การวิเคราะห์งาน


การวิเคราะห์งาน

การวิเคราะห์งาน (Task Analysis)

       การวิเคราะห์งาน เป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษวิธีหนึ่ง ซึ่งครูวางแผนการสอนอย่างดีมีเป้าหมาย และแบ่งกิจกรรมหรืองานใดงานหนึ่งเป็นขั้นตอนย่อยๆ จากขั้นตอนแรกไปจนขั้นตอนสุดท้าย และสอนไปตามลำดับขั้นตอนทีละขั้นจนเด็กทำได้สำเร็จ ดังนั้นการวิเคราะห์งานจึงจัดเป็นเทคนิคการสอนอย่างหนึ่งที่ครูจะต้องนำมาใช้เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การวิเคราะห์งาน หมายถึง กระบวนการที่ใช้แยกงานออกเป็นขั้นตอนย่อยอย่างต่อเนื่องกัน โดยมีการจัดลำดับขั้นตอนย่อยๆ ของงาน และอธิบายขั้นตอนที่สำคัญของงานทั้งหมด
       งาน ในที่นี้ คือ พฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง หรือกลุ่มพฤติกรรมที่แต่ละบุคคลต้องปฏิบัติเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีทักษะหรือความรู้นั้น ๆ แบ่งได้เป็น 2 งาน ดังนี้
       1. งานเป้าหมาย (Target task)
       2. งานย่อย (Subtask)

      ประโยชน์ของการวิเคราะห์งาน
       1. ทำให้ครูตัดสินใจว่า จะสอนอะไรต่อจากเนื้อหาที่สอนไปแล้ว
       2. ทำให้ครูรู้ว่าเด็กมีปัญหาตรงไหน เด็กทำขั้นตอนใดไม่สำเร็จ
       3. ทำให้ครูแยกขั้นตอนย่อยที่จำเป็น เพื่อช่วยให้เด็กทำงานแต่ละชิ้นได้สำเร็จ
       4. ทำให้ครูรู้ว่าจะต้องเปลี่ยนและปรับปรุงอะไรบ้าง ที่จะช่วยให้เด็กทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ
       5. ทำให้ครูหาวิธีอื่นใด เพื่อให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทำงานได้สำเร็จ เช่น ถ้าเด็กใส่กระดุมเสื้อไม่ได้จะมีวิธีใดที่จะสอนให้เด็กใส่กระดุมเสื้อได้

วิธีวิเคราะห์งาน
       1. ครูจะเป็นผู้แบ่งงานแต่ละงานเป็นขั้นตอนย่อย ๆ ได้มากเท่าที่ครูคิดว่าจำเป็น
       2. ครูจะระบุทักษะย่อยที่เป็นขั้นตอนสำคัญไว้ว่าคืออะไร
       3. สอนให้เด็กทำงานที่กำหนดให้ได้สำเร็จ
       4. แก้ไขคัดแปลง เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับเด็กบางคนที่ต้องเรียนรู้ทักษะย่อยแต่ละขั้นของงาน แต่บางคนฝึกงานบางชิ้นไม่ได้ กรณีนี้ต้องตั้งจุดประสงค์ใหม่แทนวัตถุประสงค์เดิมที่วางไว้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น

ผลการวิเคราะห์งาน
       1.เมื่อครูแยกขั้นตอนของงานชิ้นหนึ่งได้ โดยการแสดงผลของการวิเคราะห์งานนั้นได้ แสดงว่าครูสามารถใช้กระบวนการวิเคราะห์งานและวิเคราะห์งานชิ้นนั้นได้
       2. เมื่อครูทำการวิเคราะห์งานได้สำเร็จ ครูย่อมได้ข้อมูลพื้นฐานความก้าวหน้าของเด็กที่เรียนในโครงการ
       3. เมื่อครูวิเคราะห์งานใดได้แล้ว ครูย่อมตั้งเกณฑ์ในการเขียนวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนในเนื้อหาอื่นต่อไปได้อย่างเหมาะสม
       4. เมื่อครูวิเคราะห์งานแล้ว ครูสามารถเปรียบเทียบความสำเร็จของเด็กได้เป็นช่วงระยะเวลา
       5. เมื่อครูวิเคราะห์งานใด ย่อมจะทราบว่าเนื้อหานั้นใช้เวลาสอนเท่าไร จะต้องเน้นอะไร อย่างไร การเข้าร่วมแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการวิเคราะห์งานอย่างไร ลักษณะของปฎิสัมพันธ์ใดที่ช่วยให้เรียนรู้งานได้ดีและเร็ว
ลักษณะของการตัดสินใจของครู หลังการวิเคราะห์งานครูอาจตัดสินใจทำสิ่งต่อไปนี้ หนึ่งข้อ หรือมากกว่า
       1. ตัดสินใจว่าจะมอบให้เด็กทำงานอะไรหรือชิ้นไหนต่อไป
       2. แบ่งงานออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ ตามความเหมาะสม
       3. หาเทคนิควิธีแปลกใหม่กว่าธรรมดา เพื่อช่วยให้เด็กทำงานชิ้นนั้นได้สำเร็จ

       ขั้นตอนการวิเคราะห์งาน
       1. กำหนดงานเป้าหมาย และจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
       2. วิเคราะห์ ออกเป็นขั้นตอนย่อย หรืองานย่อย
       3. จัดลำดับของงานย่อย
       4. วิเคราะห์โดยกำหนด ทักษะบังคับเบื้องต้น
       5. จัดลำดับ ทักษะบังคับเบื้องต้น
       6. จัดทำแผนภูมิ (Flow Chart หรือ Sequence Chart)
       7. ทำสอบ
       8. จัดประเภทพฤติกรรมเป้าหมาย
       9. สอนโดยอธิบายไปตามขั้นตอน แต่บางครั้งต้องสอนโดยบูรณาการขั้นตอนย่อยเข้าด้วยกัน

 

 แหล่งอ้างอิง     http://  www.nrru.ac.th

หมายเลขบันทึก: 207812เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2008 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท