ปาราชิกกัณฑ์ [ ปาราชิกสิกขาบทที่ 4 ]


ขาดจากความเป็นภิกษุเพราะอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

ปาราชิกสิกขาบทที่ 4

 

โย ปะนะ ภิกขุ อะนะภิชานัง อุตตะริมะนุสสะธัมมัง…

“อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้นอันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่านข้าพเจ้าไม่รู้่อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อย ๆ เป็นเท็จเปล่า ๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.”

 

วิภังค์ (จำแนกความ)

บทว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า

บทว่า เป็นปาราชิก ความว่า ต้นตาลมียอดด้วนแล้ว ไม่อาจจะงอกอีกแม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ มีความอยากอันลามก อันความอยากครอบงำแล้วพูดอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็น ปาราชิก

อนาบัติ

1.ภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ 2.ภิกษุไม่ประสงค์จะกล่าวอวด 3.ภิกษุวิกลจริต 4.ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน 5.ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา 6.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติ.

เรื่องต้นบัญญัติ

พระพุทธเจ้าประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี สมัยนั้นมีภิกษุหลายรูปที่ชอบพอเป็นมิตรสหายกัน จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา สมัยนั้น เกิดทุพภิกขภัยในแคว้นวัชชี (ราชธานีชื่อเวสาลี) ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยเรื่องอาหารบิณฑบาต จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี.

บางรูปเห็นว่า ควรช่วยแนะนำกิจการงานของคฤหัสถ์ บางรูปเห็นว่าควรทำหน้าที่ทูต (คือ นำความข้างนี้ไปบอกข้างนั้น นำความข้างนั้นมาบอกข้างนี้ คล้ายบุรุษไปรษณีย์) บางรูปเห็นว่า ควรใช้วิธีสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟังว่า ภิกษุรูปนั้น รูปนี้ มีคุณวิเศษอย่างนั้น อย่างนี้ เช่น ได้ฌานที่ 1 ฌานที่ 2 เป็นต้น จนถึงว่าได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ มีวิชชา 3 มีอภิญญา 6

เมื่อเห็นว่าวิธีหลังนี้ดี จึงเที่ยวสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟังจึงได้รับการเลี้ยงดูจากคฤหัสถ์ ชาวริมน้ำวัดคุมุทาเป็นอย่างดี มีผิวพรรณ ผ่องใส เอิบอิ่ม เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงเก็บเสนาสนะเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ กรุงเวสาลี.

ปรากฎว่าภิกษุที่มาแต่ทิศทางอื่นล้วนซูบผอม ผิวพรรณทราม มีเส้นเอ็นขึ้นเห็นได้ชัด ส่วนภิกษุที่มาจากฝั่งน้ำวัดคุมุทากลับอิ่มเอิบ อ้วนพี พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามทุกข์สุข และทรงทราบเรื่องนั้น จึงตรัสติเตียนและเรียกประชุมภิกษุทั้งหลาย ตรัสเรื่องมหาโจร 5 ประเภท เปรียบเทียบกับภิกษุว่า

มหาโจร 5 จำพวก

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจร 5 จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก มหาโจร 5 จำพวกเป็นไฉน?

1. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรบางคนในโลกนี้ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอเราจักเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเองให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเองให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเองให้ผู้อื่นเผาผลาญสมัยต่อมา เขาเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่ง แวดล้อมแล้วเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเองให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเองให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเองให้ผู้อื่นเผาผลาญฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือ พันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร สมัยต่อมาเธอเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานีอันคฤหัสถ์ และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 1 มีปรากฏอยู่ในโลก

2. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว อวดอ้างว่าเป็นของตน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 2 มีปรากฏอยู่ในโลก

3. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารี ผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 3 มีปรากฏอยู่ในโลก

4. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อาราม วิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว เครื่องไม้ เครื่องดิน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 4 มีปรากฏอยู่ในโลก

5. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย.”

ครั้งแล้วทรงติเตียนภิกษุชาวริมฝั่งแม่น้ำวัดคุมุทา ด้วยประการต่าง ๆ พร้อมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน เมื่ออวดไปแล้ว แม้จะออกตัวสารภาพผิดทีหลัง ก็ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ.

อนุบัญญัติ

สมัยนั้น ภิกษุหลายรูป สำคัญผิดว่าตนได้บรรลุคุณพิเศษ จึงประกาศตนว่า เป็นพระอรหันต์ (พยากรณ์อรหัตตผล) สมัยต่อมาจิตของเธอน้อมไปเพื่อราคะ โทสะ โมหะ ก็เกิดความรังเกียจ สงสัยว่า การประกาศตนว่าได้บรรลุคุณวิเศษ ด้วยความสำคัญผิด จะทำให้ต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติม ยกเว้นให้สำหรับภิกษุผู้สำคัญว่าได้บรรลุ

องค์แห่งอาบัติ 1.อุตตริมนุสสธรรมไม่มีในตน 2.อวดด้วยมุ่งลาภ สรรเสริญ 3.ไม่้อ้างผู้อื่น 4.บอกแก่ผู้ใดผู้นั้นเป็นชาติมนุษย์ 5.เขารู้ด้วยความในขณะนั้น พร้อม ด้วยองค์ 5 ดังนี้ จึงเป็นปาราชิก (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 130).

http://ariyavinaya.wordpress.com

หมายเลขบันทึก: 207606เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2008 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท