ชีวจริยศาสตร์...ผลพวงจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์


ชีวจริยศาสตร์...ผลพวงจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

"ชีวจริยศาสตร์" หรือ bioethics ในภาษาอังกฤษ  หากจะแปลตามศัพท์แล้ว คำว่า Bio คือ ชีว หรือชีวภาพ ส่วนคำว่า ethics หมายถึง จริยศาสตร์ เพราะฉะนั้น จึงอาจนิยามได้ว่า ชีวจริยศาสตร์ คือ การพิจารณาเรื่องของชีวิตในแง่มุมของจริยศาสตร์
 
เป็นสาขาวิชาใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อันเป็นผลพวงมาจากความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ
 
ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวได้แก่ ปัญหาในเชิงจริยธรรม รวมไปถึงการศึกษาผลกระทบของความก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
 
                 ด้วยเหตุนี้ ชีวจริยศาสตร์จึงมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ ซึ่งรวมเอาวิชาการต่างๆ ได้แก่ปรัชญา กฎหมาย สังคมวิทยา การบริหารจัดการ และอื่นๆ เข้าด้วยกัน เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาอันเกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้เนื่องจากว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตีความได้หลากหลายมิติ และมีความซับซ้อนมาก จนทำให้แง่มุมและแนวทางการศึกษาของสาขาวิชาเดียว ไม่สามารถดำเนินไปเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่แท้จริงขึ้นได้
 
เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน ขอยกตัวอย่าง เช่น ในกรณีของการโคลน (cloning) และการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell )  ซึ่งกำลังเป็นหัวข้อสำคัญในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบัน   ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็คือ การโคลนมนุษย์ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในทางศีลธรรมหรือจริยธรรมหรือไม่ การโคลนจะก่อให้เกิดมนุษย์ที่ผิดธรรมชาติหรือไม่  การโคลนเพื่อการสืบพันธุ์ (reproductive cloning) กับเพื่อการบำบัด (therapeutic cloning) ต่างกันหรือไม่  อย่างไร
 
                 ในแง่ของจริยธรรม  หลักการของการทำวิจัยในมนุษย์ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป จะใช้ได้หรือไม่กับการทำวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์  ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นมนุษย์ได้ต่อไป รัฐควรจะมีมาตรการทางกฎหมาย หรือระเบียบวิธีการอย่างไร ในการควบคุมการวิจัยทำนองนี้ หรือถ้ามี กฎเกณฑ์ดังกล่าวจะมีรายละเอียดอย่างไร ผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม รวมไปถึงความสามารถในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศจะเป็นอย่างไร มีหลักเกณฑ์อะไรที่จะใช้ตัดสินเพื่อเลือกทางเลือกต่างๆ 
 
จะเห็นได้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพทำให้สังคมต้องตระหนักถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนและด้วยความรอบคอบอย่างมาก
 
                 ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง เช่น นักวิทยาศาสตร์ไทยสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดนก นักวิทยาศาสตร์ไทยประสบความสำเร็จในการโคลนสัตว์ประเภทหมูและกระบือ  นักวิทยาศาสตร์ไทยประสบความสำเร็จในการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ในระดับหนึ่งเป็นต้น ตัวอย่างนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการวิจัยที่ล้าหลังประเทศอื่น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ การทำความเข้าใจเกี่ยวชีวจริยธรรม รวมถึงผลกระทบทางสังคมในด้านต่างๆ อันเนื่องมาจากการวิจัย ก็ไม่ควรที่จะล้าหลังเช่นเดียวกัน และการให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ก็ยิ่งมีความสำคัญ เนื่องจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะไม่สมบูรณ์ หากปราศจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทางจริยธรรมและผลกระทบในด้านต่างๆเหล่านี้ 
 
ที่มา:www.vcharkarn.com

หมายเลขบันทึก: 208392เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2008 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท