวหรือเกรงกลัวต่อความตาย ตรัสบอกวิธีประพฤติและปฏิบัติต่อพระองค์และพระศาสนาในกาลเบื้องหน้าเพื่อป้องปรามเหตุให้เบาบางลง(ผู้อ่านประวัติย่อมทราบดีอยู่แล้ว)และมีนัยอธิบายอีกว่า สมบูรณ์คือ สมบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
   1) ศีล พระองค์ทรงพร้อมไปด้วยศีลอันยิ่งของพระภิกษุ คือ 227 ข้อ ซึ่งทรงบัญญัติไว้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่พระภิกษุสงฆ์ (ถ้าเราดูแต่ละข้อของพระวินัย จะเห็นว่า ทรงวางแนวปฏิบัติให้พระภิกษุเป็นผู้มีคุณสมบัติคู่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ของบุคคลทั่วไป)
   2) สมาธิ พระองค์ทรงปฏิบัติจนบรรลุธรรมะขั้นสูงสุด รู้แจ้งเห็นจริงแล้วจึงทรงแสดงข้อธรรมะพร้อมทั้งแนวปฏิบัติให้บรรดาสาวกของพระองค์ได้รู้เห็นตามความเป็นจริงและตามบารมีของแต่ละบุคคล
  3) ปัญญา พระองค์มีปัญญาที่หาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ ด้วยความเฉียบคมและยุทธศาสตร์ในการแสดงธรรมะให้เหมาะแก่ฐานะและระดับความรู้ ไม่มีผู้ใดเลยที่ได้ฟังธรรมะแล้วจะไม่บรรลุธรรม(ยกเว้นผู้ไม่มีดวงตาเห็นธรรม)

2. เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมะแก่พระมารดา(ไปบังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์)นานถึง 3 เดือน ?
    สาเหตุที่แสดงธรรมะนานนั้น มีความเป็นไปได้อยู่ 2 ประการ คือ
    1. เวลาบนสวรรค์และบนโลกมนุษย์แตกต่างกัน มีคำยืนยันจากหลายๆ คัมภีร์ว่า 1 วันบนสวรรค์เปรียบเหมือน 100 วันบนโลกมนุษย์ของเรา ดังนั้นความเป็นไปได้ก็คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรม(ธรรมะอันเป็นแม่บทของธรรมทั้งปวง)ซึ่งถือว่าเป็นธรรมขั้นสูง จำเป็นต้องแสดงด้วยความประณีต การเรียงลำดับหัวข้อธรรม การโน้มน้าวจิตใจของผู้ฟังให้คิดตามได้ทัน และการพิจารณาข้อธรรมให้เห็นธรรม จึงทำให้ต้องใช้เวลานานพอสมควร
    2. เพราะความเป็นมารดา(คิดในกรณีที่เป็นเทพ ซึ่งยังมีโลกธรรมทั้ง 8 หลงเหลืออยู่)ย่อมยากที่จะฟังคำสอนของผู้เป็นบุตรของพระนางเอง ทำให้การยอมรับไม่ง่ายดายนัก ขนาดพระญาติของพระพุทธเจ้าก็ยังต้องใช้เวลาในการแสดงธรรมเพื่อลดทิฐิมานะของความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ลง จึงยอมรับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ และอย่าลืมว่า พระสารีบุตรเอง ขนาดบรรลุธรรมระดับเทศนาแทนพระพุทธเจ้าได้ แต่กว่าจะมาโปรดมารดาของท่านเอง ก็เมื่อวันที่ท่านจะนิพพานและก็สังเกตเห็นว่ามีเทพเทวดาหลายๆ องค์มาสักการะพระสารีบุตร จึงเกิดความเลื่อมใสในภายหลังแล้วจึงยอมรับคำสอนของพระสารีบุตรเช่นกัน 

                                      (ยังมีต่อ....)

 

หมายเลขบันทึก: 211441เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2008 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท