การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนศรีไผทสมันต์


บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนศรีไผทสมันต์
           อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ผู้ประเมิน นายประเสริฐ พิศสมัย
ปีการศึกษา 2550

บทคัดย่อ

          การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนศรีไผทสมันต์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1 โดยใช้ CIPP Model กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้คือ คณะกรรมการดูแลช่วยเหลือนักเรียนจำนวน 35 คน และนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 225 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นและแบบปลายเปิด มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 สำหรับคณะกรรมการระบบดูแลช่วย เหลือนักเรียน และ 0.93 สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และความถี่ (Frequency) ผลการประเมินพบว่า
ผลการประเมินตามรูปแบบการประเมิน CIPP ของ Stufflebeam มี 4 ด้าน ผลการประเมินอยู่ในระดับดีทั้ง 4 ด้าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ด้านสภาพแวดล้อมโดยรวมพบว่าการดำเนินงานในด้านนี้ปฏิบัติได้ผลในระดับดี โดยคณะกรรมการเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนมาก
2. ด้านปัจจัยโดยรวมพบว่า การดำเนินงานในด้านนี้ปฏิบัติได้ผลในระดับดี โดยโรงเรียน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ และกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ อัตราส่วนระหว่างครูกับนักเรียนสามารถปฏิบัติได้ 1:20 - 25 คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าผู้ปกครองให้ความร่วมมือกับโรงเรียนในการดูแลบุตรหลานของตนเอง แต่โรงเรียนยังไม่ได้สนับสนุนงบประมาณในการไปเยี่ยมบ้านนักเรียนให้กับครูที่ปรึกษา
3. ด้านกระบวนการ โดยรวมพบว่า การดำเนินงานในด้านนี้ปฏิบัติได้ผลในระดับดี โดยครูที่ปรึกษาได้ทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ทำการคัดกรองนักเรียน ครูที่ปรึกษาในแต่ละระดับชั้นได้วางแผนร่วมกันในการดำเนินงานเพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียน
4. ด้านผลผลิต โดยรวมพบว่าการดำเนินงานในด้านนี้ปฏิบัติได้ผลในระดับดี โดยพบว่าระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี นักเรียนได้รับการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น รวมทั้งได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกตามสภาพของตนเอง รู้จักตนเอง ควบคุมตนเอง และคณะกรรมการเห็นว่าโครงการที่ดำเนินการอยู่ ปฏิบัติได้ผลในระดับดี ซึ่งหมายความว่าโรงเรียนควรจะดำเนินโครงการนี้ต่อไป
ส่วนผลการประเมินตามกรอบการดำเนินงานของครูที่ปรึกษามี 5 ด้าน ในภาพรวมอยู่ในระดับดี 4 ด้าน และพอใช้ 1 ด้าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ด้านการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลและการคัดกรอง โดยภาพรวมพบว่าการดำเนินงานในด้านนี้ปฏิบัติได้ผลในระดับพอใช้ โดยนักเรียนเห็นว่าครูที่ปรึกษาได้ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่ตนเองเป็นที่ปรึกษา ทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อทำการคัดกรอง ได้ผลในระดับดี มีการไปเยี่ยมบ้านนักเรียนในบางครั้ง แต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพจากครูที่ปรึกษาหรือโรงเรียน
2. ด้านการส่งเสริมนักเรียน โดยรวมพบว่าการดำเนินงานในด้านนี้ปฏิบัติได้ผลในระดับดี โดยนักเรียนได้รับคำแนะนำด้านการเรียนจากครูที่ปรึกษาในระดับดี ครูที่ปรึกษาได้ให้คำแนะนำนักเรียนรู้จักป้องกันตนเองให้พ้นภัยจากบุคคลและสังคมภายนอก และกิจกรรมโฮมรูมที่จัดเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
3. ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยรวมพบว่าการดำเนินงานในด้านนี้ปฏิบัติได้ผลในระดับดี โดยครูที่ปรึกษาได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาและโทษของสารเสพติด และนักเรียนได้ร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร
4. ด้านการส่งต่อ โดยรวมพบว่าการดำเนินงานในด้านนี้ปฏิบัติได้ผลในระดับดี โดยครูที่ปรึกษามีการประสานงานติดตามครูที่รับช่วงเพื่อดูแลแก้ไขนักเรียนที่ถูกส่งต่อ
5. ด้านการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยรวมพบว่าการดำเนินงานในด้านนี้ปฏิบัติได้ผลในระดับดี โดยนักเรียนเห็นว่าโครงการนี้ปฏิบัติได้ผลเป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนรู้จักตนเองดีขึ้น มีประโยชน์สำหรับนักเรียน สมควรที่จะดำเนินต่อไป

หมายเลขบันทึก: 210943เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2008 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท