การประเมินวิทยฐานะครูชำนาญการ


วิทยฐานะชำนาญการ

เตรียมรับการประเมินวิทยฐานะครูชำนาญการ : ตอนที่ 1

 

โดย... ครูไทยดอทอินโฟ [email protected]

 

          ก่อนที่จะมาเตรียมรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะครูชำนาญการ เราควรมาทำความเข้าใจหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูมีวิทยฐานะครูชำนาญการก่อน (อ่านรายละเอียดทั้งหมดคลิกที่นี้) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ด้านคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมิน

   1.1 ไม่กำหนดคุณสมบัติด้านเงินเดือนขั้นต่ำของผู้ขอรับการประเมิน ขอให้มีประสบการณ์ในการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี สำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรี, 4 ปี สำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาโท และ 2 ปี สำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาเอก

        ในคุณสมบัติข้อนี้ กล่าวคือ ผู้ที่จะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ปัจจุบันจะต้องดำรงตำแหน่งครู (ตำแหน่งสายผู้สอนมี 2 ตำแหน่ง คือ ครูผู้ช่วย กับ ครู) และมีประสบการณ์สอนตามที่กล่าวไว้ข้างต้นที่ผันแปรตามคุณวุฒิ ซึ่งประสบการณ์สอนนี้ ไม่จำเป็นจะต้องทำหน้าที่สอนติดต่อกันก็ได้ และ้สามารถนำประสบการณ์ ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการสอนทั้งในสายงานการศึกษาของรัฐและเอกชนมานับรวมได้ หากประสบการณ์การดำรงตำแหน่งครูไม่ครบตามหลักเกณ์้ เช่น คุณครูบางท่านก่อนที่จะมารับราชการครู อาจจะเคยเป็นครูสอนในโรงเรียนเอกชน เคยเป็นครูอัตราจ้าง หรือพนักงานราชการ ทั้งนี้ควรจะเตรียมเอกสารหลักฐานไว้ เพื่อการตรวจสอบ

   จากคุณสมบัติในข้อที่ 1 นี้ จะทำให้มีข้าราชการครูที่เพิ่งบรรจุมีโอกาสได้รับเงินเดือนสูงขึ้น เท่ากับครูที่บรรจุก่อน ถ้าผ่านการประเมิน เพราะมาตรฐานวิทยฐานะครูชำนาญการนั้น กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ได้รับวิทยฐานะครูชำนาญการ จะได้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.2 ซึ่งปัจจุบันคือ 15,410 บาท เช่น ครู ก.บรรจุปี 41 ปัจจุบันรับเงินเดือนในอันดับ คศ.1 ขั้น 15,040 บาท กับครู ข.บรรจุปี 47 ปัจจุบันรับเงินเดือนในอันดับ คศ.1 ขั้น 10,770 บาท ถ้าคุณครูทั้ง 2 ท่าน มีคุณสมบัติสำหรับวิทยฐานะครูชำนาญการ และยื่นขอรับการประเมินในเดือนตุลาคม 2551 และผ่านการประเมินให้มีวิทยฐานะครูชำนาญการ ทั้งครู ก. และครู ข.จะได้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.2 (ขั้นต่ำของ คศ.2) คือ 15,040 บาท ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2551

   1.2 กำหนดภาระงานของผู้ขอรับการประเมิน 18 ชั่วโมง/สัปดาห์

         ทั้งนี้ การนับจำนวนชั่วโมงสอน 18 ชั่วโมง/ต่อสัปดาห์ เฉพาะในปีการศึกษา 2551 ให้สามารถนับชั่วโมงปฏิบัติการสอนไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง/ต่อสัปดาห์ (สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ใดก็ได้ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้หรือทั้ง 8 กลุ่มสาระ) และชั่วโมงสอนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ถ้ายังไม่ถึง 18 ชั่วโมง/สัปดาห์ ให้นำชั่วโมงปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนตามที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมอบหมายมานับรวม เพื่อให้ครบ 18 ชั่วโมง/ต่อสัปดาห์ ได้ โดยควรที่จะมีการเตรียมเอกสารหลักฐานไว้ เพื่อการตรวจสอบ

        ในส่วนของปีการศึกษา 2549 และ 2550 นั้นไม่จำเป็นต้องสอนถึง 18 ชั่วโมง/ต่อสัปดาห์ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ก่อนที่เกณฑ์ใหม่จะใช้บังคับ หรือก่อนที่ สำนักงาน ก.ค.ศ.จะมีหนังสือแจ้งให้ครูทราบ โดย สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้มีหนังสือแจ้ง เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีและเลื่อนวิทยฐานะ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา

   1.3 ได้ปฏิบัติงานงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบการเรียนการสอน และการพัฒนาผู้เรียน และมีผลงานการสอนและการพัฒนาผู้เรียนย้อนหลัง 2 ปีติดต่อกันนับถึงวันที่ยื่นคำขอ

        ในข้อนี้ ท่านจะต้องปฏิบัติหน้าที่สอนนักเรียน ย้อนหลังมาแล้ว 2 ปีติดต่อกันนับถึงวันที่ยื่นคำขอ เพราะมีคุณครูบางท่านไปช่วยราชการ ต่างกระทรวง หรือช่วยราชการใน สพท.ซึ่งไม่ใช่การสอนนักเรียนก็จะไม่มีสิทธิ์ยื่นขอรับการประเมิน ยกเว้นว่า จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่สอนนักเรียนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 ซึ่งการนับนั้นจะขอยกตัวอย่าง ดังนี้ เช่น ครู กอ รับเงินเดือนในอันดับ คศ.1 เดิมช่วยราชการที่ สพท. และกลับมาทำการสอนที่โรงเรียนเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ครู กอ จะต้องยื่นขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะครูชำนาญการ ไม่ก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2551 คืออยู่ในช่วงวันที่ 14 - 31 ตุลาคม 2551 ถึงแม้ว่าในช่วงที่กลับมาทำการสอนในโรงเรียนจะเป็นช่วงปิดภาคเรียนก็ตาม

คำสำคัญ (Tags): #วิทยฐานะ
หมายเลขบันทึก: 210069เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2008 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท