เสื่อกก บางสระเก้า ภูมิปัญญาจันทบุรี


เสื่อกก บางสระเก้า ภูมิปัญญาจันทบุรี

 เสื่อกก  บางสระเก้า  ภูมิปัญญาจันทบุรี

                ที่ตั้ง   ตำบลบางสระเก้า  อำเภอแหลมสิงห์  จังหวัดจันทบุรี  มีเขตการปกครอง  รวม  5  หมู่บ้าน  คือหมู่  1  บ้านเนิน   หมู่  2  บ้านกลาง   หมู่ 3 บ้านเนินกลาง   หมู่ที่  4  บ้านกองหิน   หมู่ที่  5  บ้านแถวนา  ในอดีตที่ผ่านมาชุมชนตำบลบางสระเก้าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก เป็นเกษตรกรรมแบบหมุนเวียน คือ ในฤดูฝนมีการทำนาข้าว ปลูกปอ ปลูกกก ส่วนในฤดูแล้งจะหันมาปลูกถั่วลิสงและทอเสื่อกกกันในครัวเรือน ด้านทรัพยากรธรรมชาติมีลำคลองที่เชื่อมติดต่อกับทะเล มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นแหล่งอาหารที่มั่นคงของชุมชน
                ในระยะต่อมา กุ้งกุลาดำสามารถเพาะเลี้ยงได้ในบ่อดิน มีราคาค่อนข้างแพง ให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนถ้าสามารถเลี้ยงและดูแลจนได้ขนาดตามตลาดต้องการ เกษตรกรจึงหันมาขุดบ่อเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันมากขึ้น พื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่นาข้าว พื้นที่ปลูกกกส่วนหนึ่งได้กลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง และได้มีการพัฒนาการเลี้ยงโดยใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในกุ้ง ตลาดไม่รับซื้อส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเกษตรกร มีปัญหาเรื่องหนี้สินตามมา เนื่องจากเกษตรกรกู้เงินมาลงทุน แต่ชุมชนบางสระเก้ายังมีอาชีพการทอเสื่อกกที่ยัง          ทำรายได้ให้กับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ และยังคงผลิตและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในด้านวัตถุดิบที่ผลิต การแปรรูปรวมถึงการจำหน่ายจนมีชื่อเสียงที่หลายคนเรียกว่าเสื่อกกบางสระเก้าในปัจจุบันเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพทอเสื่อกกได้ประสบปัญหาเรื่องพื้นที่ปลูกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต      (กก,ปอ) ไม่เพียงพอ วัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตต้องจัดหาจากภายนอก ขาดแคลนเงินทุนในการจัดหาวัตถุดิบเนื่องจากภาระหนี้สิน ขาดการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์  ในด้านการดำรงชีวิตประจำวัน แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ก็ขาดแคลนลง เพราะพื้นที่แปรสภาพและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลง กล่าวคือ นาข้าว นากก ตลอดจนป่าชายเลนกลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง สัตว์น้ำที่เคยเกิดขึ้นเองธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้ง  จากสถานการณ์ ปัญหาและสาเหตุด้านเศรษฐกิจของชุมชน เป็นข้อมูลที่ชุมชนต้องดำเนินการแก้ไข ได้ระดมความคิดหาแนวทางแก้ไขพร้อมการดำเนินงาน เห็นสมควรเสริมสร้างการเรียนรู้ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนตลอดถึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว นำรายได้เข้าสู่ชุมชน ซึ่งจะนำพาไปสู่ความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของชุมชนในอนาคต   

          ลักษณะภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อ                                                                                                                          กระบวนการตั้งแต่การปลูกกกจนกระทั่งแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านในหมู่บ้านบางสระเก้านั้นต้องมีองค์ประกอบของภูมิปัญญาพื้นบ้านปรากฏอยู่ทุกขั้นตอนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการปลูกกก  จนถึงการทอเสื่อ  โดยเริ่มจากการปลูกกก  รู้จักและเรียนรู้วิธีการปลุกเพื่อให้ได้กกที่มีคุณภาพ  การนำเอาต้นกกมาแปรรูปเพื่อใช้ในการทอเสื่อ  รู้จักการเลือกวัตถุดิบและคัดวัตถุดิบ  การจักกก  เพื่อนำมาทอเสื่อผืนที่ประณีต  และสวยงามมากกว่าที่อื่น


                เสื่อกกเป็นผลิตภัณฑ์อันเกิดจากภูมิปัญญา  และศิลปะพื้นบ้านที่สอดคล้องและสืบทอดมาจากวิถีชีวิตไทยมานาน  โดยสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานหัตกรรมประเภทเครื่องจักสาน  มีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้สอยในชีวิตประจำวันให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น  เสื่อกกในหมู่บ้านบางสระเก้าเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีลวดลายหลากหลาย  เช่น  ลายเดี่ยว  ลายคู่  ลายหมากรุก  และมีการแปรรูปเสื่อกกให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองประโยชน์การใช้งานในชีวิตประจำวัน   ปัจจุบันผู้สืบทอดส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน  วัยหนุ่มสาวและวัยเด็ก  เป็นการถ่ายทอดที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรมาโดยตลอด  ผู้ถ่ายทอดใช้วิธีการสอนแบบการบอกเล่าด้วยวาจา  รวมทั้งการสาธิตให้ดูควบคู่กันไป  ซึ่งผู้เรียนจะอาศัยการสังเกตและลงมือทำตาม

          แนวทางอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกก

1.  ส่งเสริมการเรียนรู้  โดยการเข้าร่วมการวิจัย  ศึกษาดูงาน  อบรมการออกแบบ  แลกเปลี่ยนเรียนรู้                    

2. จัดสร้างหลักสูตรท้องถิ่นและนำไปสอนในโรงเรียน                                                                                                  

3.  จัดการเรียนรู้ที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม  โดยจัดทำเป็นเอกสาร  หนังสือ  ภาพถ่าย  วีดิทัศน์                           

4.  การรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายในชุมชน  สืบสานภูมิปัญญา                                                                                                                          

5.  การถ่ายทอดและเผยแพร่ โดยการบอกเล่า  ฝึกปฏิบัติ                                                                                                

6. มีการจัดการกองทุนออมทรัพย์เพื่อการกู้ยืมในการลงทุน                                                                                            

7. ส่งเสริมกระบวนการผลิต  สร้างลวดลายเสื่อ  แปรรูปผลิตภัณฑ์  และพัฒนาผลิตภัณฑ์

หมายเลขบันทึก: 210129เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2008 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

good ยอดเลยน้า

เราเอาไปทำการบ้านน่ะ ><

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท