สิทธ์ในการทำงานที่ผู้หญิงควรรู้


สิทธ์ในการทำงานที่ผู้หญิงควรรู้

สิทธ์ในการทำงานที่ผู้หญิงควรรู้

Marie Claire - คุณรู้ไหมว่า ตามกฎหมายไม่มีบริษัทไหนมีสิทธิ์ห้ามไม่ให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ทำงาน หรือต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เหมาะกับช่วงตั้งครรภ์ ยังมีเรื่องที่คุณควรรู้อีกมากมายที่กฎหมายกำหนดไว้เกี่ยวกับการทำงานเพื่อไม่ให้ผู้หญิงถูกเอาเปรียบ ...
ความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายได้รับการพัฒนาและยอมรับเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ สำหรับประเทศไทยเห็นได้ชัดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งในมาตรา 30 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” และที่ทำงานก็เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ผู้หญิงต้องการการยอมรับในความสามารถไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย เป็นเรื่องน่าดีใจที่คนไทยค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันมีผู้หญิงทำงานจำนวนไม่น้อยที่ได้ดำรงตำแหน่งในระดับสูง เป็นผู้บริหาร เป็นนักการเมือง เป็นนักการทูต ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในทุกสังคมเมื่อมีคนใจกว้างก็ย่อมมีคนใจแคบด้วย จึงมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการยอมรับและให้โอกาสในการทำงานเท่าเทียมกับผู้ชาย เพียงเพราะว่าเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว และเรื่องที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ มีผู้หญิงทำงานจำนวนมากถูกล่วงเกิน หรือถูกคุกคามทางเพศไม่ว่าจะจากนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ลูกค้า ซึ่งบางครั้งผู้หญิงที่ถูกละเมิดก็ไม่กล้าโวยวาย เพราะกลัวถูกไล่ออกจากงานเนื่องจากเมื่อมีเรื่องชู้สาวเกิดขึ้น ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายถูกมองว่าเป็นคนผิดมากกว่าผู้ชาย

ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงออกกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของผู้หญิงไว้ เช่น มาตรา 15 บัญญัติว่า “ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกัน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้” มาตรา 16 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างหรือหัวหน้างาน กระทำการล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงหรือเด็ก” และมาตรา 43 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์”

อำนาจไม่อยู่เหนือกฎหมาย

กฎหมายทั้งสามมาตราดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่บัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองการทำงานของผู้หญิง โดยเป็นบทบัญญัติพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียม และความเสมอภาคกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในการทำงาน อย่างเช่นคดีหนึ่ง* เป็นเรื่องที่ผู้บริหารซึ่งเป็นผู้ชายของบริษัทแห่งหนึ่ง และเป็นผู้มีอำนาจตัดสินว่าพนักงานเข้าใหม่จะผ่านทดลองงานหรือไม่ และมักจะใช้อำนาจหน้าที่ชักชวนพนักงานหญิงที่อยู่ใต้บังคับบัญชาออกไปเที่ยวเตร่ในเวลาค่ำคืนนอกเวลางาน หากพนักงานไม่ไปก็ขู่ว่าจะไม่ยอมให้ผ่านการทดลองงาน ภายหลังเมื่อบริษัทรู้พฤติกรรมของผู้บริหารคนนี้จึงไล่เขาออกจากบริษัทในที่สุด

ตามกฎหมายแรงงานหากลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง การไล่ลูกจ้างออกนั้นนายจ้างหรือบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้ด้วย แต่กรณีนี้ทางบริษัทไม่จ่าย ผู้บริหารคนนี้จึงนำคดีมาฟ้องที่ศาลแรงงาน แต่ศาลฎีกาตัดสินว่า การกระทำของเขาเข้าข่ายที่จะมุ่งกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อพนักงานหญิงหรือผู้สมัครงานหญิง ซึ่งนอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมและจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของบริษัทและความเจริญก้าวหน้าของกิจการด้วย เพราะถ้าบริษัทมีผู้บริหารแบบนี้ พนักงานก็จะถูกกลั่นแกล้งจนขาดขวัญและกำลังใจในการทำงานซึ่งมีผลกระทบต่อบริษัทโดยตรง บริษัทจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่ไล่ผู้บริหารคนนี้ออก

นอกจากนี้ภาครัฐยังคำนึงปัญหาที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ถูกกีดกันในการทำงานเพราะเหตุตั้งครรภ์ด้วย จึงบัญญัติในกฎหมายไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างผู้หญิงเพราะเหตุตั้งครรภ์ เพราะถ้าหากไม่ป้องกันไว้ก่อน การทำงานของผู้หญิงอาจจะต้องสวนทางกับการมีครอบครัว ซึ่งจะเป็นเหตุให้ผู้หญิงไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุข ศาลฎีกาเคยตัดสินคดีหนึ่ง* ที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นนักแสดงที่ตั้งครรภ์ เพราะได้ทำข้อตกลงกันไว้ก่อนทำงานแล้วว่านักแสดงหญิงจะตั้งครรภ์ไม่ได้ หากตั้งครรภ์จะต้องถูกเลิกจ้าง แม้จะมีข้อตกลงไว้แบบนั้น แต่การเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างกระทำความผิดอาญาแก่นายจ้างได้รับความเสียหาย ส่วนการตั้งครรภ์นั้น นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างได้ เพราะถือว่าไม่เป็นธรรม นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย

บทลงโทษนายจ้าง

กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดโทษของผู้ที่กระทำฝ่าฝืนกฎหมายไว้ด้วย กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างผู้หญิงเพราะตั้งครรภ์ จะต้องมีโทษจำคุก 6 เดือน และปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนกรณีนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายหญิงไม่เท่าเทียมกัน หรือกระทำล่วงละเมิดทางเพศ ต้องมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่ถ้าหากการล่วงละเมิดทางเพศนั้นรุนแรงจนถึงขั้นเป็นการทำอนาจารหรือข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาด้วยอีกส่วนหนึ่งนายจ้างหรือผู้ที่กระทำก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมายอาญา

นอกจากนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานยังมีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานหญิงไว้ในมาตรา 38 ถึง 42 ด้วย โดยได้กำหนดงานบางประเภทซึ่งห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างผู้หญิงทำงานที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นก็เป็นงานใช้แรงงานหนักและงานเสี่ยงอันตรายต่างๆ และห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดหรือทำงานหนักและอันตราย กฎหมายยังกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิ์ลาเพื่อคลอดบุตรได้ไม่เกินเก้าสิบวันด้วย และถ้าหากลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีใบรับรองของแพทย์มาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ด้วย

เป็นเรื่องน่ายินดีที่กฎหมายได้ให้ความสำคัญและคุ้มครองผู้หญิงในการทำงานเป็นอย่างดี จึงหวังว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการทำงานระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงก็น่าจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

หมายเหตุ : *คดีแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 1372/2545 และ 3843/2541

หมายเลขบันทึก: 209658เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2008 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท