พุทธศาสนากับข้อมูลข่าวสาร


ผู้รู้ดีย่อมเจริญ

 

                ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปถึงหมู่บ้านแห่งชาวสกุลกาลามโคตร  ชื่อหมู่บ้านเกสปุตตะนิคม ชาวบ้านกาลามะได้เข้ามาทูลถามพระพุทธองค์ว่า ได้มีเจ้าลัทธิต่างๆ มาบอกว่า  คำสอนของตนๆ เป็นสิ่งที่ดี  คำสอนของคนอื่นใช้ไม่ได้ทั้งนั้น  อย่าไปเชื่อเลย  เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้ข้าพระองค์ทั้งเชื่อใครดี  พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ใช้ปัญญาพิจารณาคำสอนทุกอย่าง อย่าด่วนเชื่อหรือตัดสินใจอะไรลงไปโดยปราศจากเหตุผล  แม้แต่คำสอนของพระพุทธองค์เอง  ก็อย่าได้เชื่อง่าย  ทรงตรัสถึงสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ   ๑๐    ประการคือ 

                .   อย่าปลงใจเชื่อ  ด้วยการฟังตามกันมา  ( มา  อนุสฺสเวน)

                .  อย่าปลงใจเชื่อ  ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา  (มา  ปรมฺปราย)

                .  อย่าปลงใจเชื่อ  ด้วยการเล่าลือ  (  มา  อิติกิราย )

                .  อย่าปลงใจเชื่อ  ด้วยการอ้างตำราคัมภีร์  ( มา  ปิฏกสมฺปทาเนน )

                .  อย่าปลงใจเชื่อ  ด้วยเหตุผลทางตรรกะ   ( มา  ตกฺกเหตุ )

                .  อย่าปลงใจเชื่อ  ด้วยการอนุมานเอาเอง  ( มา  นยเหตุ )

                .  อย่าปลงใจเชื่อ  ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล  ( มา  อาการปริวิตกฺเกน )

                .  อย่าปลงใจเชื่อ  เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว  ( มา  ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา )

                .  อย่าปลงใจเชื่อ  เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้  ( มา  ภพฺพรูปตาย)

          ๑๐. อย่าปลงใจเชื่อ  เพราะนับถือว่า  ผู้นี้เป็นครูของเรา  (มา  สมโณ  โน ครูติ)

                ต่อเมื่อใด รู้และเข้าใจด้วยตนว่า  ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล  เป็นกุศล  มีโทษ  ไม่มีโทษ  เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือปฏิบัติตามนั้น.   (เกสปุตตสูตร  องฺ  ติก. ๒๐/๕๐๕/๒๑๒.)

 คุณและโทษของข่าวสาร

                พระสูตรนี้มีความสำคัญยิ่ง  ที่ควรนำมาใช้ในการตัดสินข้อมูลข่าวสารในยุคที่ถือว่าเป็นยุคทีข้อมูลข่าวสารครองโลกเช่นปัจจุบัน ในแต่ละวันเราได้รับข่าวสารข้อมูลมากมาย ทั้งจากสื่อสารมวลชน เช่นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เนต ฯลฯ และจากที่อื่น ๆ ซึ่งข่าวสารเหล่านั้นมีทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อผู้รับ ในส่วนที่เป็นคุณได้แก่ เราได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นที่ไหน สื่อมวลชนพยายามนำเอาข่าวนั้นมาเสนออย่างรวดเร็ว เราสนใจอยากจะรู้เรื่องอะไร อยากอ่านเรื่องอะไร ก็สามารถเลือกได้ตามใจชอบ

                ในส่วนที่เป็นโทษนั้น ได้แก่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองหรือตรวจสอบอย่างละเอียดถึงผลเสีย จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคข่าวสาร คือประชาชนทั่วไป  หรือหากผู้รับข่าวสารไม่ใช้วิจารณญาณ หรือขาดปัญญาในการรับข่าวสาร ก็จะตกเป็นทาสของข่าวสารข้อมูลข่าวสารได้

 ผลประโยชน์ที่มากับข่าวสาร

                ยุคโลกาภิวัตน์ หรือยุคที่โลกนี้ไร้พรมแดน เพราะข้อมูลข่าวสารแผ่กระจายไปอย่างไร้ขอบเขต สื่อมวลชนจึงมีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน ได้รับขนานนามว่าเป็น ฐานันดรที่ ๔  จึงขอแสดงความชื่นชมต่อสื่อมวลชนผู้ที่เสนอข่าวอย่างเป็นกลาง และมุ่งประโยชน์แก่ผู้บริโภคข่าวสารอย่างแท้จริง

ถึงแม้ว่าสื่อมวลชนจะทำหน้าที่ของตนเอง ด้วยการนำเอาเสนอข่าวแก่ประชาชน และเรียกตัวเองว่าเป็นหมาเฝ้าบ้าน ตามปกติของสุนัขเฝ้าบ้านเมื่อเห็นอะไรไม่ชอบมาพากลมาที่บ้าน ก็ต้องเห่าให้เจ้าของบ้านได้ทราบ เป็นผลดีที่ทำให้เจ้าของบ้านรู้ว่ามีคนมาหรือเกิดอะไรขึ้น  แต่ข้อเสียก็คือสุนัขบางตัว เห็นอะไรก็เห่าไปหมด แม้แต่ลมพัดใบไม้ก็เห่า จนบางครั้งทำให้เจ้าของบ้านต้องรำคาญ มิหนำซ้ำสุนัขบางตัวนอกจากเห่าแล้ว ยังกัดคนอีก ผลเสียก็เกิดขึ้นกับเจ้าของบ้านและคนที่ถูกสุนัขกัดเอง  แม้สื่อมวลชนจะพยายามทำหน้าที่ของตนโดยอิสระตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ  แต่สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ ผลประโยชน์หรือเหตุผลทางธุรกิจที่จะต้องแข่งขันกัน

การเสนอข่าวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้อ่านหรือผู้ชม ที่ภาษาการตลาดเรียกว่า ตอบสนองความต้องการของ ลูกค้าเป้าหมายสำคัญของการเสนอข่าวคือความต้องการของลูกค้า  เมื่อลูกค้าชอบอย่างนี้ ต้องการอย่างนี้  จึงต้องหาสินค้าคือข่าวสารตามที่ลูกค้าต้องการมาสนอง เพราะเมื่อมีเสนอ จึงมีสนอง นี่เป็นหลักการทั่วไปของธุรกิจการตลาด ข่าวสารต่างๆ จึงพรั่งพรูออกมา จนยากจะแยกออกว่าอันไหนเป็นคุณ อันไหนเป็นโทษ

 วิธีปฏิบัติตนต่อข่าวสาร

ในฐานะที่เราอยู่ในยุคสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร และเป็นผู้บริโภคข่าวสาร ควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่ตกเป็นทาสของข้อมูลข่าวสาร ก็ต้องย้อนมาดูกาลามะสูตรที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นเป็นเครื่องพิจารณา  พระพุทธองค์ทรงแนะนำว่า สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น ได้ประสบนั้น อย่าได้ด่วนเชื่อ เพราะถ้าหากด่วนเชื่อโดยไม่พิจารณา จะกลายเป็นทุกข์เป็นโทษต่อตนเอง  พระพุทธองค์ทรงชี้ว่า อย่าด่วนเชื่อสักว่าแค่ฟังสืบๆ กันมา สักว่าได้ถือปฏิบัติสืบๆ กันมา สักว่าการคาดคะเนเอา หรือนึกคิดเอาว่าน่าจะเป็นอย่างนี้ ตลอดจนถึงบอกว่าอย่าเชื่อเพราะว่าคนพูดเป็นครูของเรา (หรือเป็นคนน่าเชื่อถือ) แต่ก่อนจะเชื่อให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นคุณและโทษนั้นก่อน  พิจารณาด้วยปัญญาว่าเป็นจริงตามนั้นไหม  ปัจจุบันนี้คนไทยกำลังสูญเสียเอกราชทางวัฒนธรรม เพราะการหลั่งไหลของวัฒนธรรมตะวันตกที่มาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง มาพร้อมกับความเจริญทางด้านการสื่อสาร ค่านิยมแบบไทยเริ่มจะหายไป ค่านิยมแบบตะวันตกเริ่มจะเข้ามาแทนที่ ก็ด้วยการรับเอาแต่อย่างเดียว  ไม่ใส่ใจถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสังคมกับเยาวชนไทยบางคนมีชะตากรรมที่ถูกกำหนดด้วยข้อมูลข่าวสาร คือการเอาแบบอย่างจากทีวี จากวิทยุ จากหนังสือพิมพ์ หรือจากสื่อต่างๆ  เห็นโฆษณาสินค้าอันใด ก็แสวงหาสินค้าอันนั้นมา เห็นดาราแต่งกายอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร ก็พยายามทำตาม เอาเป็นแบบอย่าง ถ้าแบบอย่างนั้นดี ก็ดีไป  แต่ถ้าแบบอย่างนั้นไม่ดี  ก็ไม่ดีไป เห็นโฆษณารถรุ่นใหม่ ทีวีรุ่นใหม่ มือถือรุ่นใหม่ ก็เสาะแสวงหาอย่างไม่สิ้นสุด ไม่มีหยุดยั้ง ในที่สุดก็เป็นทุกข์เพราะการแสวงหา

การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อข้อมูลข่าวสาร คือการรับข่าวสารอย่างระมัดระวังด้วยสติ  และใช้ปัญญามองให้เห็นว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นกุศลหรืออกุศล,  มีคุณหรือมีโทษ, จำเป็นหรือไม่จำเป็น  เมื่อพิจารณาดีแล้ว หากเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นกุศล มีแต่โทษ และไม่ใช่สิ่งจำเป็น ก็เชื่อถือไม่ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วคนมักจะมองไม่เห็น เพราะการพิจารณาไม่ละเอียดแยบคาย ไม่มีโยนิโสมนสิการ หรือพิจารณาข่าวสารไปตามกิเลส คือความต้องการของตนเอง

 ต้องเชื่อด้วยปัญญา

ความเชื่อที่ปราศจากปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งความหลง เมื่อหลงแล้วก็จะมืดมน และกลายเป็นคนหูเบาเชื่อง่าย เขาพูดมาอย่างไร ก็เชื่อไปอย่างนั้น ข่าวสารปรากฏอย่างไร ก็เชื่อไปตามนั้น  สินค้าที่โฆษณาทางโทรทัศน์ได้รับความนิยมมาก  ถึงยอมซื้อเวลาทางโทรทัศน์ในราคาแพงๆ เพื่อประโยชน์อันคุ้มค่าจากการจำหน่ายสินค้านั้นๆ มีกลวิธีในการโฆษณาหลากหลายเพื่อดึงดูดใจลูกค้า มีการสรรหานายแบบ นางแบบ ดารานักร้อง คนดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ถ่ายโฆษณา เพื่อชวนให้เชื่อตาม  คนที่ขาดการพิจารณาก็จะเชื่อตาม เพราะเห็นคนดังคนเด่นเป็นแบบถ่ายโฆษณา  การโฆษณาประสบความสำเร็จเพราะเอาคนสวยคนหล่อมาเป็นแบบให้น่าเชื่อถือ อย่างนี้เชื่อเพราะเห็นว่าเป็นคนน่าเชื่อถือ  แต่พระพุทธเจ้ามิให้ด่วนเชื่อเพราะเห็นว่าคนนั้นน่าเชื่อถือ (อย่าปลงใจเชื่อ  เพราะนับถือว่าผู้นี้เป็นครูของเรา) 

ดังนั้น เราควรจัดการกับข้อมูลข่าวสารด้วยสติและปัญญา มิใช่จัดการด้วยกิเลส ด้วยความอยาก ด้วยความหลงใหล  สามารถเอาข้อมูลข่าวสารมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ เสริมสร้างปัญญาแก่เราได้ อย่าให้อำนาจของข้อมูลข่าวสารมาเป็นตัวบงการชีวิตเรา   จงรู้เท่าทันต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคม และปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง  เมื่อนั้นเราสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารนี้

 

หมายเลขบันทึก: 209432เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตอนนี้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มักจะทำให้คนในสังคมไขว้เขว เพราะฟังมาอย่างไม่คิดตรึกตรอง แล้วนำมาบอกต่อ ไม่คิดว่าการเงียบมักจะดีกว่า ได้กำไรกว่าการพูดโดยไม่ยั้งคิด ชีวิตเราจะมีความสุข

จริงครับการเงียบเป็นสิ่งที่ดีและอาจจะทำให้เราได้อะไรดีๆหากอยู่ในวงสนทนา

ขอบคุณที่แวะเวียนมาเยี่ยมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท