การฝึกนิสัยรักการอ่านหนังสือ


การฝึกนิสัยรักการอ่านหนังสือ

ข้อมูลความรู้และความคิดจะได้จากการอ่าน  การฟัง  การสังเกต  และการมีส่วนร่วมในการถกเถียงปัญหา  เสวนา  และสัมมนา  แต่ในยุคปัจจุบันได้มีเครื่องไม้เครื่องมือทางอิเล็คโทรนิค  อินเตอร์เน็ต  และไซบอร์สเปซ  ได้ทดแทนสิ่งตีพิมพ์ซึ่งเป็นแหล่งความรู้หลัก  อย่างไรก็ตาม  การอ่านหนังสือยังเป็นแหล่งของข่าวสารข้อมูล  ความรู้และความคิดที่สำคัญ   ความรู้และปัญญาที่เกิดจากการอ่านหนังสือเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป 

ปัญหาก็คือ 
การรักการอ่านหนังสือยังไม่เป็นนิสัยประจำชาติของคนไทย  ข้อยกเว้นก็มีอยู่ในกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับชนชั้นสูงที่มีนิสัยรักการอ่าน  การค้นคว้า  แต่คนทั่วๆ ไปในสังคมไทยอ่านหนังสือน้อยมาก  และในสมัยโบราณนั้นคงคาดกันได้ว่าหนังสือที่จะอ่านซึ่งเป็นสิ่งตีพิมพ์ก็มีไม่มากนัก  ที่เห็นได้ชัดก็คือ  ในปัจจุบันในวงการโฆษณาขายหมู่บ้านจัดสรรนั้นมักจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้  คือ  ห้องนอนใหญ่ 1 ห้อง  ห้องนอนเล็ก 2 ห้อง  ห้องน้ำ 4 ห้อง  ห้องนั่งเล่น  ห้องครัว  ห้องคนงาน ฯลฯ  แต่ไม่มีห้องหนังสือ  ทำให้เกิดความรู้สึกว่าชนชั้นกลางไทยไม่เคยสนใจที่จะมีห้องหนังสือ  เพราะการอ่านหนังสือยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชนชั้นกลาง  ในแง่หนึ่งในสังคมจีนโบราณนั้นมีประเพณีของการสอบเพื่อเป็นข้าราชการในระดับอำเภอ  มณฑล  และระดับชาติ  จึงทำให้เกิดประเพณีปัญญาการที่ส่งเสริมการอ่านหนังสือศึกษาค้นคว้าเพื่อสอบแข่งขัน  ประเพณีปัญญาการในสังคมไทยก็มีอยู่ในหมู่ชนชั้นสูง  แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับศาสนาพุทธหรือมิฉะนั้นก็ปรัชญาการปกครองบริหารและตำราพิชัยสงคราม  คนทั่วๆ ไปไม่รู้หนังสือหรือไม่เห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือ 

ชนชั้นกลางที่เกิดจากเศรษฐกิจที่จำเริญนั้นมีรูปแบบการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง  จุดเน้นหลักของการใช้ชีวิตภายในบ้านอยู่ที่การตบแต่งภายใน  และสัญลักษณ์ของคนชั้นสูงจะสะท้อนออกถึงการตบแต่งบ้าน  เครื่องแก้วเจียรนัย  พระพุทธรูปราคาแพง  งาช้าง  ชุดรับแขกหรู  มากกว่าการเน้นการมีห้องหนังสือเพื่อเป็นส่วนสำคัญของบ้าน 

นัยที่สำคัญก็คือ 
คนธรรมดาสามัญที่ไม่อ่านหนังสือเนื่องจากไม่รักการอ่าน  จะมีโอกาสเข้าถึงข่าวสารข้อมูล  ความรู้และความคิดน้อยมาก  และยิ่งคำนึงถึงระบบการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมความคิดริเริ่มและการคิดวิเคราะห์ก็ยิ่งจะทำให้ไม่สบายใจยิ่งขึ้น  ที่สำคัญค่านิยมสังคมก็ไม่มีส่วนเสริมให้เกิดความสามารถในการคิดวิเคราะห์  เมื่อมองในสภาพนี้บุคคลทั่วๆ ไปที่ไม่ชอบการอ่านหนังสือจะไม่มีวันได้รับข่าวสารข้อมูลใหม่ๆ  ข่าวสารที่ได้รับแบบผ่านๆ จากการฟังวิทยุ หรือโทรทัศน์  ก็จะเลือนลางหายไปทันทีที่จบรายการประกาศข่าว 

สภาพดังกล่าวได้นำไปสู่ความเป็นห่วงเป็นใยของผู้ที่สามารถจะคาดการณ์อนาคตได้ว่าจะส่งผลในทางลบอย่างไรบ้าง  คนญี่ปุ่นจะมีนิสัยชอบการอ่านขณะที่คอยรถเมล์หรือรถใต้ดิน  หรือแม้อ่านหนังสือในรถโดยสารประจำทาง  คนไทยจะออกจากบ้านโดยไม่ถืออะไรในมือยกเว้นโทรศัพท์มือถือซึ่งจะใช้พูดคุยกัน  ดังนั้น  แหล่งของข่าวสารข้อมูลก็คือตำราที่โรงเรียนหรือจากสื่อมวลชน  บางคนอาจจะอ่านนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์รายวันที่ตนสนใจ  หรือที่สอดคล้องกับรสนิยม  แต่ก็ได้ข่าวสารข้อมูลจำกัดเฉพาะเรื่อง  ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่รักการอ่าน  และต้องเติบโตรับผิดชอบต่อการบริหารบ้านเมืองก็จะกลายเป็นคนที่มีความรู้อย่างครึ่งๆ กลางๆ  ความรู้อันจำกัดนั้นจะทำให้ไม่สามารถเผชิญกับการท้าทายของยุคใหม่ได้  อันเป็นยุคที่ต้องใช้ความรู้ในการปกครองบริหารและจัดการ  เมื่อคนไม่รักการอ่านหนังสือ  การสร้างสังคมแห่งภูมิรู้หรือภูมิปัญญาจะเกิดขึ้นไม่ได้ 

ทำอย่างไรจึงจะให้คนหนุ่มสาว  เยาวชน  รักการอ่านและมีความสนุกในการอ่านไม่ใช่เรื่องง่าย 
ความอยากรู้อยากเห็นหรือใฝ่รู้เป็นตัวแปรอันสำคัญ  แต่ความอยากรู้อยากเห็นและรักการอ่านนี้จะต้องผ่านการกล่อมเกลาจากบิดามารดา  ถ้าบิดามารดาอ่านหนังสือให้ลูกเห็นในห้องหนังสือ  ลูกก็จะมีนิสัยชอบการอ่านหนังสือตามพ่อแม่  แต่ถ้าบ้านทั้งบ้านมีหนังสือไม่กี่เล่ม  กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ  และเด็กไม่เคยสนทนากับพ่อแม่อย่างจริงจังในเรื่องที่นอกเหนือจากตัว  เช่น  ปัญหาสังคม  ปัญหาประเทศชาติ  ความสนใจก็จะจำกัดเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับตนโดยตรง  เมื่อเป็นเช่นนี้วิสัยทัศน์ก็จะไม่ไปไกลกว่าสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว  และความรู้สึกเรื่องความจำเป็นในการอ่านหนังสือหาความรู้ก็จะเป็นศูนย์  โครงการที่ส่งเสริมให้เกิดการรักการอ่านในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่  จะต้องมีการเริ่มต้นโดยองค์กรต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและสถาบันการศึกษา  กระบวนการดังกล่าวจะเป็นกระบวนการที่มีอุปสรรคและอาจดำเนินไปได้อย่างไม่ราบรื่นนัก  เพราะจะต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิด  เปลี่ยนนิสัยของคน  ที่สำคัญจะกินเวลาในกิจกรรมอย่างอื่นที่คนรุ่นใหม่อาจจะให้ความสนใจหรือให้น้ำหนักมากกว่า  แต่ก็เป็นกระบวนการที่ต้องเริ่มต้น ณ บัดนี้ก่อนที่สังคมไทยจะล้าหลังสังคมอื่นๆ  เนื่องจากความตื่นตัวและกระตือรือร้นในการที่จะก้าวตามทันโลก  เช่นกรณีของประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่กำลังขวนขวายศึกษาสมองกล  ภาษาอังกฤษ  ภาษาจีน  และวิทยาการต่างๆ  ด้วยการอ่านหนังสือ  ค้นคว้า  และวิจัยอย่างรีบเร่งในขณะนี้


ที่มา : http://www.aksorn.com

หมายเลขบันทึก: 209529เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท