"หลุมดำ" ยิ่งกลัวยิ่งดัง การทดลองสะท้านโลก


"หลุมดำ" ยิ่งกลัวยิ่งดัง การทดลองสะท้านโลก

ตื่นเต้น ฮือฮา ลุ้นระทึกไปทั้งโลก หลังจากศูนย์วิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (เซิร์น) เริ่มต้นการทดลองจำลองการเกิดปรากฏการณ์ "บิ๊กแบง" หวังไขปริศนาต้นกำเนิด "จักรวาล" หรือ "เอกภพ" เมื่อ 13,700 ล้านปีก่อน ตั้งแต่วันพุธ 10 กันยายนที่ผ่านมา

ส่วน "หลุมดำ" ขนาดจิ๋ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนกลัวนักกลัวหนา ว่าจะเกิดขึ้นเพราะการทดลอง และดูดกลืนโลกหายไปทั้งใบ ก็ไม่มีวี่แววก่อตัว

แต่ถ้าว่ากันตามประเด็นข่าวแล้ว ทางฝ่ายเซิร์นควรกล่าวคำขอบคุณนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้สักหมื่นครั้ง เนื่องจากกระแสหวาดกลัว "หลุมดำ" ได้ช่วยทำให้ข่าวการทดลองรวมมูลค่ามหาศาลเกือบ 4 แสนล้านบาทของเซิร์นโด่งดังไปทั่วโลก

ปลุกให้ "มนุษยชาติ" สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ในจักรวาลอันไพศาล หันมาตั้งคำถามถึงต้นกำเนิดที่แท้จริงของเผ่าพันธุ์ตัวเองอีกครั้ง

เซิร์นใช้เวลาเตรียมความพร้อม สร้างอุปกรณ์ต่างๆ นานถึง 15 ปี

พร้อมกับระดมทีมนักวิทยาศาสตร์ ช่าง และนักศึกษาอีกนับหมื่นคนจาก 60 ประเทศ ช่วยกันสานฝันให้เป็นจริง

เครื่องมือสำคัญที่ถือเป็น "พระเอก" ในปฏิบัติการครั้งนี้ มีชื่อว่า "เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี" หรือ เครื่องเร่งอนุภาคความเร็วสูงเกือบเท่าแสงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่า 185,640 ล้านบาท ซึ่งทำงานร่วมกับอุโมงค์วงแหวน ความยาว 27 กิโลเมตร ที่ฝังอยู่ลึกลงไป 100 เมตร ใต้รอยต่อพรมแดนฝรั่งเศส-สวิตเซอร์แลนด์

ตามแผนเดิม เซิร์นต้องเดินเครื่องแอลเอชซีกลางปีก่อน

แต่จำเป็นต้องเลื่อนมาถึงปัจจุบัน เมื่อพบว่าชุด "แม่เหล็กตัวนำ" บางส่วนมีจุดบกพร่อง

ในที่สุด เมื่อเวลา 14.32 น. วันที่ 10 ก.ย. เซิร์นก็ได้ฤกษ์เดินเครื่องแอลเอชซีเป็นทางการ โดยถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์และสำนักข่าวระดับสากล เช่น บีบีซี-ซีเอ็นเอ็น

สำหรับการทดลองขั้นแรกๆ ได้แก่ การใช้เครื่องแอลเอชซียิง "ลำอนุภาคโปรตอน" ผ่านไปตามอุโมงค์เพื่อทดสอบความเรียบร้อย ทั้งยิงในทิศตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกา

เบื้องต้น ขั้นตอนนี้ดำเนินไปด้วยดี ไม่มีสิ่งผิดปกติ

ภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เซิร์นจะเริ่มยิงลำอนุภาคโปรตอนจากสองทิศทาง "เข้าชนกัน" เพื่อเก็บข้อมูล แต่ยังไม่ใช่การเดินเครื่องเร่งความเร็วอนุภาคเต็มกำลัง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นปีหน้า โดยจะยิงอนุภาคชนกันในภาวะสุญญากาศ ภายใต้อุณหภูมิ -271 องศาเซลเซียส ด้วยความเร็วใกล้เคียงความเร็วแสง หรือ 99.99 เปอร์เซ็นต์ของความเร็วแสง
 
เมื่ออนุภาคพุ่งชนกันแล้วผลลัพธ์ที่นักวิจัยมุ่งหวังว่าจะเกิดขึ้นก็คือ ภาพจำลองภาวะการเกิดปรากฏการณ์ "บิ๊กแบง" หรือ การระเบิดครั้งใหญ่ ซึ่งตามทฤษฎีนี้เชื่อว่าจุดตั้งต้นของจักรวาลมีขนาดเล็กมาก เล็กยิ่งกว่าอะตอม แต่เมื่อ 13,700 ล้านปีก่อนจุดที่ว่ากลับระเบิดอย่างรุนแรงและขยายตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ

กระทั่งวิวัฒนาการเป็นจักรวาลแสนกว้างใหญ่ และภายในจักรวาลก็มี "ดาราจักร" (กาแล็กซี่) หลายล้านล้านแห่งเกิดขึ้นตามมา

ก่อนหน้านี้ มีนักฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์บางส่วนเห็นว่า โครงการของเซิร์นสิ้นเปลืองเงินทุนเกินไป

ขณะที่อีกกลุ่ม นำโดย ศาสตราจารย์อ็อตโต รอสเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมนีพยายามขัดขวาง เพนสะเกรงว่าการจับอนุภาคมาชนกันอาจก่อให้เกิด "หลุมดำ" ได้เช่นกัน ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับ "วันสิ้นโลก" ทุกสรรพสิ่งโดนหลุมดำดูดกลืนหายไปหมด!

อย่างไรก็ตาม เสียงฝ่ายสนับสนุนโครงการมีมากกว่า และยืนยันว่า โอกาสเกิดหลุมดำจากการทดลองแทบเป็นศูนย์

เพราะข้อเท็จจริงแล้วทุกวันนี้อนุภาคโปรตอนก็ชนกันตามธรรมชาติในชั้นบรรยากาศโลกชั้นนอก แต่ไม่เห็นเกิดหลุมดำ

ถ้าว่ากันตามทฤษฎี ถึงเกิดขึ้นจริงๆ หลุมดำจะมีขนาดเล็กจิ๋วมาก และจะระเหิดหรือสลายตัวเพียงเสี้ยววินาที ไม่เป็นอันตรายต่อโลก

นอกจากนั้น เซิร์นได้คำนวณและประเมินความเสี่ยงมาหลายแง่มุมแล้ว เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติจึงหยุดการทดลองได้ทันที

แม้เซิร์นจะพยายามลดกระแสตื่นตระหนก แต่วันรุ่งขึ้นทันทีที่เกิด "แผ่นดินไหว" เขย่าอินโดนีเซียและญี่ปุ่นก็มีคนผูกโยงไปว่า เป็นผลกระทบจากการเดินเครื่องแอลเอชซี

เดือดร้อนนักวิทยาศาสตร์หลายสำนัก รวมถึงศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน นักทฤษฎีฟิสิกส์ชื่อดังของไทย ต้องออกโรงช่วยกันอธิบายว่าไม่เกี่ยวข้องกันแน่นอน!

ส่วนที่น่าสลดใจ ต้องจบชีวิตท่ามกลางความเศร้าโศกของญาติมิตร คือ กรณีน.ส.ชยา สาววัยรุ่นชาวอินเดีย วัย 16 ปี ในรัฐมัธยประเทศ เสพข่าว "เซิร์นก่อหลุมดำวันสิ้นโลก" ที่สื่ออินเดียโหมประโคมขายความเร้าใจนานหลายวันจนเครียดจัดถึงขั้นคิดสั้นกรอกยาฆ่าแมลงชิงฆ่าตัวตายไปเสียก่อน ทั้งที่ผลการทดลองใดๆ ยังไม่ออกมาเลย

"หลุมดำแห่งความไม่รู้" นั้นบางครั้งก็น่ากลัวกว่า "หลุมดำในอวกาศ" ไม่รู้กี่เท่า!

ที่มา : http://www.aksorn.com

หมายเลขบันทึก: 209515เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้าทำเร็วกว่าแสงเมื่อไร แสงก็จะวาปทั้งโลกและกืนกินทุกอย่างหายไปภายในพริบตา

แน่นอน

ฮือๆ

การทดลองที่ผ่านมาถือว่าล้มเหลวเพราะจริงๆต้อง เร็วกว่าแสงแล้วมาชนกัน ไหนๆก็เสี่ยงแล้วตายทั้งโลกเลยล่ะกัน กัวไร

หลุมดำคือแสงนั้นเองแต่เรามองไม่เห็นเพราะมันเร็วกว่าแสงไงร้อนมาก

อยากตายทั้งโลกก็เชิญ

ตามที่ค้านมาแน่นอน

ว่า จะเกิดหลุดดำซึ่งมันดับไม่ได้แน่ๆ

อย่าลืมว่าทุกอย่างบนโลกนี้คือดิน น้ำ ลม ไฟ

และหลุมดำคือไฟที่ดับไม่ได้ ร้อนมากจนมองไม่เห็นเพราะเร็วกว่าแสง ถ้าขยายตัวไปตอบได้เลย กินทั้งโลกแน่

ดีเหมือนกันมนุษย์มันน่าจะสูญพันธ์นานแล้ว

เฮ้อใช่สิเรามันไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์นิ

ผมไม่กลัวหรอกเพราะมันไม่เกิดหลุมแน่แค่เครื่อง กะหลัวๆ อ่อนไปเร็วกว่าแสงไม่ได้หรอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท