“ไอคิว-อีคิว” เด็กไทย


“ไอคิว-อีคิว” เด็กไทย

 

 

 

 

จากการ “ติดตามสภาวการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็กไทย” ที่ทำการสำรวจโดยสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ร่วมกับสถาบันรามจิตติ ในครั้งล่าสุดผลออกมาเป็นที่น่าดีใจว่าโดยภาพรวมแล้วเด็กไทยมีระดับสติปัญญา (ไอคิว) เฉลี่ยที่ 103 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติที่จะอยู่ระหว่าง 90-110 อีกทั้งมีความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติเช่นกัน

       
       แต่หากมองในเกณฑ์ความปกติของเด็กไทยแล้ว ดูเหมือนจะมีสิ่งที่ชวนให้น่ากังวลไม่น้อยเนื่องจากสถานการณ์ดูเหมือนการย่ำอยู่กับที่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่เคยมีเกณฑ์เฉลี่ยด้อยกว่าเรากลับขยับแซงหน้าไปแล้ว ด้วยเหตุดังกล่าว การกระตุ้นหรือผลักดันพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กจึงไม่ควรหยุดอยู่เพียงแค่นี้
       
       

 

  • หลากปัญหาไม่เอื้อต่อพัฒนาการเด็ก
           
           “ที่เราเข้ามาทำงานตรงนี้เพราะนึกถึงอนาคตของคนรุ่นใหม่”
           
           นั่นคือ ความมุ่งมั่นจากปากของ วนิดา ชนินทยุทธวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุข 9 ชช.(ด้านจิตวิทยา) ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ที่ย้ำถึงความหนักแน่นในความต้องการเพื่อเข้ามาเสริมสร้างเด็กไทยให้มีคุณภาพ
           
           วนิดา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สภาพสังคมที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ถือได้ว่า เป็นอุปสรรคสำคัญที่ครอบครัวต้องหันมาใส่ใจเพราะส่งผลต่อการพัฒนาของเด็ก โดยจุดที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือ “เทคโนโลยี” เพราะมีอำนาจในการเข้าถึงอย่างไม่มีขอบเขต หากเทียบกับอดีตจะไม่รวดเร็วเหมือนตอนนี้ จะทำอะไรก็ยังอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ แต่ ณ เวลานี้การแสวงหาสิ่งใหม่ในสังคมทำได้เร็วขึ้น ทำให้เด็กรู้อะไรที่ผู้ใหญ่ไม่รู้ จนผู้ใหญ่ตามไม่ทัน

    ประเด็นก็คือ ยิ่งเด็กฉลาดขึ้น ผู้ใหญ่ก็ต้องใช้เหตุผลในการพูดคุยเช่นกัน และไม่ควรเอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าอธิบายด้วยเหตุผลจนเขาสามารถเข้าใจ เขาก็จะรับฟัง แต่หากผู้ใหญ่ไม่มีความรู้จริง อธิบายไม่กระจ่าง เขาก็จะไม่เชื่อมั่น ดังนั้น คำว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” จึงใช้ไม่ได้เสมอไปกับวัยรุ่นในปัจจุบัน


    นอกจากนี้ ปัจจัยที่เชื่อว่าไม่เอื้อต่อการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กไทยคือ การที่คนไทยอ่านหนังสือน้อย อีกทั้งครู ผู้เลี้ยงดูเด็ก ที่มีความสามารถในการนำเสนอแนวทางการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างไอคิวและอีคิวยังมีน้อยเกินไป โดยมีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น
           
    ที่สำคัญกว่า นั้นคือ ครูผู้เลี้ยงดูเด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะนำกระบวนการดังกล่าวมาปรับใช้กับเด็กอย่างถูกวิธีอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
           
           
  • สร้างพัฒนาการด้วย “สัมพันธภาพครอบครัว”
           
           วนิดา เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสำคัญที่สุด กล่าวคือพ่อแม่ต้องรู้ว่าลูกนั้นมีความพร้อมที่จะเรียนรู้เสมอ และสิ่งที่พ่อแม่ต้องตระหนักถึงและต้องถามตัวเองให้มากคือ ทุกวันนี้คุยกับลูกบ้างหรือไม่?
           
           “ย้ำว่า ต้องเป็นการคุยไม่ใช่แค่การพูด เช่น ชวนลูกคุยในเรื่องราวที่เขาพบเจอมาในแต่ละวัน คุยกับลูกถึงสิ่งที่เขากำลังเล่น ให้เขาได้ใช้ความคิดในการตอบคำถาม หรือเล่าเรื่องราวแลกเปลี่ยนกัน เพียงแค่วันละ 15 นาที ตรงนี้จะทำให้เขาเกิดความไว้วางใจเราได้”
           
           ขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว โดยการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเช่นกัน และการให้เด็กมีอิสระในการเล่นอย่างสร้างสรรค์ ให้เขาคิดเอง ไม่ใช้การบังคับให้เล่น ซึ่งพ่อแม่ก็ต้องกระตุ้นโดยการพูดคุย หรือถามคำถามง่ายๆ เช่น กำลังทำอะไร? ทำแล้วจะเป็นอย่างไร? ชอบมั้ย? เป็นต้น จะช่วยให้เขาฝึกคิด อีกอย่างคือ ไม่ให้เด็กจดจ่ออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือทีวีเป็นเวลานานเกินกว่า 2 ชั่วโมง จึงต้องมีการตกลงกติกากันภายในครอบครัว ซึ่งหากไม่มีการตกลงกันเลยสัมพันธภาพระหว่างคนในครอบครัวต้องหายไปแน่นอน
           
           “พ่อแม่อย่าคิดว่าปัญหาเรื่องการสร้างพัฒนาการของเด็กตลอดจนการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางสังคมไม่เป็นปกติในเวลานี้ จึงอยากให้พ่อแม่ มีความหวัง อย่าท้อ และอย่ากังวลอะไรจนเกินเหตุ อยากให้พยายามมองว่าทุกอย่างมีทางที่จะก้าวต่อไปได้ เมื่อเจออุปสรรคที่มีความเป็นครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องก็ให้หาสาเหตุให้เจอ ใช้การพูดคุยกันในครอบครัวพยายามแก้ไขปัญหาแล้วภายในครอบครัวจะไม่มีคำว่าใครถูกใครผิดเกิดขึ้น และลูกเองก็จะอยู่ในภาวะครอบครัวที่เป็นปกติ ที่จะเป็นพื้นฐานในการเตรียมความพร้อมเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไป” วนิดา ให้แง่คิด


  •  
  • เสริมสร้างจากช่วงจังหวะทองของชีวิต
           
           วนิดา ให้คำแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า การที่จะทำให้คนมีคุณภาพนั้นต้องทำตั้งแต่เด็ก เริ่มกันตั้งแต่ก่อนคลอดหรือต้องวางรากฐานของพ่อแม่ตั้งแต่เลือกคู่ครอง เพราะจะมีผลต่อความพร้อมในการเลี้ยงลูกเมื่อเขาเกิดมา เมื่อมองตามหลักจิตวิทยาจะพบว่า การที่จะส่งเสริมคนให้มีสติปัญญานั้นสำคัญที่สุดคือช่วง “จังหวะทองของชีวิต” ที่ 5-6 ปีแรก เพราะเนื้อสมองของเด็กในช่วงนี้จะเติบโตได้ถึง 80-90% ของสมองผู้ใหญ่ และพร้อมที่จะได้รับการพัฒนา หากได้รับการกระตุ้น เรียนรู้อย่างถูกวิธี แต่หากไม่ได้รับการกระตุ้นแต่แรก สมองที่เคยมีก็จะหายไป ซึ่งทางด้านงานวิจัยเรียกว่า “Pruning” หรือการตัดแต่ง เช่นเดียวกันกับคนที่มีวิวัฒนาการมาจากลิง เมื่อไม่ได้ใช้หางหางก็จะหดไป หากหลังจาก 6 ปีไปแล้วก็จะเพิ่มเติมได้อีกไม่นานและหากใส่อะไรที่ผิดๆ ไปก็จะฝังอยู่ในสมองจนกระทั่งเติบโต
           
  • วนิดา ชนินทยุทธวงศ์

    “ในทางจิตวิทยานั้น จะเห็นว่า ในช่วง 5-6 ปีแรก จะเป็นการวางรูปแบบในบุคลิกภาพของความเป็นคนให้แก่เด็กที่จะนำไปเป็นฐานยอดสู่อนาคต เปรียบได้กับการหล่อปูนที่ยังไม่แห้ง ถ้าได้รับการดูแล ตกแต่งอย่างดี ปูนนั้นก็จะออกมาในรูปแบบที่สวยงาม แต่หากในระหว่างที่หล่ออยู่นั้นไม่มีการดูแลที่ดี มีอุปสรรค มีสิ่งแปลกปลอมตกใส่ มันก็จะฝังไปในเนื้อปูนและติดไปถาวร ช่วงนี้จึงเป็นช่วงชีวิตแห่งการเสริมสร้างพัฒนาการแก่เด็กที่สำคัญมากที่สุด” วนิดา ให้ภาพ

     

  • พัฒนาตามลำดับขั้น รากฐานสู่อนาคต

    แน่นอนว่า การดำเนินการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กนั้นต้องดำเนินการเป็นระดับขั้นตอนซึ่ง วนิดา แจกแจงว่า การเสริมสร้างนี้จะแบ่งการพัฒนาเด็กตามจังหวะของชีวิต คือ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด-2 ขวบ นั้นจะเริ่มการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน คือ

    1.การกอด คือ การให้ความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่และลูก ที่สำคัญมาก คือ การให้ลูกกินนมแม่

    2.การพูด คือ พยายามคุยกับลูกตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเขาจะยังสื่อสารกับเราไม่ได้ แต่ทุกคำที่พ่อแม่พูดออกไปนั้นเขาจะรับรู้ได้จากประสาทสัมผัสทั้งหมด

    3.การเล่น คือ การให้เด็กรู้จักเรียนรู้อารมณ์ สีหน้า และสุดท้ายการเล่า คือการเล่านิทาน หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอ
           
           ในการพัฒนาจังหวะการเรียนรู้ของเด็กทั้ง 4 ข้อนี้หากทำได้จะเป็นการเสริมให้เด็กมีความไว้วางใจ มีความเป็นมิตร เรียนรู้ในเรื่องอารมณ์ ที่จะเป็นฐานในการเสริมไอคิว และอีคิวในขั้นถัดไป
           
           เมื่อมาถึงช่วง 3-5 ขวบ เด็กจะเริ่มออกจากอ้อมกอดของพ่อแม่ไปอยู่กับเพื่อนในการเตรียมเข้าโรงเรียน เขาจะเริ่มเรียนรู้การมีเพื่อน เริ่มรู้จักการเลียนแบบทั้งครู และพ่อแม่ จึงต้องทำการเติมกิจกรรม ดังนี้ 1.การกิน คือ ให้เด็กเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ อาจส่งเสริมผ่านกิจกรรมที่จะชักจูงใจให้เขาเข้าใจในอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่ากับตัวเอง 2.การเล่น คือ เด็กจะมีความสุขก็ต่อเมื่อเขาได้เล่น และการได้เล่นคือการช่วยทำให้เขาเรียนรู้การแก้ปัญหา การมีเพื่อน รู้จักอารมณ์โกรธ จนไปถึงการรับผิด ตรงนี้จะเป็นการเสริมในส่วนอีคิวทางหนึ่ง
           
           พอถึงวัยเรียนในช่วง 6-11 ขวบ เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น จะเริ่มมีการเรียนรู้กติกา การเข้าสู่สังคมอีกระดับ ซึ่งตรงนี้หากต้นทุนในแต่ละช่วงที่กล่าวมาเป็นไปในทิศทางที่ดีก็จะมีการต่อยอดต่อไป ซึ่งหากเด็กรู้จักอารมณ์ตั้งแต่ช่วงแรก มาถึงช่วงนี้เขาก็จะควบคุมตนเองได้ หากรู้ผิดชอบในช่วงแรก ช่วงนี้เขาก็จะรู้จักการขอโทษ และรู้จักการให้อภัย เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นที่ต้องอยู่ร่วมกันในกลุ่มเพื่อนฝูง จะต่อยอดไปจนถึงการรู้จักรับผิดชอบ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเสริมระดับพัฒนาการที่มีต้นทุนมาจากวัยเด็กทั้งสิ้น
           
           “หากมองในภาวะปกติทุกครอบครัวทราบว่าต้องทำอย่างไรกับเด็กเพื่อเป็นการปูทางให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ แต่เนื่องจากสถานการณ์ในสังคม และปัญหาวัยรุ่นที่รุนแรงขึ้น ทำให้ต้องหันมาใส่ใจในเรื่องของเด็กมากกว่าปกติ พ่อแม่ก็จะแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อการป้องกัน ซึ่งก็ต้องแล้วแต่วัฏจักรของแต่ละครอบครัว แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็ก หากจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องคำนึงถึงความสุขที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ ถ้าเด็กเครียดกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ที่ผู้ใหญ่ใส่ให้ก็จะไม่ได้รับการตอบสนองเลย” วนิดา สรุปทิ้งท้าย

  • ที่มา:http://www.aksorn.com

    หมายเลขบันทึก: 209537เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท