สายกลาง..."หยาง - หยิน"


ยามพูด ทำสิ่งใดควรไตร่ตรอง / มากเกินไปผิดครรลองอาจหมองศรี / หากน้อยนักก็จักไม่เข้าที / ความพอดีจุดหมายยึด"สายกลาง"

        ในท่ามกลางความคิดอันสับสนของคนในสังคมปัจจุบัน  มีการ"แบ่งขั้ว - แยกข้าง"
อย่างชัดเจน  เกิดมีคำถามว่าท่านเลือกข้างไหน  มีไม่น้อยที่ตอบว่าขอ "เป็นกลาง"
ความเป็นกลางในความหมายนี้  คงหมายถึงไม่เลือกข้างไหน  พูดให้เจ็บหน่อยก็ว่า
"ไม่เอาไหน" ..อิอิ  

          ว่าไปแล้ว"ความเป็นกลาง"จริง ๆ  ในทางพระพุทธศาสนาต้องยึด"อริยมรรคมีองค์ ๘"
หรือ "มัชฌิมาปฏิปทา" (ทางสายกลาง)เป็นวิถีทางดำเนิน
คงทราบกันดีว่า "มรรค ๘" นั้นล้วนขึ้นต้นด้วย "สัมมา" - ความถูกต้องทั้งสิ้น
( สัมมาทิฏฐิ - สัมมาสังกัปปะ - สัมมาสังกัปปะ - สัมมาวาจา - สัมมากัมมันตะ -
สัมมาอาชีวะ - สัมมาวายามะ - สัมมาสติ - สัมมาสมาธิ )

ถ้าผิดไปจากนี้ก็ เป็นการเลือกข้าง "มิจฉา" เท่านั้นเอง

          ถ้าจะยกเอา "หยาง - หยิน" มาเปรียบประยุกต์อาจจะเห็นคล้อยตามทำนองเดียวกัน

"หยาง" คือ ความสว่าง , ความเคลื่อนไหว , การเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต , อารมณ์มั่นคง
 จิตใจปลอดโปร่งใส และ ดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและมีชีวิตชีวา

"หยิน" คือ ความมืด , ความเชื่องช้า หรือ หยุดพักอยู่กับที่  , ความตาย  , อารมณ์ผันผวน
ปรวนแปร ความเศร้าหมอง , ความไม่ดี ความเศร้าหมอง และดำเนินชีวิตอย่างเฉื่อยชาเบื่อหน่าย
 
          ผู้เขียนเคยเขียนบทกลอนไว้เมื่อ กันยายน 2541 ลองมาปรับเสริมเติมแต่งใหม่มาฝาก
ให้ทุกท่าน ได้อ่านกัน ครับผม
..................................................................................................................................

สายกลาง..."หยาง - หยิน"
....................................................

ขึงสายพิณตึงนักสายมักขาด    
ขึงหย่อนไปไม่อาจมีเสียงได้
ขึงพอดีดีดไพเราะเสนาะใจ
ทำสิ่งใดพอดีมี"มัชฌิมา"  

กินอาหารมากเกินไปไร้ประโยชน์
กินน้อยก่อทุกข์โทษเกิดปัญหา
กินพอดีไม่เกิดทุกข์สุขอุรา
"มัตตัญญุตา"เป็นผู้รู้ประมาณ

ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายกลายเป็นหนี้
หากตระหนี่เหนียวนักจักร้าวฉาน
ทรัพยากรควรประหยัดรู้จัดการ
"มัธยัสถ์"ท่านบอกไว้ให้พอดี

ยามพูด ทำสิ่งใดควรไตร่ตรอง
มากเกินไปผิดครรลองอาจหมองศรี
หากน้อยนักก็จักไม่เข้าที
ความพอดีจุดหมายยึด"สายกลาง"
 
การดำเนินชีวิตคิดถูกต้อง
ตามครรลองจำแนกแยก"หยิน-หยาง"
ความชั่ว-ดีแน่ชัดโลกจัดวาง
ควรเลือกมืด-สว่างที่อ้างอิง

"สายกลาง"ยึดวิถี"อริยมรรค"
เห็นประจักษ์"มิจฉา"อย่าสุงสิง
ยึด"สัมมา"ถูกต้องตรองตามจริง
ทุกสรรพสิ่งควรเลือกข้างทางดีงาม๚

.............................................................

 

หมายเลขบันทึก: 210705เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2008 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท