GPA กับจริยธรรมของครู


GPA กับจริยธรรมของครู

ในที่สุดที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ได้ตัดสินใจนำระบบแอดมิสชั่นส์ มาใช้ในปีการศึกษา 2549 โดยการใช้คะแนนจาก GPA 20% ส่วนปีถัดไปจะใช้ GPA 30 และ 40% ตามลำดับ

มีกระแสเสียงคัดค้านการนำ GPA มาใช้ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งก่อนหน้าที่ ทปอ.จะมีมติให้ใช้ GPA ในปีการศึกษา 2549 ในสัดส่วน 20% และหลังจากที่ ทปอ.มีมติแล้ว ความคิดคัดค้านเรื้องนี้ก็ยังคงดำรงอยู่

หากพิจารณาที่มาของการคัดค้านการใช้ GPA ในสัดส่วนไม่ว่าจะเป็น 20-30-40% ก็ตาม คงไม่ใช่เพราะเห็นว่าหากใช้ค่า GPA แล้วจะแก้ปัญหาตามที่ สกอ.และ ทปอ.ต้องการไม่ได้ คือต้องการให้เด็กให้ความสำคัญกับการเรียนในโรงเรียน มากกว่าการกวดวิชา ลดความเครียดในการสอบ และความจำเป็นในการเรียนกวดวิชาจะได้ลดลง

แต่เหตุผลที่คัดค้านการใช้ GPA คือ ความไม่ไว้วางใจการให้เกรดของครูผู้สอน และความสงสัยในมาตรฐานของโรงเรียนแต่ละโรงเรียนในประเทศไทย

ดังจะเห็นจากป้ายประท้วงที่นักเรียนถือไปประท้วงระบบนี้ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่ ทปอ.จะมีมติดังกล่าว เช่น ป้ายบอกว่าให้ปรับปรุงคุณภาพครูก่อนใช้ระบบนี้ หรือเกรงว่าแต่ละโรงเรียนจะปล่อยเกรด ทำให้เกรดเฟ้อ

แม้แต่ผู้ปกครองหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่านก็ยังคัดค้านการให้น้ำหนักกับ GPA ที่ค่อนข้างมาก โดยเห็นว่าจะทำให้โรงเรียนปล่อยเกรด ทำให้เกรดเฟ้อเช่นกัน

ขณะที่ผู้เห็นด้วยกับระบบนี้ก็มีไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะภาพที่เห็นคือ ภาพตัวแทนนักเรียนจากต่างจังหวัดหลายจังหวัด ที่เข้ามาที่กระทรวงศึกษาธิการ แล้วถือป้ายการสนับสนุนการใช้ GPA 40% แม้ว่าเด็กนักเรียนที่เป็นตัวแทนเหล่านี้บางคน จะให้สัมภาษณ์ว่า ที่เข้ามากรุงเทพฯเพื่อมาฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับระบบแอดมิสชั่นส์ แต่พอเข้ามาจริงๆ กลับให้มาถือป้ายสนับสนุนระบบนี้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีทั้งที่เห็นด้วยกับการใช้ GPA และไม่เห็นด้วย

(เรื่องนี้ก็สะท้อนภาพสังคมไทยอย่างหนึ่งคือ การถือป้ายเชียร์ โดยไม่รู้ว่าเชียร์อะไร เพราะอะไร หากเด็กเห็นว่าต้องการสนับสนุนระบบนี้จริงๆ แล้วเข้ามาเพื่อสนับสนุนความคิดของตนเองก็ไม่เป็นไร แต่หากเด็กเข้ามาเพราะผู้ใหญ่ให้ข้อมูลไม่หมด หรือคนที่พามาต้องการเชียร์ใคร เพราะอะไร ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เลิกเสียทีวิธีการแบบนี้ของผู้ใหญ่ ปล่อยให้เด็กคิดเองบ้าง)

เป็นสัจธรรมบางอย่าง ว่าอย่างไรการใช้ GPA ในระบบแอดมิสชั่นส์ ยังไงก็ต้องมีทั้งคนที่คัดค้านและคนที่เห็นด้วย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะรู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์ และขึ้นอยู่กับความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความเสียสละ การรู้จักแบ่งปัน เพราะมาตรฐานของแต่ละโรงเรียน ทำอย่างไรก็ไม่เท่าเทียมกันอยู่ดี โรงเรียนดังๆ มีโอกาสเลือกเด็กเจ้าเข้าเรียนได้มากกว่า ครอบครัวพร้อมสนับสนุน สื่อเทคโนโลยี สภาพสังคมพร้อม

ขณะที่โรงเรียนในชนบทขาดปัจจัยเกื้อหนุน ขาดโอกาสที่จะเท่าเทียมกับโรงเรียนในเมืองหลวงอยู่แล้ว ต่อให้เรียกร้องให้มาตรฐานเท่ากันก่อน คงทำได้ยากที่เด็กต่างจังหวัดจะมีโอกาสแข่งขันกับเด็กในกรุงเทพฯ ได้อย่างเท่าเทียมจริง ดังนั้นสิ่งที่เป็นไปได้คือ การรู้จักเสียสละ และแบ่งปันต่อเพื่อนร่วมชาติบ้าง

นอกจากความเสียสละแล้ว สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือ การสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อครูให้ได้ เพราะนักเรียน ผู้ปกครองที่คัดค้านการใช้ GPA มองว่าครูค่อนข้างขาดคุณธรรม จริยธรรมในการให้เกรด  และมองรุนแรงไปถึงขั้น ครูไม่มีคุณภาพเพียงพอ

ภาพลักษณ์ของครูที่ถูกมองว่าไม่มีคุณภาพ ใครควรต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบบ้าง ลำดับแรกคือตัวครูเอง ต้องทำให้สังคมเลิกกังขาถึงความไม่มีคุณภาพของครูให้ได้ ครูต้องสอนอย่างเต็มความรู้ความสามารถ เต็มเวลา

หากต้องมาทบทวน และมองดูตัวเองให้ชัดๆ แบบไม่เข้าข้างกัน เพราะเป็นภาระและหน้าที่ของทุกคน ที่จะต้องทำให้ระบบการศึกษาดี มีมาตรฐาน ความมีมาตรฐานคงไม่ใช่แค่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมิน ไม่ว่าจะประเมินภายใน ประเมินภายนอก ถ้ายังมีวัฒนธรรมการประเมินแบบไทยๆ ประเมินครั้งใด ก็มีคุณภาพได้มาตรฐานไปเสียทุกที

คำถามที่ต้องตอบว่าครูไม่มีคุณภาพจริงหรือ? อาจมีแต่ไม่น่าจะมาก เพราะถ้ามาก หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการเรียนการสอน และพัฒนาคุณภาพของครู จะต้องทบทวนตัวเองหรือไม่ หรือต้องตั้งหน่วยงานอื่นอีก เพื่อมาดูแลหรือพัฒนาหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพครูอีกต่อหนึ่ง ซึ่งคงจะยุ่งน่าดู (ล่าสุด สพฐ.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ผ่านการประเมินคุณภาพ จนข้าราชการถ้วนหน้าจะได้รับเงินโบนัส คนละ 2 พันกว่าบาท)

ถ้าพิจารณาคำว่า คุณภาพของครู คงดูที่การจัดการเรียนการสอน หากสอนเต็มความรู้ความสามารถ พัฒนาการสอน ใฝ่หาความรู้ที่เป็นประโยชน์มาสอนเด็ก เป็นตัวอย่างของความมีคุณธรรม จริยธรรม แค่นี้ก็ถือว่ามีคุณภาพแล้ว ที่ไม่มีคุณภาพน่าจะเป็นเพราะมีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เด็ก คือไม่สอนเสียมากกว่า เรื่องนี้ใครควรรับผิดชอบ?

การทำให้ครูมีคุณธรรม จริยธรรม ก็คล้ายกับให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม ถ้าเพียงพร่ำสอนแต่ทฤษฎีว่าคุณธรรม จริยธรรม เป็นอย่างไร มีประโยชน์อะไร คงเหมือนสายลมที่ลอยผ่านหูไป คุณธรรม จริยธรรม ต้องปฏิบัติให้เห็นจริง ว่าเป็นสิ่งที่ดีสามารถเกื้อหนุนให้สังคมอยู่ได้ สังคมจะเจริญก้าวหน้า สังคมต้องอบอวลไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม หรือต้องทำให้คนดีอยู่ได้ ไม่ใช่ไม่มีที่จะซุกหัว

ครูจะมีคุณธรรม จริยธรรมได้ ต้องทำให้สิ่งแวดล้อมตัวครู เช่น บรรยากาศในการทำงาน การเห็นตัวอย่างที่ดี จนกระทั่งเกิดความเชื่อมั่นในระบบ และปฏิบัติตามระบบนี้ จนกระทั่งสามารถทำให้สังคมมองเห็นความมีคุณธรรม จริยธรรมของครู จนไม่อาจตั้งข้อสงสัยได้ ใครควรจะมีหน้าที่ผลักดันให้เกิดสภาพเช่นนี้?

ที่เห็นและเป็นอยู่ขณะนี้ อย่าว่าแต่เด็ก หรือผู้ปกครองที่คัดค้านการใช้ GPA จะถามคุณธรรมจากครูเลย ในส่วนของครูเอง หากดูจากหนังสือพิมพ์ ช่วงที่ผ่านมา ที่เริ่มมีประเด็นคัดค้านการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน แทนตำแหน่งที่ว่าง 764 อัตรา โดยไม่มีการสอบแข่งขัน ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการคัดเลือกแทนการสอบแข่งขัน เกรงว่าจะทำให้เกิดระบบเล่นพรรคเล่นพวก  แค่นี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า แม้แต่ในวงการเดียวกัน ยังไม่ค่อยเชื่อในระบบคุณธรรม จริยธรรมเลย แล้วใครควรมีส่วนเข้ามาแก้ไข?

นอกจากปัญหาคุณธรรม จริยธรรมแล้ว เหตุที่เกรดเฟ้อ จากการศึกษาของคณะกรรมการอุดมศึกษา ที่ศึกษาการให้เกรดของโรงเรียนกว่า 3,000 โรงเรียน โดยพิจารณาจากคะแนนวัดความรู้ของนักเรียน เดือนตุลาคม 2546 และ 2547 เปรียบเทียบกับเกรดของโรงเรียน พบว่ามีโรงเรียนประมาณ 10-13% มีปัญหาเกรดเฟ้อ (มติชนสุดสัปดาห์, 29 เม.ย.48 : 18)

ข้อสำคัญคือ เมื่อทราบว่ามีโรงเรียนใดบ้างที่เกรดเฟ้อ แล้วกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการอย่างไร หากดำเนินการ แต่ไม่ได้รายงานให้สังคมทราบ สังคมก็เลยยังคงคัดค้านเรื่องนี้ ด้วยประเด็นของเกรดเฟ้อต่อไป ทั้งๆ ที่โรงเรียนเกือบ 90% ไม่มีปัญหาเรื่องเกรดเฟ้อ

ข้อสันนิษฐานถึงที่มาของเกรดเฟ้อที่นักเรียนและผู้ปกครองส่วนหนึ่งเชื่อคือ ครูอาจปล่อยเกรดเพราะต้องการให้เด็กของตนเองเกรดสูงจะได้สอบได้ เรื่องนี้เป็นข้อสันนิษฐานที่อาจพิสูจน์ได้ยากว่า ครูคิดแบบนี้จริงๆ หรือไม่

แต่ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งก็คือ วิธีการ หลักเกณฑ์การประเมินสถานศึกษา รวมทั้งการประเมินผลงานของครู ที่ใช้เกณฑ์ว่า หากนักเรียนได้เกรดแต่ละกลุ่มสาระอยู่ในระดับ 3 คิดเป็นร้อยละ 75 ขึ้นไป แสดงว่าคุณภาพสถานศึกษาอยู่ในระดับดี หากเด็กได้เกรดต่ำกว่านี้ แสดงว่าสถานศึกษามีคุณภาพด้านการเรียนการสอนอยู่ในระดับต้องปรับปรุง

หากเป็นดังนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่โรงเรียนบางแห่งอาจกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำการให้เกรดโรงเรียนของตน ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 3 เพื่อให้โรงเรียนได้รับการประเมินว่ามีคุณภาพดี ซึ่งไม่สอดคล้องกับคุณภาพความรู้จริงๆ ของนักเรียน

ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมคุณภาพสถานศึกษา หรือคุณภาพการจัดการเรียนการสอน จึงขึ้นอยู่กับเกรดของนักเรียน ในเมื่อโรงเรียนเล็กๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง นักเรียนเรียนไม่เก่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเด็กที่ไม่มีคุณภาพ เพราะคุณภาพของคน น่าจะหมายถึงการเป็นคนดีมีคุณธรรมมากกว่า

สรุปแล้ววิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการติดตามการเรียนการสอน การพัฒนาคุณภาพของครู หรือแม้แต่ตัวครูเอง ถ้าไม่สามารถทำให้นักเรียนและผู้ปกครองเชื่อมั่นในความมีคุณธรรม จริยธรรมของครูได้ ตลอดจนความเป็นมืออาชีพในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีมาตรฐานของโรงเรียนแต่ละโรงเรียนแล้ว ระบบการคัดเลือกคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับเกรดเฉลี่ยในโรงเรียน ก็จะต้องถูกตั้งคำถามถึงความยุติธรรม และความเท่าเทียมกันอยู่ร่ำไป

หมายเลขบันทึก: 209525เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท