ปาราชิกกัณฑ์ [ ปาราชิกสิกขาบทที่ 3 ]


ขาดจากความเป็นภิกษุเพราะฆ่ามนุษย์ให้ตาย

ปาราชิกสิกขาบทที่ 3

 

โย ปะนะ ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสสะวิคคะหัง ชีวิตา…

“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตราย ด้วยคำว่า แน่ะนายผู้เป็นชายจะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบาก ยากแค้นนี้ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่าง อย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดีโดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.”

 

วิภังค์ (จำแนกความ)

บทว่า พรรณนาคุณในความตายก็ดี ได้แก่แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณในความตายว่า ท่านตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ จักได้รับบำเรอเพียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลกสวรรค์นั้น.

คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้วเป็นของกลับต่อให้ติดสนิทอีกไมไ่ด้แม้อันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก.

อนาบัติ

1.ภิกษุไม่จงใจ 2.ภิกษุไม่รู้ 3.ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย 4.ภิกษุวิกลจริต 5.ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน 6.ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา 7.ภิกษุอาทิกัมมิกะ เหล่านี้ไม่ต้องอาบัติแล.

เรื่องต้นบัญญัติ

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เรือนยอด ป่ามหาวันใกล้กรุงเวสาลี พระองค์ได้ทรงแสดงอสุภกถา คือ ถ้อยคำปรารภสิ่งที่ไม่สวยงาม สรรเสริญคุณแห่งอสุภะและคุณแห่งการเจริญอสุภะ คือ การพิจารณาเห็นร่างกายโดยความเป็นของไม่งาม กับทั้งคุณแห่งอสุภสมาบัติ (การเข้าฌาน มีอสุภะเป็นอารมณ์) โดยปริยายเป็นอันมาก ครั้งแล้วตรัสว่า ทรงพระประสงค์จะหลีกเร้นอยู่ตามลำพังพระองค์ตลอดกึ่งเดือน ใครๆไม่พึงเข้าไปเฝ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำอาหารเข้าไปเพียงรูปเดียว.

ภิกษุทั้งหลาย ปฏิบัติอสุภภาวนา (คือ พิจารณาร่างกายโดยความเป็นของไม่งาม) ก็เกิดความอิดหนาระอาใจ รังเกียจด้วยกายของตน เหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการประดับตกแต่ง อาบน้ำ ดำเกล้าแล้ว รังเกียจซากศพงู ซากศพสุนัข ซากศพมนุษย์ อันคล้องอยู่ที่คอ ฉะนั้น เมื่อเกิดความอิดหนาระอาใจ รังเกียจด้วยกายของตนอย่างนี้ ก็ฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่ากันและกันบ้าง เข้าไปหานายมิคลัณฑิกะผู้แต่งตัวเหมือนสมณะ จ้างด้วยบาตรจีวรให้ฆ่าบ้าง โดยนัยนี้ นายมิคลัณฑิกะ ก็รับจ้างฆ่าภิกษุทั้งหลายวันละรูปหนึ่งบ้าง สองรูป, สามรูป, สี่รูป, ห้ารูป จนถึงหกสิบรูปบ้าง.

เมื่อครบกึ่งเดือนแล้ว เสด็จกลับจากที่เร้น ทรงทราบเรื่องนั้น จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงสั่งสอนอานาปานสติสมาธิ (คือการทำใจให้ตั้งมั่นโดยกำหนดลมหายใจเข้าออก) โดยปริยายต่าง ๆ แล้วทรงปรารภเรื่องภิกษุฆ่าตัวตาย ฆ่ากันและกัน รวมทั้งจ้างผู้อื่นให้ฆ่าตน ทรงติเตียนว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุเหล่านั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกษุเหล่านั้นจึงได้ ปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตตก์ พูดอย่างนี้ว่า พ่อคุณ ขอท่านได้ช่วยปลงชีวิตพวกฉันที บาตรจีวรนี้จักเป็นของท่าน ดังนี้เล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายการกระทำของภิกษุเหล่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว…”

แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุฆ่ามนุษย์หรือใช้ให้คนอื่นฆ่าทรงปรับอาบัติปา่ราชิกแก่ผู้ล่วงละเมิด.

อนุบัญญัติ

สมัยนั้นอุบาสกคนหนึ่งไม่สบาย ภิกษุฉัพพัคคีย์ (มีพวก 6) เกิดพอใจในภริยาของอุบาสกนั้น จึงพูดพรรณนาคุณแห่งความตาย อุบาสกนั้นเชื่อ ก็รับประทานแต่ของแสลง เป็นเหตุให้โรคกำเริบและตายด้วยโรคนั้น ภริยาของอุบาสกจึงติเตียน ยกโทษภิกษุฉัพพคีย์เหล่านั้น ความทราบถึงพระผู้มีพระภาคทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวนได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงติเตียนว่่า

“ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงได้พรรณนาคุณแห่งความตายแก่อุบาสกเล่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว…”

แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติม ห้ามการพรรณาคุณของความตาย หรือชักชวน เพื่อให้ตาย ว่าผู้ใดละเมิดต้องอาบัติปาราชิกด้วย.

องค์แห่งอาบัติ 1.สัตว์เป็นชาติมนุษย์ 2.รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีิวิต 3.จิตประสงค์จะฆ่า 4.พยายามด้วยประโยคทั้ง6 อันใดอันหนึ่ง 5.สัตว์นั้นตายด้วยพยายามนั้น พร้อมด้วยองค์5 ดังนี้ จึงเป็นปาราชิก (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 128 )

http://ariyavinaya.wordpress.com

หมายเลขบันทึก: 207600เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2008 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท