การบริจาคโลหิต


การบริจาคโลหิต

            ผู้เขียนรับราชการต่างจังหวัด แต่จะต้องเดินทางเข้ามาประชุมและติดต่อราชการที่กรุงเทพฯเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย  ส่วนใหญ่จะแวะเข้าพักอาศัยกับบุตรชาย เพื่อสร้างความอบอุ่นและถือเป็นการเยี่ยมเยียนไปในตัว

                ในครั้งนี้ นับเป็นช่วงจังหวะที่บุตรชายทั้งสองคนครบรอบระยะเวลา 3 เดือน ที่จะต้องไปบริจาคเกล็ดโลหิต (Single Donor Platelets) และโลหิต (Whole blood) ที่สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์  (Henri Dunant) อันที่จริงผู้เขียนเองได้ตั้งใจไว้นานแล้วที่อยากจะบริจาคโลหิต เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันบ้าง  แต่ยังไม่โอกาสเสียที  ครั้งนี้คงจะได้สมใจปรารถนา จึงขอร่วมเดินทางไปด้วยกัน

                วันที่ 28 สิงหาคม 2551  ผู้เขียนและบุตรชายเดินทางไปยังสภากาชาดไทย ถึง เมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. ได้กรอกรายละเอียดในเอกสารและกดบัตรคิว โดยบุตรชายคนโตจะบริจาคเกล็ดโลหิตจึงแยกไปดำเนินการต่างหาก  สำหรับ

ผู้เขียนและบุตรชายคนที่สอง นั่งรอคิวตามขั้นตอน เพื่อวัดความดันตรวจความเข้มข้นของโลหิต ซึ่งในวันนี้มีผู้คนมาบริจาคโลหิตเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่ม-สาว ผู้สูงอายุเช่นผู้เขียน (อายุ 56 ปี) แทบจะไม่เห็น

                เมื่อถึงคิวการตรวจ บุตรชายผ่านไม่มีปัญหา แต่ผู้เขียนนี่ซิ ! เจ้าหน้าที่อ่านและซักประวัติแล้วบอกว่า ไม่สามารถที่จะบริจาคโลหิตได้ เนื่องจากอายุเกินที่ระเบียบกำหนด กอปรกับเป็นการบริจาคโลหิตครั้งแรก  ต่อรองเพื่อขอบริจาคโลหิตอย่างไรก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ทั้งที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บไม่มี การแพ้ยาก็ไม่ปรากฏ  ในที่สุดก็ผิดหวังที่ไม่ได้มีโอกาสได้บริจาคโลหิตตามที่ตั้งใจ

                ในห้วงระหว่างที่รอบุตรชายทั้งสองดำเนินการตามกรรมวิธีการบริจาคเกล็ดโลหิตและโลหิต ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร ผู้เขียนมีเวลาว่างจึงได้นั่งอ่านหนังสือรอไปพลาง ๆ  แต่ชั่วขณะนั้นเกิดเอะใจขึ้นมาว่า บัตรคิวที่ได้ หมายเลข 291 ของผู้เขียน และ 290 ของบุตรชาย น่าจะนำไปเสี่ยงโชคซื้อล็อตเตอรี่รัฐบาลเสียหน่อยเป็นไร

                วันรุ่งขึ้นที่ 29 สิงหาคม 2551 หลังเสร็จสิ้นการประชุมตอนบ่ายแก่ ๆ ได้แวะห้างสรรพสินค้าย่านถนนรัตนาธิเบศร์ และหาซื้อล็อตเตอรี่ตามบัตรคิวที่ได้รับ คือ 91 หรือ 19 ก็ได้  ปรากฏว่าไม่มี  ถ้างั้น 90 ล่ะมีไหม? ผู้ขายบอกว่าไม่มี  มีแต่ 09

จะรับหรือไม่  ตกลงผู้เขียนก็เลยซื้อไว้ 1 ใบ  ตอนค่ำก็เดินทางกลับต่างจังหวัด  และลืมเรื่องนี้ไปเสียสิ้น

                ขณะทำงานในห้วงระหว่างเวลา 16.00 น. โดยประมาณ ของวันที่ 1 กันยายน 2551 ได้รับ  Message แจ้งผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 1 กันยายน 2551 เลขท้าย 2 ตัวที่ออก  คือ  09  เอ๊ะ! ถูกเลขท้าย 2 ตัวนี่  วันรุ่งขึ้นให้ภรรยาไปขอขึ้นเงินรางวัลถูกหัก 3 % คงได้รับเงิน จำนวน 1,940 บาท

                 ด้วยความตั้งใจจริงที่อยากจะบริจาคโลหิต เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ยังได้รับรางวัล..........ปลอบใจ จากเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตั้ง 2,000 บาท   ถ้าหากได้บริจาคโลหิตจริง ๆ คงจะได้รับรางวัลก้อนใหญ่ ใช่ไหมครับ !

                แล้วท่านล่ะ  วันนี้คิดที่จะบริจาคโลหิต แล้วหรือยัง  !!!!!

                  

                                                                                                                                 

                                                                                             

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                        

 

คำสำคัญ (Tags): #โลหิต
หมายเลขบันทึก: 210895เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2008 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความปรารถนาที่จะบริจาคเลือดครับ ดีใจด้วยจริง ๆ ที่ได้ทำอย่างที่ตั้งใจ กระผมตอนนี้ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเคยได้รับข่าวการรับบริจาคเลือดจากทางโรงพยาบาลมหาสารคาม ตอนนั้นตั้งใจว่าจะไปบริจาคครับ แต่ มีเหตุขัดข้อง คือ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากตัวกระผมเองนั้นทำงานพิเศษในช่วงเวลากลางคืน หลังจากเลิกงานประจำที่ทำแล้วนั้น ซึ่งการทำงานไม่มีลิมิตว่าจะเลิกงานเท่าไร จะต้องอยู่ประจำจนร้านปิด ปาเข้าไปตี 3 พอเดินทางไปบริจาคเลือดหมอตรวจร่างกายแล้ว และได้ซักประวัติ จึงไม่อนุญาตให้บริจาค เสียใจนะครับกับที่ตั้งใจ จึงอยากฝากให้กับคนที่จะบริจาคเลือดนะครับ

1. พักผ่อนให้เพียงพอนะครับ 8 ชั่วโมง

2. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์นะครับ จะทำให้เลือดมีความดันสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีและหมอไม่รับบริจาค

ปล. ข้อ 1. สำคัญที่สุดนะครับ เพราะเรามักเป็นกันบ่อย

นายภูริทัต ไชยพิมพา

ขั้นตอนการบริจาคโลหิต

เตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต

เพื่อที่ผู้บริจาค จะไม่ต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ในการรอบริจาค ผู้บริจาคควรสำรวจตนเองว่า มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมสำหรับการบริจาคหรือไม่ ซึ่งผู้บริจาค ควรมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้

1.เป็นผู้มีอายุระหว่าง 17 - 60 ปี

2.มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป

3.ไม่มีประวัติการเป็นโรคมาลาเรีย ในระยะ 3 ปี

4.ไม่มีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ หรือดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง

5.ผู้หญิง ไม่อยู่ในระยะประจำเดือน หรือ มีครรภ์

6.ไม่ควรบริจาคหลังทำการผ่าตัด ในระยะ 6 เดือน

7.ผู้เคยรับโลหิตงดบริจาค 1 ปี

8.งดสูบบุหรี่ก่อนบริจาค 12 ชั่วโมง

9.ไม่ทานยาแก้อักเสบก่อนบริจาค 1 สัปดาห์

10.ไม่ได้รับเลือดจากผู้อื่นมาระยะ 6 เดือน

11.ไม่ได้รับวัคซีนมาภายใน 1 ปี

12.ไม่ได้มีสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่สมรส

13.มีการนอนหลับสนิท ไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง

การบริจาค

เมื่อถึงหน่วยบริจาครับบริจาคโลหิต จะมีผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน นำใบกรอกเพื่อเขียนประวัติของผู้บริจาคและเซ็นชื่อยินยอม และยอมรับว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นความจริง

เมื่อกรอกเรียบร้อยจะถึงขั้นตอนการวัดความดัน และตรวจโลหิตขั้นต้น เพื่อคัดกรองโลหิตในขั้นต้น และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาคเอง

หลังจากนั้นผู้บริจาคจะถูกพามานอนบนเตียงบริจาคเพื่อเจาะเข็มเข้าเส้นเลือด เพื่อนำโลหิตใส่ยังถุงโลหิต เป็นจำนวน 350 - 450 มิลลิลิตร เจ้าหน้าที่นำเข็มเจาะออก ควรนอนพักเพื่อปรับสภาพสักครู่

เมื่อลุกออกจากเตียง ควรรับอาหารว่าง ที่ทางหน่วยบริการจัดเตรียมไว้ ซึ่งหลักๆ ได้แก่ น้ำหวาน (น้ำแดง) และ ขนมที่ทำมีธาตุเหล็ก พร้อมทั้งรับ ธาตุเหล็กกลับไปรับประทาน

การปฏิบัติตัวหลังการบริจาค

หลังจากการบริจาคโลหิตแล้ว ผู้บริจาคควรปฏิบัติตนหลังการบริจากตามคำแนะนำ เพื่อประโยชน์ของผู้บริจาคเอง ดังนี้

ดื่มน้ำมากกว่าปกติหลังบริจาคเป็นเวลา 2 วัน

งดออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อหลังการบริจาค

ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานใช้แรง หรือใช้กำลังมาก ควรหยุดพักหนึ่งวัน

รับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก

หลีกเลี่ยงการใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

ประโยชน์ของการบริจาคโลหิต

ได้รับความภาคภูมิใจ ในการบริจาค

ได้รับทราบหมู่โลหิตของตนเองในระบบ ABO และ ระบบ RH

เสมือนได้รับการตรวจสุขภาพร่างกาย เนื่องจาก โลหิตที่ได้รับบริจาค ต้องผ่านกระบวนการในห้องปฏิบัติการ หากเป็นโรคร้ายแรง ทางสภากาชาดจะส่งเอกสารข้อมูลไปยังที่อยู่ที่ลงทะเบียนไว้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท