49. โรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่สูงอายุ


โรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่สูงอายุ

 

โรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่สูงอายุ

คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม โรคกระดูกบาง พรุน และหกล้มทำให้กระดูกหัก โรคมะเร็ง นอกจากนั้นผู้สูงอายุยังมีปัญหาต่างๆเหล่านี้ :-
                - อัตราการเผาผลาญของร่างกายลดน้อยลงทำให้ปริมาณและสัดส่วนไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นถ้ายังรับประทานอาหารมากเท่าเดิม
                - สายตา หู ฟัน เสื่อมลง
                - ความทนต่อน้ำตาลกลูโคสลดลง ทำให้เป็นเบาหวานง่ายขึ้นเมื่อสูงอายุ
                - เสี่ยงต่อกระดูกบาง   พรุน(osteoporosis)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุภาพสตรีที่หมดประจำเดือน
                - กระดูกงอกบริเวณหัวกระดูกของข้อ กระดูกข้อต่อเสื่อม
                - ท้องผูก
                - การทำงานของไตลดลง
                - รับประทานอาหารน้อยลง
                - มวลกล้ามเนื้อและกำลังกล้ามเนื้อลดลง
                - สมองฝ่อ หลงลืม
                - ฯลฯ

 

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน (coronary artery disease, CAD)

หลอดเลือดหัวใจค่อยๆตีบมาตั้งแต่อายุยังน้อยอยู่ เช่น 20 ปี แต่เนื่องจากยังตีบไม่มากจึงยังไม่มีอาการ เพราะมักมีอาการเมื่อหลอดเลือดตีบมาก เช่น หลอดเลือดอาจต้องตีบถึง 50-80% ก่อนที่จะมีอาการ ฉะนั้นอย่ารอจนมีอาการ ควรเริ่มต้นปฏิบัติตนเอง หาช่องทางที่จะทำให้หลอดเลือดไม่ตีบเพิ่มขึ้น ทำให้หายตีบ หรือทำให้หัวใจสร้างหลอดเลือดใหม่(สร้างทาง"เบี่ยง")
ปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน คือ

1. กรรมพันธุ์

2. เพศชาย
3. อายุ
4. บุหรี่
5. ไขมันในเลือดสูง 6. ความดันโลหิตสูง
7. ความอ้วน

8. เบาหวาน
9. ไม่ออกกำลังกาย
10. อุปนิสัย

เกี่ยวกับกรรมพันธ์เราช่วยไม่ได้ ถ้าบิดามารดาเราเป็นโรคนี้ เรามักจะมีสิทธิ์เป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่บิดามารดาไม่เป็นโรคนี้ แต่ถ้าเรารู้ข้อมูลเรายังสามารถหาทางป้องกันได้ไม่มากก็น้อย เพศชายจะเป็นโรคนี้มากกว่าเพศหญิง แต่เฉพาะในช่วงที่เพศหญิงยังมีประจำเดือนเท่านั้น โรคนี้จะพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ 3 ปัจจัยแรกจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แต่จากข้อ 4 จนถึงข้อ 10 เราสามารถป้องกันได้ทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย ด้วยการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายที่ถูกต้อง อย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ และปรับเปลี่ยนนิสัยตนเองให้เหมาะสม

ไขมันในเลือดประกอบด้วย
1) โคเลสเตอรอล (cholesterol) ในเลือดแบ่งออกเป็น
- Low density lipoprotein cholesterol (LDL) เป็นไขมันที่ไม่ดีถ้ามีมากเกินไป
- Very low density lipoprotein cholesterol (VLDL) เป็นไขมันที่ไม่ดีถ้ามีมากเกินไป
- High density lipoprotein cholesterol (HDL) เป็นไขมันที่ดี ยิ่งมีมากยิ่งดี
2) ไทรกลิเซอไรท์ (triglyceride) ถ้าสูงจะไม่ดีเช่นเดียวกันกับ LDL และ VLDL ถ้า tryglyceride สูงและ cholesterol สูงด้วยจะยิ่งไม่ดี โดยปกติการตรวจเลือดจะหา total cholesterol(TC), triglyceride และ HDL เท่านั้น เพราะจากสามสิ่งนี้จะทำให้สามารถหา LDL, VLDL ได้ (low density lipoprotein cholesterol คือ TC ลบ HDL ลบ [triglyceride หารด้วย 5], ส่วน very low density lipoprotein คือ triglyceride หารด้วย 5) นอกจากการดูระดับต่างๆ ของไขมันแล้วยังควรดูอัตราส่วนของ total cholesterol ต่อ HDL ด้วย ซึ่งในเพศชายอัตราส่วนนี้ควรต่ำกว่า 5 ในเพศหญิงควรต่ำกว่า 4.5 เนื่องจากเพศหญิงจะมี HDL สูงกว่าเพศชาย (ในระหว่างที่ยังมีประจำเดือน)
High Density Lipoprotein Cholesterol (HDL) เป็นไขมันที่เรียกได้ว่าดี ถ้ายิ่งสูงจะยิ่งป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน HDL จะสูงได้จากการรับประทานปลาทะเล(ดีกว่าปลาน้ำจืด) ผัก การออกกำลังกายแบบแอโรบิก และการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ ตามข้อมูลของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน การดื่มเพื่อสุขภาพไม่ควรดื่มมากกว่า 3 หน่วยต่อวันสำหรับผู้ชาย ไม่เกิน 2 หน่วยต่อวันสำหรับผู้หญิง หรือสัปดาห์ละไม่เกิน 21 หน่วย และ 14 หน่วยตามลำดับ (1 หน่วยแอลกอฮอล์คือ 10 กรัมของแอลกอฮอล์ หรือ 28 ซีซี.(1 ounce)ของวิสกี้หรือแบรนดี หรือ 85 ซีซี. ไวน์ หรือ 230 ซีซี. เบียร์

ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดมีความสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
อายุ อัตราการเสี่ยงปานกลาง อัตราการเสี่ยงสูง
                20-29 ปี มากกว่า 200 มิลลิกรัม%(5.2 mmol/l) มากกว่า 220 มิลลิกรัม%
                30-39 ปี มากกว่า 220 มิลลิกรัม% มากกว่า 240 มิลลิกรัม%

                > 40 ปี มากกว่า 240 มิลลิกรัม%(6.2 mmol/l มากกว่า 260 มิลลิกรัม%

                *  ขอย้ำว่าค่าปกติของโคเลสเตอรอลในเลือดไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม% แต่ถ้าสูงกว่า 200 เล็กน้อยในผู้สูงอายุอาจไม่มีความสำคัญ
                *  ส่วน โคเลสเตอรอล ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม%
                *  LDL โคเลสเตอรอล ไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม%   (ไม่เกิน100 ในผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจแล้ว หรือเป็นเบาหวาน)

 

ที่มา  :  รศ.นพ.พินิจ กุลละวณิชย์   เลขาธิการ แพทยสภา

หมายเลขบันทึก: 207953เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2008 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท