kruyu_ssk
นาง ยุพวรรณ ตรีรัตน์วิชชา

ระบบสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต


หัวข้อ IS หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ วิชา Management Information System รหัสวิชา 1104711

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT : Information Technology) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการทำงานของคนเราทำให้เกิดสังคมยุคสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีโทรคมนาคมในการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันและการเรียนรู้ ดังจะเห็นได้จากบริบทของสำนักงานอัตโนมัติ พานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาทางไกลผ่านระบบเครือข่าย การติดต่อสื่อสารทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตและเว็บ บริบทต่างๆเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมยุคสารสนเทศที่ทำให้เกิดการยอมรับกันว่า ความรู้ในปัจจุบันมีมากมายเกินกว่าที่จะทำการถ่ายทอดหรือจดจำเนื้อหาสาระนั้นได้หมด อีกทั้งวิทยาการและความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกวันอย่างไม่หยุดนิ่ง เนื้อหาที่จดจำไว้ในวันนี้อาจล้าสมัยและไม่ได้ใช้ในวันหน้า การเรียนรู้ทักษะใหม่ในสังคมยุคสารสนเทศจึงเกี่ยวข้องกับทักษะการสืบค้น ทักษะการติดต่อสื่อสาร และทักษะการจัดการกับข้อมูล ควบคู่ไปกับทักษะทางด้านภาษา เพื่อใช้ในการศึกษาและติดต่อสื่อสาร ทักษะการเรียนรู้ดังกล่าว เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องเน้นปลูกฝังให้กับเยาวชน เพื่อให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต (บุปผาชาติ ทัฬหิกรณ์, 2544 : 71-72)   สอดคล้องกับแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรให้สั้นและสามารถจบได้รวดเร็ว  มีการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในเรื่องการเรียนการสอน  กระจายการเรียนการสอนออกไปอย่างกว้างขวาง  มุ่งตรงไปสู่ผู้เรียนโดยเข้าถึงผู้เรียนได้ทุกหนทุกแห่งและทุกเวลา  ระบบการเรียนการสอนจึงปรับเปลี่ยนไปมาก  โดยแบ่งการเรียนการสอนเป็นแบบซิงโครนัส (Synchronous  Learning)  และ อะซิงโครนัส(Asynchronous  Learning)  การเรียนการสอนในยุคใหม่คงไม่อยู่ที่ตำราเล่มเดียวผู้เรียนทุกคนในชั้นเรียนคงไม่ใช้ตำราจากที่กำหนดโดยอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น   แต่สามารถแสวงหาแหล่งความรู้อื่นได้อีกมากมาย    มีห้องสมุดดิจิทัล มีขุมความรู้ที่เรียกว่าขุมความรู้โลก  บทบาทการสอนของอาจารย์จะเปลี่ยนจากการใช้ชอล์กและกระดานดำมาเป็นการชี้นำ (guide) เพราะยืนเคียงข้างผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้และเรียนรู้ตามการชี้แนะ  โดยต้องเป็นตัวของตัวเองในการแสวงหาความรู้ มีความคิดริเริ่มในการเรียนรู้สิ่งใหม่  ต้องเปลี่ยนสภาพการเรียนแบบ passive (นั่งเรียนเฉยๆ)มาเป็นแบบเรียนรู้ที่ active มีการใช้ปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ มีการใช้เทคโนโลยีประกอบการเรียนรู้ยังต้องสร้างบทบาทที่ให้เรียนรู้ด้วยตนเองแบบอะซิงโครนัสได้  และที่สำคัญการวัดการเรียนรู้คงไม่อยู่ที่ผลของคะแนนสอบเพียงอย่างเดียว  ต้องเปลี่ยนสภาพการเรียนการสอนแบบเดิมมาสู่กระบวนการสร้างองค์ความรู้ได้  สำหรับอาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้สอนมาเป็นผู้สร้างความรู้ (Knowledge  Constructor)  สามารถนำเอาองค์ความรู้จากที่ต่างๆมาประกอบรวมกันสร้างบทเรียนบนเว็บ  สร้างระบบการโต้ตอบแบบออนไลน์  เพื่อพ้นขีดจำกัดเรื่องเวลาและระยะทาง (ยืน  ภู่วรวรรณ, 2546 : 31)  ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 22 กำหนดแนวทางใน การจัดการศึกษาไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ฉะนั้น ครู ผู้สอน และผู้จัดการศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ ไปเป็นผู้ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งการเรียนรู้ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เรียน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้สร้างสรรค์ความรู้ของตน  การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากจะมุ่งปลูกฝังด้านปัญญา พัฒนาการคิดของผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณแล้วยังมุ่งพัฒนาความสามารถทางอารมณ์ เป็นการกำหนดเป้าหมายการเรียนร่วมกัน ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยนำกระบวนการเรียนรู้จากกลุ่มสาระเดียวกัน หรือต่างกลุ่มสาระการเรียนรู้มาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา.   2545  : 3-8)

การจัดการศึกษามุ่งเน้นความสำคัญทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ  คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อพัฒนาคนให้มีความสมดุล โดยยึดหลักผู้เรียนสำคัญที่สุด ทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ให้ความสำคัญต่อความรู้เกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติและสังคมโลก รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสังคมไทย และระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมการกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข (กรมวิชาการ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2545 : 3)  สอดคล้องกับธรรมชาติของกลุ่มสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรมที่มุ่งให้ผู้เรียนปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและมีคุณลักษณะต่างๆอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  ผู้เรียนต้องรู้จักพัฒนากระบวนการเรียนรู้  โดยรู้จักการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์  สามารถเผชิญสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในชีวิตประจำวันได้  โดยเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลายเรียนรู้จากข้อมูลข่าวสารทั้งภายในห้องเรียนและนอกห้องเรียนซึ่งเป็นความรู้ใหม่ๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจำเป็นที่จะต้องแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อสารสนเทศต่างๆให้เป็นประโยชน์  ผู้เรียนสามารถเรียนรู้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะตามระบอบประชาธิปไตยบนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์ (กรมวิชาการ, 2545 :  37)

                   การเรียนการสอนผ่านเครือข่าย (Web-based Instruction)   เป็นการผนวกคุณสมบัติไฮเปอร์มีเดียเข้ากับคุณสมบัติของเครือข่าย เวิลด์  ไวด์  เว็บ   เพื่อสร้างเสริมสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนในมิติที่ไม่มีขอบเขตจำกัดด้วยระยะทางและเวลาที่แตกต่างกัน   การใช้คุณสมบัติของไฮเปอร์มีเดียในการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายนั้น  จะช่วยในการสนับสนุนศักยภาพการเรียนด้วยตนเองตามลำพัง(One  Alone)   โดยผู้เรียนสามารถเลือกเนื้อหาบทเรียนที่นำเสนออยู่ในรูปแบบไฮเปอร์มีเดีย  ซึ่งเป็นเทคนิคการเชื่อมโยงเนื้อหาหลัก  ด้วยเนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง  รูปแบบการเชื่อมโยงนี้เป็นได้ทั้งการเชื่อมโยงข้อความไปสู่เนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้อง  หรือสื่อภาพ  และเสียง  การเชื่อมโยงดังกล่าวจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถควบคุมการเรียนด้วยตนเอง  โดยเลือกลำดับเนื้อหาบทเรียนตามความต้องการ  และเรียนตามกำหนดเวลาที่เหมาะสมและสะดวกของตนเอง ในส่วนคุณสมบัติของเครือข่ายเวิลด์ ไวด์ เว็บ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนหรือผู้เรียนอื่น  เพื่อการเรียนรู้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในเวลาเดียวกัน หรือ ณ สถานที่เดียวกัน (Human to Human  Interaction) (ไชยยศ   เรืองสุวรรณ.   2546  :  131)  ทั้งนี้การจัดสร้างระบบอีเลิร์นนิง (E – Learning)  เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาเรียน ในรายวิชาที่ครูกำหนดให้ได้โดยไม่ต้องเข้าเรียนในชั้น เพราะอีเลิร์นนิงนั้นจำลองชั้นเรียนให้นักเรียนนักศึกษามีโอกาสศึกษาที่บ้านหรือที่ไหนเวลาใดก็ได้ ปัจจุบัน สถานศึกษาหลายแห่งเริ่มสนใจจัดระบบอีเลิร์นนิงขึ้นแล้ว แต่การใช้งานยังไม่แพร่หลายและอาจจะต้องรอจนกว่าทั้งอาจารย์เจ้าของวิชาจะมีประสบการณ์มากขึ้นก่อน ระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันได้กลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อสถานศึกษาและผู้ปกครอง อาจารย์ พนักงานและผู้บริหารทุกคน(ครรชิต  มาลัยวงศ์  :  2546.  1-8)

                   จากที่กล่าวมาทั้งหมด การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารการเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ตจึงเหมาะสมกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน  การจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บ(Web Based Instruction -WBI) ที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ทั้งเต็มรูปแบบ หรือใช้เป็นสื่อเสริมที่ช่วยในการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งเป็นการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้และผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งระหว่างครูกับนักเรียนและระหว่างผู้เรียนเอง

หมายเลขบันทึก: 208284เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2008 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท